Social Movement กลุ่ม “Gen Z” ส่งพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเหนือตอนบน
ในความจริงแล้ว Social Movement คือสิ่งที่มีมานานแล้ว โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญในยุคของการมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 คือกลุ่มเด็ก และเยาวชน Generation Z ซึ่งเกิดและเติบโตมาในยุคเทคโนโลยีและโซเซียลเน็ตเวิร์ค มีความพร้อมรับข้อมูลหลากหลายผ่านสื่อดิจิตอล มีความคิดและแนวทางอิสระเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน ให้ความสนใจเรื่องรอบตัวในหลากมิติ
Social Movement “คำถาม” ที่ดังสะเทือนเวทีนางงามระดับโลก และสร้างความสงสัยว่า อะไร คือ Social Movement
ในความจริงแล้ว Social Movement คือสิ่งที่มีมานานแล้ว ในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายประเด็น โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญในยุคของการมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 คือกลุ่มเด็ก และเยาวชน Generation Z (พ.ศ.2538-2552) ซึ่งเกิดและเติบโตมาในยุคเทคโนโลยีและโซเซียลเน็ตเวิร์ค มีความพร้อมรับข้อมูลหลากหลายผ่านสื่อดิจิตอล มีความคิดและแนวทางอิสระเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน ให้ความสนใจเรื่องรอบตัวในหลากมิติ ทั้งศิลปะ สิ่งแวดล้อมและสังคม จึงสามารถคิดและทำอะไรได้หลากหลายในเวลาเดียวกัน ซึ่งเหมาะกับโลกที่มีการแข่งขันสูง
ตัวอย่างของแรงขับเคลื่อนสังคมที่เป็นพลวัตและพลังสำคัญของสังคมคือ นักศึกษาจาก 8 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และเครือข่ายเยาวชน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสมัชชาเยาวชนชาวไทยภูเขา จังหวัดน่าน และกลุ่มเยาวชนเคียงริมโขง จังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเหนือตอนบน โดยมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย เพื่อพัฒนากลไกเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ให้มีความตื่นตัวและสนใจพัฒนาศักยภาพตนเองพร้อมกับการพัฒนาชุมชนและสังคม ให้พร้อมที่จะเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในอนาคต
งานจอย ปอยละอ่อน “ฮ่วมกึ๊ด ฮ่วมแฮง ฮ่วมสร้างสรรค์สังคม” ณ โรงเรียนบ้านแม่อ้อ ตำบลแม่อ้อ อำเภอพาน จ.เชียงราย เป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์และเปิดโอกาสให้เยาวชน นักศึกษานำเสนอบทเรียน องค์ความรู้ที่ดำเนินงานมาตลอดระยะเวลาหนึ่งปี โดยใช้พื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านแม่อ้อ เป็นกรณีศึกษาปัญหาจริงในชุมชนเพื่อร่วมกันแก้ไขและผลักให้ขับเคลื่อนต่อไปได้
“น้องดรีม” นายวรากร ใจยา ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเหนือตอนบน มองถึงกิจกรรมที่เยาวชน นักศึกษาได้ทำร่วมกันเป็นการเปิดพื้นที่ทางความคิดและอุดมการณ์ โดยมีความมุ่งหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนากลไกเครือข่ายเยาวชน นักศึกษาในมหาวิทยาลัยพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ให้มีความตื่นตัวและสนใจในการพัฒนาศักยภาพตนเองพร้อมไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคม เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในอนาคต โดยมุ่งเน้นใช้ชุมชนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ (Area Focused) ใช้การตั้งโจทย์หรือคำถามเพื่อให้เกิดการคิดร่วมและช่วยกันหาคำตอบ
"กระบวนการเรียนรู้นี้ จะเป็นแรงผลักเพื่อยกระดับทัศนคติ มุมมองและศักยภาพของเยาวชน เพื่อให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Youth Active Citizens) เท่าทันและเข้าใจ พร้อมทั้งเป็นแกนกลไกในการพัฒนาระบบสุขภาวะที่จะทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่เคลื่อนตัวเร็ว"
ขณะที่นายธนวัฒน์ วงศ์ใจ ประธานชมรมรากดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ซึ่งทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “สุขภาวะชุมชน บนมิติรายได้ครัวเรือนของประชาชนลุ่มแม่น้ำอ้อ” ใน 3 ชุมชน ได้แก่ บ้านแม่อ้อใน แม่อ้อสันติ และบ้านสันสลี เป็นเวลากว่า 3 เดือน เพื่อตอบคำถาม “เงินสำคัญแค่ไหน?”
เขาพบว่า คำตอบมีหลายแบบ บางคนตอบว่า แค่ปัจจัยภายนอก บางคนอาจจะตอบว่า เท่ากับทั้งชีวิต ถึงแม้ว่า ปัจจุบัน “เงิน” เป็นตัวที่จะขับเคลื่อนสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นได้ มีอยู่ ดับไป และขณะนี้เงินอยู่เหนือปัจจัย 4 ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ ดังนั้น ถ้าเรามีเงินมากเราจะมีความสุขจริงหรือไม่? เมื่อเงินไม่สามารถซื้อเวลาหรือบางสิ่งที่สูญเสียไปให้กลับมาได้ สิ่งนั่นคือ ความสุข
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงได้ศึกษาใน 4 ประเด็น คือ
1)ความมั่นคงทางอาหาร ประชาชนลุ่มแม่น้ำอ้อ ทำอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 90 ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิม แต่พบปัญหากระดูกสันหลังของชาติมีความจนเข้ามากล้ำกราย มีผลผลิตและรายได้ 1 ครั้งต่อปี และขึ้นกับฝนฟ้าอากาศ ชีวิตติดลบเป็นหนี้
2) ภาษีสังคม งานศพ งานบวช งานแต่ง งานบุญ ภาษีนา มีความสำคัญเชิงความสัมพันธ์ภายในชุมชน
3) โจรเสื้อขาว ครัวเรือนมีบุตร 2-3 คน คาดหวังให้บุตรเรียนสูงๆ แต่ไม่ได้วางแผนด้านการศึกษา จึงต้องกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ยาวนาน ค่าเฉลี่ยในการส่งบุตรเรียนถึงระดับปริญญา 566,666 บาท
4) กลุ่มโรค NCDs ชุมชนบ้านแม่อ้อมี 3 โรคลำดับต้นๆ เบาหวาน ความดันโลหิต และโรคไต ส่งผลถึงการรักษา ที่ยังต้องเสียค่าใช้จ่าย
ประเด็นปัญหาที่ศึกษา จึงเป็นสิ่งที่เกิดและกระทบต่อสุขภาวะชุมชน นั่นคือ “ความสุข” ทั้งทางกาย ใจและการมีปฏิสัมพันธ์ต่อบุคคลรอบข้างที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อจะได้รู้ว่าแม่อ้อต้องการอะไรต่อไปจากนี้ จึงต้องรู้จักแก้ไขปัญหา และอยู่กับปัญหาอย่างมีความสุขให้ได้
ในฐานะเยาวชน นายธนวัฒน์ บอกว่า เขาอยากร่วมสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม ชุมชน ประเทศชาติ ให้ดูดียิ่งขึ้น สวยงามมากขึ้น และอยากเป็นตัวแทนในการส่งต่อข้อมูลให้ผู้นำชุมชน คนในชุมชน ได้นำผลที่ได้ทำการศึกษาไปปรับใช้ แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมหรือสร้างสังคม ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ โดยเริ่มต้นจากครอบครัว ขยับต่อไปยังชุมชน สังคมและประเทศชาติ
ขณะที่นายบุญเชิด ติ๊บมา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ในฐานะผู้ใหญ่บ้านที่รู้สึกปลื้มใจอย่างมาก เมื่อเด็ก เยาวชน ไปศึกษาจนจบการศึกษามีงานทำและกลับมาช่วยชุมชน ไม่ลืมบ้านเกิดของตนเอง ดังเช่นน้องดรีม ซึ่งคนในชุมชนยกเป็นต้นแบบให้กับเด็กรุ่นหลัง เนื่องจากปัจจุบันเด็กมักลืมบ้านเกิดละทิ้งบ้านไปศึกษาในเมืองและไม่กลับมา การมีโครงการฯ กิจกรรมดีๆ ที่ลงสู่ปัญหาของคนในชุมชนจริงๆ ชาวบ้านในชุมชนให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะการนำความรู้มาถ่ายทอด แนะแนวทาง ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ที่ควรสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป เพื่อให้เด็ก เยาวชนในพื้นที่ได้ปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตของความเป็นชนบทและเมืองของชาวเมืองเหนือ
“โครงการมีประโยชน์กับทั้งชุมชน ผู้ปกครอง เด็ก เยาวชน คนทุกช่วงวัยได้มาสานสัมพันธ์ร่วมกัน มีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น ชุมชนของเรามีปัญหาเรื่องเกษตรกรรม ขาดความรู้ด้านเกษตรแนวใหม่ อีกประเด็นสำคัญเรายังมีเด็ก เยาวชนที่ยังขาดคนดูแล ไม่มีพ่อ แม่ มีความเสี่ยงในการประพฤติไปในทางที่ไม่ดีจำนวนมาก อยากให้โครงการเกิดการต่อยอดต่อไป เพื่อความต่อเนื่องเพื่อชุมชนจะได้ปรับสถานการณ์ระหว่างเด็กบ้านนอกและในเมือง โดยให้น้องๆ เยาวชน เข้ามาเป็นต้นแบบที่ดีและช่วยให้คำแนะนำให้เขามีแนวทางดำเนินชีวิตที่ดี” ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 กล่าว
ด้านนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. ชี้ว่า การขับเคลื่อนของเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมภาคเหนือตอนบน นับว่าเป็นการเปิดมุมมองของผู้ใหญ่หลาย ๆ คนให้เห็นถึงพลัง ความสามารถของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่และกลุ่มเยาวชน นักศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้มีโอกาสเข้าใจถึงปัญหาความทุกข์ใจของชุมชน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ซึ่งหวังว่า เมื่อน้อง ๆ ได้เติบโตและจบการศึกษาแล้ว โอกาสและประสบการณ์ที่ดีในวันนี้ ที่เกิดจากการร่วมเรียนรู้กับชุมชน จะทำให้เข้าใจถึงหัวอกของชาวบ้าน เข้าใจปัญหา และเชื่อว่าทุกคนจะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ สามารถที่จะขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยสิ่งที่พวกเราได้ทำอยู่นี้คือ การเคลื่อนไหวทางสังคมหรือ “Social Movement” แม้จะขับเคลื่อนกันในพื้นที่เล็ก ๆ แต่มันจะยิ่งใหญ่ในอนาคตต่อไปได้อย่างแน่นอน