ขมวดปมปัญหาจัดซื้อฮ. KA-32 ปภ.พันล.-เสียงเตือนคสช.ระวังว่าแต่เขาอิเหนาจะเป็นเอง?
"...ไม่ทราบว่าทำไมราคากลางถึงแตกต่างจากที่อยู่บนเว็บไซต์มากขนาดนั้น เพราะพึ่งเข้ามารับตำแหน่งและคนกำหนดสเปคและกำหนดราคากลางคือกองทัพอากาศ กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเข้ามาช่วยปภ. โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพบกกับปภ. ต้องฝากเก็บ ต้องให้ดำเนินการให้ แต่งบประมาณใช้งบของปภ. ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางกองทัพบกก็นำไปใช้งาน..."
เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่สาธารณชนกำลังจับตามอง!
กรณีกรมบัญชีกลางได้เผยแพร่ประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลงนามโดยนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดี ปภ. วันที่ 18 ธ.ค.2560 ให้ยกเลิกประกาศประกวดราคาจัดหาอากาศยานปีกหมุนหรือเฮลิคอปเตอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย จำนวน 2 ลำ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 18 ส.ค.2560
โดยให้เหตุผลว่า มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว และเสนอราคาเกินวงเงินงบประมาณจากราคากลางที่ ปภ.กำหนดไว้คือ 1,700 ล้านบาท
ขณะที่มีข้อมูลปรากฎว่า ผู้ที่เสนอราคากลางเพียงรายเดียวและเสนอเกินวงเงินงบประมาณนั้น ก็คือ บริษัทดาต้าเกทที่เสนอราคามาสูงถึง 1,862,500,956 บาท มากกว่าราคากลางถึง 162,500,956 บาท โดยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบริษัทเอกชนรายนี้ เป็นคู่สัญญาในการจัดซื้ออาวุธ ชิ้นส่วน อุปกรณ์ กับกองทัพประมาณ 27 สัญญา ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.2557-29 ก.ย.2560 รวม 1,995 ล้านบาท (อ่านประกอบ:พลาด ฮ.ปีกหมุน ปภ.1.8 พันล.! บ.ดาต้าเกท กวาดคู่ค้าอาวุธกองทัพ 2 พันล.)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ไล่เรียงลำดับที่มาที่ไปโครงการนี้ และข้อสังเกตสำคัญมานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้
เริ่มจาก เมื่อวันที่ 22 ส.ค. สำนักข่าวทาสส์ ของ รัสเซีย รายงานว่า จะส่งมอบ เฮลิคอปเตอร์ Ka-32 A11BC ซึ่งเป็น เฮลิคอปเตอร์ค้นหาและช่วยชีวิต และดับเพลิง จากรัสเซีย ให้ไทย ในเร็วๆ นี้ โดยมีการระบุข้อมูลว่า เป็นการซื้อของ กรม ปภ. กระทรวงมหาดไทย ซื้อ จำนวน2 เครื่อง งบประมาณ 1,700 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 23 ส.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีต อธิบดี ปภ. ได้ยืนยันว่า จะจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าว เป็นงบผูกพัน 3 ปี
สำหรับขั้นตอนการจัดซื้อนั้น นายฉัตรชัยได้เปิดเผยว่าจะมี 2 แนวทาง โดย 1.ได้แจ้งข้อมูลความต้องการการจัดหาไปยังบริษัทผู้ผลิตโดยตรง ทั้งจากสหรัฐ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้และรัสเซีย และ 2.มหาดไทยทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ให้ประสานสถานทูตไทยทุกภูมิภาค ทั่วโลก เพื่อเชิญชวนผู้ผลิตและจำหน่าย ฮ.เข้าร่วมเสนอราคา พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะของอากาศยานปีกหมุน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเฮลิคอปเตอร์จากทบ. ทร. ตร. และบุคลากรของ ปภ.ร่วมเป็นกรรมการ และจัดทำราคากลางตามแนวทางที่ป.ป.ช.กำหนด พร้อมเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคา เพื่อรับฟังความคิดเห็น
ต่อมาวันที่ 11 ต.ค. สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบประกาศกรมบัญชีกลาง ระบุว่าการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้จะทำโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินราคากลาง 1,732 ล้านบาท (ลำละ 866 ล้านบาท) โดยประกวดราคาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2560 มีผู้รับเอกสาร 7 ราย และเสนอราคา 1 ราย โดยราคาที่เสนอคือ 1,862,500,956 บาท สูงกว่าราคากลาง 130,500,956 บาท (อ่านประกอบ:จัดซื้อ ฮ.ปีกหมุน 1.7 พันล. ปภ. เสนอเจ้าเดียว สูงกว่าราคากลาง 130.5 ล.)
จากนั้น วันที่ 18 ธ.ค. ปภ. ได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคาเนื่องจากมีผู้เสนอราคารายเดียวและเสนอมาเกินวงเงินที่ ปภ.กำหนด
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าเฮลิคอปเตอร์ KA-32 มีราคาขายสุทธิต่อลำบนเว็บไซต์ www.aircraftcompare.com ที่ 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อลำ หรือคิดเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ 213,232,416 บาท ดังนั้นถ้าหากจะจัดซื้อ 2 ลำก็จะอยู่ที่ 426,464,832 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวนั้นยังไม่รวมกับราคาอุปกรณ์อื่นๆที่ได้กำหนดในเอกสารจากจัดซื้อจัดจ้างหรือทีโออาร์ (อ่านประกอบ : เผยเอกชนเสนอขาย ฮ.KA-32 จากรัสเซีย 2 ลำให้ ปภ.-ข้อมูลในเว็บราคาต่อเครื่องไม่ถึง 500 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อสอบถามไปยัง นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดี ปภ. เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการกำหนดราคาสินค้า ที่แพงเกินกว่าราคาที่มีการประกาศขายในเว็บไซต์ ได้รับคำชี้แจงว่า ไม่ทราบว่าทำไมราคากลางถึงแตกต่างจากที่อยู่บนเว็บไซต์มากขนาดนั้น เพราะพึ่งเข้ามารับตำแหน่งและคนกำหนดสเปคและกำหนดราคากลางคือกองทัพอากาศ กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเข้ามาช่วยปภ. โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพบกกับปภ. ต้องฝากเก็บ ต้องให้ดำเนินการให้ แต่งบประมาณใช้งบของปภ. ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางกองทัพบกก็นำไปใช้งาน (อ่านประกอบ : โยน ทอ.-ทบ.-ตร. กำหนดสเปค! อธิบดีปภ. ไม่รู้ราคา ฮ.KA 32 บนเว็บไซต์ไม่ถึง 500 ล.)
จากประเด็นทั้งหมด สำนักข่าวอิศรา มีข้อสังเกตสำคัญดังต่อไปนี้
1.ทำไมการกำหนดราคากลางการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ทั้งสองลำถึงมีมูลค่าสูงกว่าราคาสุทธิของเฮลิคอปเตอร์ที่กำหนดอยู่บนเว็บไซต์
2.การประกวดราคาหลังจากนี้ จะเกิดกรณีบริษัทดาต้าเกท ยื่นเสนอราคาแค่เพียงบริษัทเดียว และจะเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง จนเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาและนำไปสู่การจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษอีกหรือไม่
3.ทำไมผู้ที่กำหนดราคากลางถึงเป็นกองทัพอากาศ กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ว่างบประมาณในการจัดซื้อนั้นเป็นงบประมาณของ ปภ. ปภ.ไม่เคยรับรู้รับทราบข้อมูลอะไรเกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาจริงๆ หรือ
ทั้งที่ งบประมาณส่วนนี้เป็นของปภ.เอง ปภ.ปล่อยให้หน่วยงานอื่น เข้ามาทำอะไรหรือใช้จ่ายงบประมาณของปภ.ได้โดยไม่ตรวจสอบกลั่นกรองเลยหรือ
ทั้งหมดนี่ คือ คำถามที่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตอบคำถามที่ชัดเจนให้สาธารณชนได้รับทราบ
เพราะไม่เช่นนั้นกรณีนี้ จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์สำคัญที่ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง ว่า ภายใต้การบริหารงานในยุคคสช. ที่กล่าวอ้างว่าจะเข้ามาปฏิรูปการบริหารงานประเทศให้มีความโปร่งใส สุดท้ายก็เพียงแค่ คำพูดสวยหรู ไส้ในที่แท้จริงไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากรัฐบาลของนักการเมืองมักเท่าไรนัก
ระวังว่าแต่เขาอิเหนาจะเป็นเอง?