กกต.ยันไม่มีสมาชิกพรรคชื่อซ้ำกัน เชื่อ เม.ย. 61 เกิดแรงกระเพื่อมการเมืองครั้งใหญ่
“สมชัย” การันตีไม่มีสมาชิกพรรคชื่อซ้ำกันแม้แต่รายเดียว ยันระบบใช้เลขบัตรประชาชน หากซ้ำจะตัดชื่อออกหมด-ไม่บันทึก เผยลบไปแล้วกว่า 1.25 ล้านราย ทำสำเนาให้ทุกพรรคไปปรับปรุงแล้ว โยนถามเจตนาผู้ออกกฎหมายทำเพื่ออะไร ให้ทำใน 1 เดือนเหมาะสมหรือไม่ เชื่อ เม.ย. 61 เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่
วันนี้ (27 ธ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อ้างสาเหตุที่ คสช.ต้องออกคำสั่งที่ 53 /2560 ขยายระยะเวลาการปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง เนื่องจากมีการซ้ำซ้อนกันของฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง ไม่รู้ว่าใครอยู่พรรคไหน โดยยืนยันว่าข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองในฐานข้อมูลที่ กกต.รับผิดชอบอยู่ ไม่มีรายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองซ้ำซ้อนกันแม้แต่รายเดียว ระบบฐานข้อมูลที่ กกต.ออกแบบมานั้น เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบสมาชิกพรรคการเมือง ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2550 เป็นต้นมา การบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองต้องใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการบันทึกข้อมูล
นายสมชัยกล่าวว่า หากคีย์ข้อมูลแล้วระบบพบว่า บุคคลดังกล่าวมีชื่อเป็นสมาชิกเกินกว่า 1 พรรค ระบบก็ตัดชื่อบุคคลดังกล่าวออกทั้งหมด หรือถ้าคีย์ข้อมูลแล้วพบว่ามีชื่อเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว ระบบก็จะไม่บันทึกข้อมูลซ้ำ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 50 มาตรา 24 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเป็สมาชิกของพรรคการเมืองในขณะเดียวกันเกินหนึ่งพรรคการเมือง หากเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเกินกว่าหนึ่งพรรคสมาชิกภาพของสมาชิกจะสิ้นสุดลง ดังนั้น กระบวนการทำงานของ กกต.จึงรองรับปัญหานี้อยู่แล้ว โดยมีการลบรายชื่อที่ซ้ำซ้อนทั้งในส่วนของซ้ำในพรรคเดียวกันและซ้ำข้ามพรรคไปแล้วรวม 1.25 ล้านราย อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่อาจมีชื่อและนามสกลุเหมือนกัน แต่เลขประจำตัวประชาชนจะต้องไม่ตรงกัน นอกจากนี้หากมีการคีย์ข้อมูลใหม่โดยพรรคการเมืองจะไม่สามารถคีย์ข้อมูลบุคคลที่ซ้ำกับข้อมูลที่ กกต.มีได้ เพราะมีการออกแบบปิดกั้นระบบฐานข้อมูลจะไม่รับ ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้รับความร่วมมือกับสำนักงานทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย ในการช่วยอัปเดตข้อมูลที่อยู่ และการเกิดการตาย ให้เป็นปัจจุบันแล้ว โดย กกต.ก็ได้สำเนาข้อมูลนี้ให้กับทุกพรรคการเมืองแล้วเพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงฐานข้อมูลสมาชิกของพรรคในเป็นปัจจุบัน
นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีที่อาจจะมีการรีเซตสมาชิกพรรคการเมืองว่า ต้องไปถามเจตนาของผู้ออกกฎหมายว่าทำเพื่ออะไร แต่ตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะพรรคการเมืองสะสมสมาชิกที่ถูกต้องมาเป็นเวลานาน แต่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ แม้จะมีมุมที่ดีในการยืนยันตัวตนและให้ชำระสมาชิกพรรคการเมืองให้ถูกต้องก็ตาม ทั้งนี้เห็นว่าการที่คำสั่ง คสช.กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องยืนยันและจ่ายค่าสมาชิกภายในหนึ่งเดือน คือ 1-30 เม.ย. 60 เป็นเรื่องที่ต้องคิดทบทวนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะศักยภาพของพรรคในการแจ้งสมาชิกให้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่เท่ากัน อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย ถึงทำได้ก็เหนื่อย และจะทำให้เกิดการกระเพื่อมทางการเมืองครั้งใหญ่ เนื่องจากพรรคที่มีสมาชิกมากจะต้องทำทุกวิถีทางยืนยันกลับมา เพื่อแสดงว่าพรรคได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งการที่สมาชิกพรรคชำระค่าบำรุงสมาชิกยังสัมพันธ์กับเงินอุดหนุนพรรคการเมืองที่จะได้จากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองซึ่งกำหนดไว้ในสัดส่วนถึงร้อยละ 40
“การกระเพื่อมทางการเมืองจะเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งพรรคการเมืองใหญ่คงทำได้ เขาคงไม่เชื่อผมที่ว่าให้หาสมาชิกแค่ 1 หมื่นคนพอ เพราะการมีสมาชิกมากและจ่ายค่าบำรุงแล้ว จะเชื่อมโยงกับเงินสนับสนุนที่จะได้ถึง 40% ผมว่าพรรคไม่ยอมเสียหรอก จึงมีคำถามว่าทำไมต้องเร่งทำให้เสร็จภายในหนึ่งเดือน ทั้งที่จังหวะก้าวที่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 60 กำหนดให้ทยอดจ่ายให้แล้วเสร็จใน 4 ปี หลังจากนั้นไม่จ่ายก็ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิก เป็นกระบวนการที่ดีแล้ว” นายสมชัยกล่าว