ภารกิจกู้คืนผืนป่า 1 พันไร่ ‘บ้านดงผาปูน’ –‘บ้านนาบง’ จ.น่าน สร้างทรัพยากรยั่งยืน
เปิดภารกิจ 3 ปี กู้คืนผืนป่า 1 พันไร่ ‘บ้านดงผาปูน’ –‘บ้านนาบง’ จ.น่าน สร้างทรัพยากร ปั้นรายได้ สู่ความยั่งยืน หลังอดีตป่าเสื่อมโทรมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว กระทบสิ่งเเวดล้อม
“ภูเขาหัวโล้น” หนึ่งในปัญหาใหญ่ของพื้นที่ในแถบภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดน่าน ซึ่งจากการสำรวจของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร องค์การมหาชน (สสนก.) พบว่า ปัญหาการจัดการน้ำในพื้นป่าต้นน้ำน่านในอุทยานแห่งชาติขุนน่านและพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ซึ่งเป็น 1 ใน 25 ลุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ ถูกบุกรุก ตัดไม้ และทำเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว ที่มุ่งเน้นผลผลิตจำนวนมากเพื่อส่งป้อนอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร
จนในที่สุด "น่าน" มีพื้นที่เขาหัวโล้นถึง 8 แสนไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด 7.6 ล้านไร่ ช่วงฤดูฝน น้ำไหลหลากกัดเซาะทำให้หน้าดินพังทลาย ดินไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ส่วนช่วงฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตร
ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การจัดตั้งโครงการ "พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน" จากความร่วมมือกันของภาครัฐบาลและภาคเอกชน ประกอบด้วย มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร องค์การมหาชน (สสนก.) กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 อุทยานแห่งชาติขุนน่าน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน เพื่อฟื้นฟู และคืนความชุ่มชื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำน่าน ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาของแม่น้ำยม 1 ใน 4 แม่น้ำสายหลักที่ไหลไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยโครงการฯ มีระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2560-2562
โครงการ "พัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน" มีเเผนดำเนินงานในส่วนของปี 2560 ที่บ้านดงผาปูน และปี 2561 ที่บ้านนาบง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ที่ประสบปัญหาป่าเสื่อมโทรม เกิดความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค รวมถึงน้ำเพื่อทำการเกษตรในบางช่วง โดยมุ่งดำเนินงานฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งพบว่า การสร้างฝายชะลอน้ำในบริเวณลำห้วย และปลูกพืชอุ้มน้ำบริเวณร่องน้ำ เช่น กล้วยป่า กล้วยน้ำว้า และต๋าว(ต้นลูกชิด) ช่วยให้ประชากรกว่า 4,700 ครัวเรือนมีน้ำอุปโภค-บริโภค และเพิ่มแหล่งน้ำสำรองสำหรับทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งเป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า หากย้อนกลับไปดู 10 กว่าปีที่ผ่านมา พื้นที่ในโครงการฯ ส่วนใหญ่เป็นสภาพเขาหัวโล้น แต่ตอนนี้ที่เห็นชัดเจนคือพื้นที่ 1,000 กว่าไร่ สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่พันธ์ุป่าอนุรักษ์สำเร็จแล้ว 180 ไร่ เป็นป่าต้นน้ำ 150 ไร่ เป็นป่าใช้สอย 740 ไร่ ที่เกิดจากการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น และปลูกพืชอุ้มน้ำช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือปี 2558 เราพบกับปัญหาภัยแล้งเป็นอย่างมาก แต่ในปี 2560 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปสิ่งที่เราเห็นคือเป็นปีที่มีน้ำมาก ปัญหาน้ำท่วม ดินถล่มได้หมดไป เเละในปี 2561 ถือเป็นปีที่ 2 ในส่วนของบ้านนาบง ดำเนินงานวางระบบท่อส่งน้ำ กระจายสู่แปลงเกษตร ปรับปรุงคันนา ขุดสระสำรองน้ำ และปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูก ครอบคลุม 4 ลำห้วย
"พื้นที่เกษตรที่จะได้รับประโยชน์ 96 แปลง 726 ไร่ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจร่วมกับชุมชน เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ทำเกษตรบนเขาไปสู่พื้นที่ลุ่มด้านล่าง สร้างฝายชะลอน้ำและปลูกกล้วยเพิ่มเติม ทำให้ดินชุ่มชื้น อุ้มน้ำได้มากขึ้น ส่วนในปี 2562 อีก 1 ปีที่เหลือ เมื่อน้ำมีแล้ว ดินเริ่มดีแล้วก็จะเน้นไปทางด้านปลูกพืช ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มพืชคลุมหน้าดิน เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำให้กลับมาสมบูรณ์” เลขานุการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ อธิบายให้เห็นถึงแผนการทำงาน
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
นางสาวพนิดา ไชยกลาง ผู้นำชุมชนบ้านนาบง วัย 30 ปี เล่าให้ฟังถึงสาเหตุของป่าเสื่อมโทรมว่า สมัยก่อนชาวบ้านมีการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพดที่เป็นพืชตามกระแสกันเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งขายให้นายหน้า ทำมาประมาณ 20 ปี จนดินเสื่อมสภาพ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ฤดูแล้งน้ำที่ใช้อุปโภค-บริโภคก็หายาก ชาวบ้านลำบากมาก ต้องหาบกระบุงไปหาตักน้ำตามลำห้วย เเต่หลังจากที่มีโครงการเข้ามา มีการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตอนนี้เรามีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรน้ำใช้เพียงพอในด้านต่างๆ ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น จากแต่ก่อนรายได้ของชาวบ้านเฉลี่ยครัวเรือนล่ะ 19,000 บาทต่อปี ตอนนี้ขึ้นมาเป็นครัวเรือนล่ะ 30,000 บาทต่อปี’
นางสาวพนิดา ไชยกลาง ผู้นำชุมชนบ้านนาบง
เช่นเดียวกับนายคเณศวร น่านโพธิ์ศรี ผู้นำชุมชนดงผาปูน วัย 34 ปี บอกว่า ชาวบ้านทำอะไรแทบไม่ได้มาประมาณ 5-6 ปี เเต่เมื่อโครงการฯ เข้ามาสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ดีขึ้น มีการสร้างฝาย ทำเกษตรแบบยั่งยืน เช่น ปลูกกล้วย ปลูกต๋าว เป็นต้น ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี ต่างจากเมื่อก่อนที่พอหมดฤดูการปลูกข้าวโพดชาวบ้านก็จะไม่สามารถทำอะไรต่อได้ ฉะนั้น อนาคตคิดว่า หากมีต้นกล้วยที่เป็นพืชที่อุ้มน้ำได้ดีมากพอในพื้นที่ คงเปรียบเสมือนการมีเขื่อนในหุบเขา
นายคเณศวร น่านโพธิ์ศรี ผู้นำชุมชนดงผาปูน
ช่วงระยะเวลาอีก 2 ปีที่เหลือของโครงการฯ เชื่อว่า ภาพบ้านดงผาปูนและบ้านนาบงจะไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น กลายเป็นที่ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้ มีรายได้ที่มั่นคง มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี และสามารถขยายผลออกไปสู่ชุมชนอื่น ๆ จนเกิดการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป .