สปสช.แจ้งสิทธิบัตรทองหยุดปีใหม่หากเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารพ.ใกล้ ไม่วิกฤติเข้า รพ.รัฐไว้ก่อน
สปสช.แจ้งประชาชนสิทธิบัตรทอง เดินทางช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ หากประสบอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง เข้ารักษาได้ทุก รพ.ที่อยู่ใกล้ ตามนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ หรือ UCEP แต่ไม่ใช่มุ่งเจาะจงเข้า รพ.เอกชน ทั้งที่มี รพ.รัฐอยู่ใกล้ ส่วนกรณีไม่ถึงขั้นวิกฤติแต่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา สามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แนะนำให้เข้า รพ.รัฐที่อยู่ใกล้สุดไว้ก่อน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่นี้ ซึ่งจะมีการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก สำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองนั้น หากในระหว่างที่เดินทางไปต่างจังหวัดและมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แบ่งเป็น 2 กรณีคือ
1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ หรือ Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามอัตราที่กำหนด แต่ไม่ใช่ว่ามุ่งเจาะจงไปเข้าสถานพยาบาลเอกชน ขณะที่มีสถานพยาบาลรัฐอยู่ใกล้ หากเป็นแบบนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์การใช้สิทธิ ดังนั้นจึงขอแนะนำว่าเบื้องต้นให้เข้ารักษาที่สถานพยาบาลรัฐไว้ก่อน
2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่น แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่ รพ. เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่ยังไม่ถึงขั้นฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ซึ่งกรณีนี้ เป็นไปตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุว่า ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง หากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ ซึ่งสถานพยาบาลอื่นนั้น หมายถึงสถานพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนประจำไว้ และสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเช่นเดียวกันคือแนะนำให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุดไว้ก่อน ไม่ใช่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากมีอัตราการเบิกจ่ายตามระเบียบที่กำหนดไว้
“ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากการเตรียมหลักฐานสำคัญคือบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ยังควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญของการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วได้ เพื่อเป็นความไม่ประมาท ในส่วนของประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินสายด่วน 1669 ได้ทั่วประเทศ