เลิกจ้างพนักงานบ.มิตซูบิชิ1,800คน หลังเจรจาล้มเหลว
ส่อเลิกจ้างพนักงาน บริษัท มิตซูบิชิ 1,800 คน หลังคุยกันไม่รู้เรื่อง เจรจาเหลว นายจ้างใช้สิทธิปิดงานจนกว่าจะได้ข้อยุติ
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปิดประกาศ เรื่อง ขอใช้สิทธิปิดงานงดจ้าง โดยมี นายโนริคาสึ อิชิคาว่า ประธานบริษัทฯ เป็นผู้ลงนาม ระบุว่า ตามที่สหภาพแรงงาน มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ประจำปี 2560 ตามหนังสือเลขที่ สมอท.058/2560 ลงวันที่ 7 ก.ย. 2560 ต่อบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็ดทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้ทำการเจราจรร่วมกัน 7 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติตกลงกันได้ ต่อมาสหภาพแรงงาน มิตซูบิชิ ประเทศไทย ได้แจ้งข้อพิพาทแรงงาน ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นัดหมายผู้แทนการเจรจาทั้งสองฝ่าย ทำการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน โดยมีการไกล่เกลี่ยตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2560 ถึงวันที่ 2 ธ.ค. 2560 รวม 10 ครั้ง แต่ผลการเจราจาทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้
ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 บริษัทฯ ขอใช้สิทธิปิดงานเฉพาะข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ โดยไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการอื่นใดให้กับมวลชนสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2560 เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป จนกว่าข้อเรียกร้องจะตกลงกันได้ สำหรับลูกจ้างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องให้เข้าทำงานและได้รับค่าจ้างตามปกติ
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า กรณีไม่ใช่การเลิกจ้าง แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ซึ่งกรณีทางลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวมีข้อเรียกร้องขอให้มีการจ่ายโบนัส และปรับค่าจ้างประจำปี แต่ทางบริษัทเห็นว่าควรเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรมากกว่า ซึ่งความเห็นยังขัดแย้งกันมีการคุยกันหลายรอบแต่ตกลงไม่ได้ เลยมีการให้พนักงานประนอมไปไกล่เกลี่ยแต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าหากประนอมกัน 5 ครั้งยังไม่ได้ข้อยุติก็ให้สิทธิลูกจ้างสามารถสไตรท์ได้ และให้สิทธินายจ้างปิดการผลิตชั่วคราวจนกว่าจะมีข้อยุติร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของการเลิกจ้าง ทั้งคู่ยังเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิต ไม่มีค่าจ้างเกิดขึ้น ถ้าคุยกันได้ข้อยุติทุกอย่างก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม
“ถ้าเป็นเรื่องที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายอันนี้กสร.สามารถสั่งให้บริษัทจ่ายให้ลูกจ้างได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่เรื่องโบนัส เรื่องการปรับค่าจ้างประจำปีนั้นเป็นข้อเรียกร้องที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด กสร.ไปสั่งใครไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องตกลงกัน ถ้าตกลงกันยังไม่ได้กฎหมายให้ให้สิทธิทั้ง 2 ฝ่ายอยู่แล้ว ลูกจ้างสไตรท์ได้ นายจ้างปิดการผลิตไม่จ่ายเงิน แต่สิ่งที่กสร. จะเข้าไปช่วยเหลือคือการประสานให้มีการเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด และให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมายแก่ทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้เป็นการทำผิดกฎหมายต่ออีกฝ่าย”นายอนันต์ชัย กล่าว.
ด้าน นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การที่บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างการปรับเงินเดือนใหม่ ทำให้บวกลบคูณหารแล้วลดลง รวมถึงโบนัสที่เคยได้กลับไม่ได้ ทำให้ลูกจ้างราว 1,800 คนได้เรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อขอเจรจาให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง จึงเริ่มเจราจาตั้งแต่เดือนก.ย. เป็นต้นมา ล่าสุดการเจรจาวันที่ 27 ธ.ค.ก็ยังไม่มีข้อยุติ ทำให้นายจ้างขอปิดงานงดจ้างลูกจ้าง ในฝ่ายผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ ประกอบเครื่องปรับอากาศของยี่ห้อมิตซูบิชิเพื่อส่งออก.