คพ.ระบุเกษตรกรป่วยจากสารเคมี 2 พันราย 8 จว.เหนือเผาไหม้พื้นที่เกษตรรุนแรง
สรุปสถานการณ์มลพิษรอบปี 53 แม่น้ำสายหลักเสื่อมหนัก ขาดระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน เกษตรกรป่วยจากสารเคมีเกือบ 2 พันราย 8 จังหวัดเหนือมลพิษจากเผาไหม้พื้นที่เกษตรรุนแรง เตรียมลุยสืบหาแหล่งกำเนิดสารพิษปนเปื้อนคลองชากหมากมาบตาพุด-แก้ปัญหาลักลอบทิ้งตะกั่วหมู่บ้านคลิตี้
เมื่อเร็วๆนี้ นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงสรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทยปี 2553 ว่าภาพรวมไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2552 โดยอันดับแรกที่ยังคงมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่องมา 3 ปีคือคุณภาพแม่น้ำสายหลักเสื่อมโทรมทั้งภาคเหนือ กลาง และใต้ จากเดิมร้อยละ 33% เป็น 39% เนื่องจากช่วงต้นปีมีภาวะแล้ง และปลายปีมีปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งช่วง 2 ปีนี้ยังไม่มีการจัดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนเพิ่มเติม คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งก็มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง รวมทั้งอ่าวไทยตอนใน
นายสุพัฒน์ กล่าวว่าอันดับสองคือปัญหาขยะมูลฝอยมีปริมาณเพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งทั่วประเทศมีปริมาณขยะถึง 15.2 ล้านตันต่อปี แต่มีขยะที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีแค่ 5.8 ล้านตันหรือแค่ 38% ขณะที่แนวโน้มการนำเข้าสารเคมีอันตรายและผลิตในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้นเป็น 40.5 ล้านตัน ส่งผลต่อตัวเลขความเจ็บป่วยจากสารเคมี 590 ราย อุบัติเหตุจากสารเคมีเกิดขึ้น 28 ครั้ง เป็นโรงงานอุตสาหกรรมและโกดังเก็บสารเคมี 11 ครั้ง การขนส่งสารเคมี 3 ครั้งและการลักลอบทิ้งของเสียอันตราย 11 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีตัวเลขจากกรมควบคุมโรคที่มีรายงานการเจ็บป่วยของเกษตรกรที่รับพิษจากสารเคมี 1,982 ราย ซึ่ง คพ.จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้เกษตรกรถึงพิษภัยและลดปัญหาผลกระทบจากการใช้สารเคมี
“คุณภาพอากาศโดยรวมแนวโน้มดีขึ้น ปัญหามลพิษหลักยังคงเป็นฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณริมถนนทั้งกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ ที่การจราจรหนาแน่น โดยในพื้นที่ กทม.ที่ยังมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้แก่ ถนนดินแดง พระราม 6 พหลโยธิน พระราม 4 ส่วนต่างจังหวัด เช่น สระบุรีจะมีปัญหาในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ในปีนี้พื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัดโดยเฉพาะแม่ฮ่องสอน มีการตรวจวัดฝุ่นละอองจากการเผาไหม้พื้นที่เกษตรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 518.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยช่วง ม.ค. 54 จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรก เพื่อหามาตรการรับมือกับไฟป่า” นายสุพัฒน์ กล่าว
อธิบดี คพ.กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ จ.ระยอง ตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ภาคประชาชน และผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหา แนวโน้มของสารไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยกาศที่ยังวิกฤติ ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติให้กระทรวงพลังงาน บังคับใช้น้ำมันยูโร 4 ที่มีสัดส่วนของเบนซีนน้อยมาใช้กับรถยนต์ในจ.ระยอง ตั้งแต่ ม.ค.54 จากเดิมตามกฎหมายต้องเป็นปี 55 ส่วน คพ.ได้รับมอบหมายให้สืบหาแหล่งที่มาของสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนที่ปนเปื้อนในตะกอนดินของคลองชากหมาก ซึ่งตั้งแต่ ม.ค.นี้ คพ.จะลงไปสำรวจและกำหนดจุดตรวจสอบตามความยาวตลอดลำคลองทั้ง 10 กม.เพื่อให้รู้แหล่งว่ามลพิษดังกล่าวถูกปล่อยมาจากโรงอุตสาหกรรมไหน ขณะที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ มอบหมายให้การนิคมอุตสหากรรมแห่งประเทศไทยสร้างฝายดักตะกอนก่อนจะไหลลงทะเล อีกด้วย
นายสุพัฒน์ กล่าวด้วยว่า คพ.เตรียมลงพื้นที่ประชุมรับฟังความเห็นชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ จ.กาญจนุบรี ระหว่าง 31 ม.ค.-4 ก.พ.54 หลังสำรวจพบว่าบริเวณริมห้วยคลิตี้ที่เคยมีปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่ว ได้มีการนำหางแร่ตะกั่วไปฝังกลบกระจายตลอดสองฝั่งลำห้วยรวม 8 จุด ซึ่งหลุมดังกล่าวชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพด เมื่อมีการขุดดินลงไปก็เจอกับถุงหางแร่ทำให้อาจเกิดการปนเปื้อนในแหล่งดิน ที่ผ่านมา คพ.ได้ทำเนินดินล้อมรอบและนำผ้าใบมาคลุมหลุมแร่ทั้งหมดไว้ แต่ระยะยาว ที่คณะกรรมการควบคุมมลพิษ เพิ่งสรุปแนวทางการฟื้นฟูหลุมแร่ออกเป็น 4 ทางเพื่อเตรียมเสนอให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปีหน้า ดังนี้ 1.แต่งตะกอนหางแร่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ 2.การกำจัดตะกอนหางแร่โดยบริษัทรับกำจัดของเสียอันตราย 3.ฝังกลบกากตะกอนหางแร่ในพื้นที่ฝังกลบแห่งใหม่และสุดท้าย การปรับเสถียรในหลุมฝังกลบ จัดทำผนังทึบน้ำกั้น และแนวคันดินกันน้ำท่วมพื้นที่หลุมฝังกลบ
นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการร้องเรียนปัญหามลพิษมายังกรมควบคุมมลพิษในปี 53 มีทั้งสิ้น 418 เรื่อง ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่ร้องเรียนมากที่สุดคือมลพิษทางอากาศและเสียงร้อยละ 84 รองลงมาเป็นน้ำเสียร้อยละ 11 และกากของเสียร้อยละ 4 ตามลำดับ จังหวัดที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับการแก้ไขปัญหา หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินการจนสามารถยุติปัญหาได้ 271 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 65 ของจำนวนเรื่องร้องเรียน .