ชีวิตทรหดที่เตาะตือแม วิถีพอเพียงบนความขาดแคลน...
แม้หน่วยงานภาครัฐจะเดินหน้าแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการใช้ "งานพัฒนา" ควบคู่กับ "งานความมั่นคง" และมีงบประมาณจำนวนมหาศาลทุ่มเทลงสู่พื้นที่ก็ตาม
ทว่าดินแดนแห่งนี้ก็ยังมีหมู่บ้านและชุมชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง...
อย่างชุมชนชาวสวนยางเกือบ 40 ครอบครัวบนเขาเตาะตือแม ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา พวกเขาอพยพจาก ต.ตาลีอายร์ ใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ไปจับจองและทำสวนยางพารากันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และตั้งรกรากอยู่ที่นี่เกือบร้อยปีแล้ว แต่ที่ดินก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ แม้สิ่งที่พวกเขาทำมาตลอดคือแปรผืนดินผืนนี้สวนยางพารา และกลายเป็นอาชีพหลักของทุกครอบครัว
แม้ทุกครัวเรือนจะยังชีพด้วยความยากลำบากตามสภาพแวดล้อมที่อยู่บนภูเขา แต่ทุกคนก็กัดฟันสู้ เพื่อทำงานสร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวอย่างสงบและพอเพียง...
สามาแอ สาหม๊ะ โต๊ะอิหม่ามวัย 59 ปี บอกเล่าถึงการตัดสินใจมาสร้างบ้านทำสวนยางอยู่ที่นี่ จนมีลูกหลานแยกครอบครัวออกไปอีกหลายครอบครัว
"อยู่ที่มากว่า 30 ปี ก่อนหน้านี้ทางบรรพบุรุษมาทำมาหากิน จับจองที่ดินเพื่อทำสวนยาง ส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน มาจากหมู่ 1 ต.ตาลีอายร์ รุนพ่อแม่เข้ามา ลูกๆ ก็ตามมา ผมแต่งงานแล้วพาภรรยามาอยู่ที่นี่ พ่อซื้อที่ดินไว้ แล้วมาซื้อเพิ่ม ตอนนี้มีประมาณ 50 ไร่ เมื่อ 30 กว่าปีก่อนที่ดิน 30 ไร่ราคาแค่แสนกว่าบาท แต่ตอนนี้ไม่มีที่ว่างเหลือแล้ว กลายเป็นสวนยางไปทั้งภูเขา"
โต๊ะอิหม่าม เล่าถึงความเป็นไปในหมู่บ้านที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากหมู่บ้านเล็กๆ ขยายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ทำให้ข้อจำกัดต่างๆ ทั้งการเดินทางและสาธารณูปโภคกลายเป็นปัญหารุมเร้า
"เราอยู่กันประมาณ 40 ครอบครัว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่า 100 คน เด็กๆ เมื่อถึงวัยเรียน ส่วนใหญ่พ่อแม่จะส่งกลับไปเรียนที่ยะหริ่ง อยู่กับญาติๆ ให้ช่วยดูแล เพราะเดินทางง่าย เด็กบางคนที่อยู่ที่นี่ ต้องลงเขาไปเรียนที่โรงเรียนบ้านลือเน็งด้านล่าง แต่การเดินทางลำบากและใช้เวลามากในแต่ละวัน ยิ่งฤดูฝนยิ่งลำบาก"
ปัญหาการเดินทางที่สาแมแอเล่า เป็นเพราะระยะทางจากหมู่บ้านลงไปถึงถนนใหญ่สายยะหา-ปะแต ไกลถึง 6 กิโลเมตร ถนนหนทางก็ไม่ได้ราบเรียบ แต่มีโขดหินขนาดต่างๆ กระจายอยู่ทั่วไป ทำให้การสัญจรแม้จะใกล้หรือไกลค้องใช้เวลามากกว่าถนนปกติ ระยะทางแค่ 6 กิโลเมตรต้องใช้เวลาราวชั่วโมงครึ่งในการเดินทาง นี่ยังไม่นับหน้าฝนที่ขึ้น-ลงเขายากกว่าปกติหลายเท่า
แม้ว่าหลายปีก่อนชาวบ้านที่นี่จะลงขันกันกว่า 140,000 บาท เพื่อจ่ายค่าน้ำมันให้หน่วยงานในพื้นที่เข้ามาช่วยทำถนนให้พอสัญจรได้ดีขึ้นบ้าง แต่ไม่นานถนนก็กลับมาอยู่ในสภาพเดิม
หมู่บ้านแห่งนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ เกือบทุกบ้านใช้กระแสไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ "โซลาร์เซลล์" โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเมื่อหลายปีก่อน แต่ปัจจุบันใช้งานไม่ได้เกือบทั้งหมด และไม่คุ้มกับค่าซ่อมแซม บางบ้านที่โซลาร์เซลล์ยังพอใช้การได้ แต่ก็มีไฟฟ้าให้พอใช้แค่หลอดไฟดวงเดียวเท่านั้น
ขณะที่ภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของชาวชุมชน ทั้งยังถูกซ้ำเติมจากราคายางพาราตกต่ำสุดๆ เข้าไปอีก
อำรี เซ็ง หนุ่มโสดที่เพิ่งย้ายมาสร้างบ้านหลังน้อยใกล้ๆ มัสยิดในชุมชน พร้อมทำสวนยางขนาด 5 ไร่ เล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่ตัดสินใจขึ้นมาอยู่ที่เตาะตือแม ก็เพื่อมาดูแลยายที่แก่ชรา
"ก่อนหน้านี้ผมทำงานที่อื่น กระทั่งยายสุขภาพไม่ค่อยดี จึงกลับมาช่วยดูแล โดยสลับกับพี่ชาย และขึ้นมากรีดยางบนนี้ เพราะเป็นสวนยางของเราเอง แต่โชคร้ายมากรีดช่วงยางราคาดิ่งพอดี ก็ต้องทำใจและอยู่กับมันให้ได้ ดีที่ยังไม่มีครอบครัว รายได้ที่ได้มาจึงพอเลี้ยงตัวเองได้ หากราคายางกระเตื้องกว่านี้ ชาวสวนยางคงพอได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง"
อับดุลเลาะ วานิ หนุ่มใหญ่วัย 44 บอกว่า ความเป็นอยู่บนภูเขาแห่งนี้เรียบง่ายมาก ลงไปซื้อกับข้าวแค่อาทิตย์ละครั้ง หรือตามแต่ใครจะลงไปก็ฝากกัน ตัวเขาเองกลับไปเยี่ยมลูกและบ้านเกิดที่ยะหริ่งเดือนละครั้ง ลูกทั้ง 4 คนของเขาอยู่ในวัยเรียนทั้งหมด จึงให้เรียนหนังสือที่ยะหริ่ง ส่วนรายได้จากการกรีดยางเพียงอย่างเดียวลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ทำให้ครอบครัวต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด
"ยังดีที่เราอยู่บนนี้ ไม่ต้องไปซื้อของฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น ทุกวันนี้ได้แต่รอและหวังว่าราคายางจะดีขึ้น คุณภาพชีวิตของเราก็จะได้ดีขึ้นกว่านี้ด้วย" อับดุลเลาะ ยังมองในแง่ดีอย่างมีความหวัง
มัสยิดกลางชุมชนเป็นศูนย์กลางของทุกคนที่นี่ ทุกบ่ายวันอังคารชาวบ้านจะนัดกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ถางทาง ปลูกต้นไม้ สำรวจชุมชน เป็นการรวมตัวกันทั้งชายและหญิงเพื่อทำงานสาธารณะ และปรุงอาหารกินร่วมกันอย่างง่ายๆ พวกเขาบริจาคเงินเล็กๆ น้อยๆ เมื่อประกอบพิธีละหมาด เพื่อเป็นค่าน้ำมันในการปั่นไฟใช้งานในมัสยิด
นอกจากนั้น ชาวบ้านยังช่วยกันปลูกกล้วยข้างมัสยิด ด้วยหวังใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า และอีกไม่นานกล้วยก็จะออกผล แต่ด้วยความที่ดินเต็มไปด้วยหินน้อยใหญ่ ทำให้การปลูกพืชผักและผลไม้บนภูเขาเตาะตือแมไม่ค่อยเติบโตอย่างที่ควรเป็น ต้นกล้วยที่ออกผลและนำมาแบ่งกัน จึงยังเป็นเพียงความหวังของชาวเตาะตือแม
ขณะที่ "น้ำ" เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แทบทุกบ้านต้องขุดบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ บางบ้านต้องขนน้ำขึ้นมาจากคลองด้านล่าง บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน เมื่อถึงหน้าแล้ง น้ำจะแห้งขอดทุกปี ทำให้ปีนี้ทุกคนรวมใจกันว่า จะทำฝายกั้นน้ำด้านหลังมัสยิดเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดหน้าแล้ง
"ตอนหน้าแล้ง น้ำแห้งตลอด เดือดร้อนกันไปทั่ว เพราะต้องลงไปขนน้ำจากคลองปากทางเข้าหมู่บ้านซึ่งไกลมาก แต่ก็จำเป็น เพราะต้องใช้ บางบ้านมีโอ่งเก็บน้ำไว้ตอนฝนตก จึงมาคิดร่วมกันว่าควรปรับปรุงคลองหลังมัสยิดที่เคยมีน้ำไหลผ่าน แต่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยหญ้า ให้เป็นคลองที่น้ำไหลได้เหมือนเดิม และยังได้ไปดูงานจากหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีการสร้างฝายเล็กๆ มาปรับให้เข้ากับพื้นที่ของเรา เพื่อจะได้มีน้ำใช้กันตลอดปี"
"เตาะตือแม" มีจุดชมวิวสวยไม่แพ้ที่ใดๆ อากาศบริสุทธิ์ หอมไอดินหลังสิ้นฝน บรรยากาศตอนเช้าตรู่งดงามจนบรรยายไม่ถูก...
โต๊ะอิหม่าม บอกทิ้งท้ายถึงมองมุมใหม่ของ ต.ปะแต ที่ไม่ได้มีแต่เรื่องราวร้ายแรงตามที่เป็นข่าว
"เราพอใจที่อยู่แบบนี้ ชีวิตแบบนี้ยังมีอยู่จริง ชีวิตที่สงบ ทำมาหากิน ไม่ฟุ่มเฟือย ชีวิตคนธรรมดาที่เป็นอยู่เหมือนพี่น้องในพื้นที่อื่นๆ เราไม่ร่ำรวยเงินทอง แต่เรารวยน้ำใจ"
แม้ถนนราดยาง ประปา และไฟฟ้า อันเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังเข้าไปไม่ถึง แต่พวกเขาก็ยังอยู่กันมาได้อย่างสุขสงบและพอเพียง...
--------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : เลขา เกลี้ยงเกลา