ดูที่มา บ.รับเหมาไทยในซูดานใต้ พัวพันประธานาธิบดี สหรัฐเชือดคอร์รัปชัน
เปิดรายงานผลสืบสวนคอร์รัปชั่นในรัฐบาลซูดานใต้ ฮั้วโครงการหลายร้อยล้านเหรียญ พัวพัน บ.รับเหมาก่อสร้างสัญชาติไทย ก่อนถูกทำเนียบข่าวมีคำสั่งลงโทษฐานทุจริตโยง ประธานาธิบดี ลูกชาย เลขาฯ ได้งาน 161 ล.เหรียญ
สืบเนื่องจากกรณี รัฐบาลสหรัฐ มีคำสั่งลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวในคดีทุจริตและละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงทั่วโลก โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อนาย Benjamin Bol Mel ประธานบริษัท ABMC Thai-South Sudan Construction Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างสัญชาติไทย และยังพบว่าประธานาธิบดีของซูดานใต้ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมกันทุจริตสัมปทานก่อสร้างถนนในประเทศด้วย แม้ต่อมาทางโฆษกส่วนตัวจะออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องก็ตาม (อ่านประกอบ: สหรัฐฯสั่งลงโทษเจ้าของ บ.ก่อสร้างสัญชาติไทยในซูดานใต้พัวพันคอร์รัปชัน)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นพบเอกสาร ผลงานการสืบสวน( INVESTIGATION) ของสถานีวิทยุ Tamazuj ซึ่งเป็นสำนักข่าวอิสระที่คอยให้บริการข่าวรายวันและเหตุการณ์ทั่วโลกโดยเฉพาะการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน ออกอากาศทั่วประเทศซูดานใต้ และในประเทศข้างเคียง
เอกสารฉบับดังกล่าวทำการสืบสวนกรณีการอนุมัติสัญญาก่อสร้างถนนไฮเวย์ในเมืองหลวง Juba และอีกหลายๆ เมืองในประเทศของบริษัท ABMC Thai-South Sudan Construction Company Limited ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2015
( นาย Benjamin Bol Mel ประธานบริษัท ABMC Thai-South Sudan Construction Company Limited / ภาพจาก radio tamazuj)
การสืบสวนเริ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลเซาท์ซูดาน โดยกระทรวงโยธาธิการ( Ministry of Roads and Bridges) ได้อนุมัติงบประมาณ 161 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับบริษัท ABMC ซึ่งขณะนั้นมีรายงานว่าประธานาธิบดี Salva Kiir เป็นหุ้นส่วนสำคัญ แม้ว่าในภายหลังทางโฆษกประธานาธิบดีจะออกมาปฏิเสธเช่นเดียวกับกรณีล่าสุดของสหรัฐฯ ว่านาย Kiirไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ รวมถึงยืนยันว่าท่านผู้นำไม่มีแม้กระทั่งบัญชีธนาคารส่วนตัว ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ป.ป.ช.ของเซาท์ซูดาน (Anti-Corruption Commission )
แต่การผลการสืบของ Tamazuj กลับพบว่า มีคนในรัฐบาลหลายคนมีส่วนพัวพันในบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายนี้ ในรายละเอียดระบุว่า ลูกชายของประธานาธิบดี นาย Manut และอดีตเลขา นาย Akot Lual ในชื่อในบริษัทดังกล่าว ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ห้ามข้าราชการระดับสูงหรือคนในรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือหาผลประโยชน์จากธุรกิจอื่นๆภายนอก
(ประธานาธิบดี Salva Kiir/ภาพจาก รอยเตอร์)
การสืบสวนครั้งใช้เวลาหลายเดือน โดยได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวภายในบริษัท ABMC ยืนยันชัดว่าประธานาธิบดีมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน แม้ว่าจะไม่สามารถนำเอกสารการถือหุ้นหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาได้ นอกจากนี้มีรายงานจากคนสนิทของประธานบริษัทว่า ABMC ได้รับงานดูแลด้านเกษตรกรรมในฟาร์มส่วนตัวของประธานาธิบดีที่เมือง Luri ในรัฐ Equatoria โครงการนี้ดำเนินการโดย ABMC ผ่าน บริษัทในเครือชื่อ Garden of Eden ซึ่งได้มีการอธิบายไว้ในเอกสารส่งเสริมการขายของ ABMC ว่าในฐานะ "บริษัทน้องสาว (a sister company)” และ "โครงการของ ABMC”
ทั้งนี้ เมือง Luri เป็นเมืองทางตะวันออกของ Juba และที่ดินของฟาร์มดังกล่าว ถูกเสนอให้ประธานาธิบดีแบบฟรีๆ โดยประธานชุมชน Tokiman นาย Daramollo โดยนาย Kiir ได้ตอบแทนความมีน้ำใจนี้ด้วยการมอบ รถยนต์ และที่สำคัญในการสืบสวนพบว่า ลูกสาวของ นาย Kiir(ประธานาธิบดี) ได้รับที่ดินแปลงใหญ่ในการขายหน้าดินและเหมืองกรวดเพื่อนำไปสร้างถนน (เนื่องจากที่เซาท์ซูดานนิยมใช้กรวดในการสร้างถนน) สร้างความร่ำรวยมหาศาล นอกจากนี้ครอบครัวนาย Kiir ยังเอาที่ดินผืนนั้นหาผลประโยชน์มากมายรวมไปถึงการสร้างบ้านจำนวนมาก
ขณะที่แหล่งข่าวในรัฐบาลออกมาโต้ว่าโครงการฟาร์มใน เมือง Luri นั้น เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชาติ เพื่อลดการพึ่งพาจากภายนอก โดยเฉพาะในเรื่องอาหาร ด้านโฆษกส่วนตัวก็ออกมาปฏิเสธว่าท่านประธานาธิบดีไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยตามที่ถูกกล่าวหา ไม่มีโปรเจ็กต์บ้าน หรือเหมืองกรวดเลย มีเพียงคอกวัวและการปศุสัตว์ใน Luri เท่านั้น ซึ่งตอนนี้ก็ได้ย้ายออกไปแล้ว
แหล่งข่าวอีกฝั่งให้การณ์ว่า ประธานาธิบดีมีส่วนเกี่ยวข้องในบริษัท ABMC มากกว่าแค่เรื่องของฟาร์ม เขายืนยันว่านาย Kiir คือหุ้นส่วนใหญ่ เพียงแต่ว่าไม่ปรากฏชื่อของเขา เพราะหุ้นทั้งหมดถูกถือด้วยชื่อคนอื่นนั่นเอง แม้จะไม่มีเอกสารใดๆ มายืนยันแต่หากดูจากพฤติการณ์อย่างการเปิดประมูลสัญญาก่อสร้างต่างๆ ของรัฐบาล เห็นได้ชัดว่า บริษัท ABMC Thai-South Sudan Construction Company Limited มักได้งานไปทุกที สะท้อนความเชื่อมโยงบางอย่าง
ลองมาดูพฤติกรรมน่าสงสัยที่ส่งผลต่อสถานะของทั้งตัวประธานาธิบดีและบริษัทก่อสร้างไทย เช่นกรณีที่รัฐบาลซูดานใต้อนุมัติเงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัญฯในการก่อสร้างถนนโดยที่ยังไม่ทราบราคาประเมินด้วยซ้ำ ในเอกสารส่งเสริมการขายของ ABMC ที่เผยแพร่ในปี 2012 บริษัทจะก่อสร้างถนนระยะทาง 55 ไมล์ของถนนในเมือง Juba มูลค่ากว่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯรวมถึงถนนในเมือง Bilpam, Gudele และ Munuki, สำหรับมูลค่ารวมอย่างน้อย 161ล้านเหรียญสหรัฐ
บริษัท ABMC Thai-South Sudan Construction Company Limited มีสำนักงานอยู่ที่เมือง Juba และ Luri ใน รัฐ Central Equatoria โดยมีคนงานทั้งไทยและซูดาน บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 ภายหลังจากข้อตกลงสันติภาพ โดยบริษัท ABMC โฆษณาว่าเป็นผู้รับเหมาที่ใช้เครื่องมือและวิศวกรระดับโลก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทมีการกระจายการลงุทนไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม การแปรรูป
โดยในช่วงปีแรกๆ ของการก่อตั้ง รัฐบาลซูดานใต้ซึ่งมีเงินทุนหลายพันล้านจากการขายน้ำมัน รัฐทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการสร้างถนนในประเทศ ในรายงานโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของซูดานใต้ ของธนาคารพัฒนาแอฟฟริกา (Africa Development Bank) ได้คาดการณ์ว่ารัฐบาลได้ใช้เงินมากถึง 165 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี ในการสร้างถนนในช่วงปี 2009-2011 นอกจากนี้ยังมีเงินสนับสนุนภายนอกอีกราวๆ 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ช่วงปี 2010-2012 บริษัท ABMC เติบโตอย่างมาก โดยในตอนนั้นบริษัทได้สัญญาก่อสร้างไฮเวย์มูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญ เป็นเมกกะโปรเจ็คของรัฐบาลที่จะสร้างถนนไปเชื่อมกับชายแดนเอธิโอเปีย แต่แล้วเหมือนจะมีฝันร้ายเมื่อรัฐบาลซูดานใต้ต้องปิดการขายน้ำมันลงในเดือนมกราคม ปี 2012 หลังมีปัญหาเรื่องการท่อส่งกับเพื่อนบ้านคู่อริอย่างประเทศซูดาน แต่ถึงจะขาดเงินทุนก้อนใหญ่ รัฐบาลซูดานใต้ยังคงทุ่มเงินในการสร้างถนน โดยเงินที่เอามาใช้นั้นมาจากการกู้ยืมจากต่างประเทศ
แต่ในที่สุดเมื่อรัฐบาลเริ่มถังแตก ไม่มีแหล่งทุนเหมือนแต่ก่อน สภาพคล่องในการใช้จ่ายไปยังโครงการต่างๆ ที่ยังไม่เสร็จเริ่มติดๆ ขัดๆ รวมไปถึงโปรเจ็คต์ใหญ่ที่ ABMC ดูเเล ก็เริ่มขาดเงิน บริษัทเริ่มไม่จ่ายเงินให้กับคนงานไล่ตั้งแต่กลางปี 2013 จนสิ้นปี โดยในเดือน ตุลาคม 2013 ว่า บริษัทออกมาแถลงว่ากำลังประสบกับความยากลำบากแต่ "กำลังฟื้นตัว
(ข่าวการไม่จ่ายเงินให้กับลูกจ้างในไนโรบี เคนยา ของ ABMC ซึ่งเป็นผลพวงเดียวกัน)
การรอฟื้นตัวครั้งนี้ดูท่าจะกินเวลา เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในหลายพื้นที่ทั้งในประเทศและประเทศข้างเคียง ยิ่งส่งผลให้เงินในกระเป๋าของรัฐขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ในกฎหมายป้องกันและปรายปรามการทุจริตปี 2009 และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของซูดานใต้ในปี 2011 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงรวมถึงประธานาธิบดีต้องเปิดเผยรายได้สินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นความลับรวมทั้งคู่สมรสและบุตร โดยกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลายอย่างรวมถึงการออกมาตรการเพื่อกีดกันเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการหาผลประโยชน์ผ่านบริษัทที่พวกเขาเป็นหุ้นส่วนอยู่ โดยที่ข้าราชการระดับสูงแสดงบัญชีทรัพย์สินทุกปีต่อ ป.ป.ช.ซูดานใต้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีงบประมาณ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญของประเทศซูดานใต้ห้ามไม่ให้ประธานาธิบดีทำธุรกรรม หรือธุรกิจหรือรับรายได้จากแหล่งอื่นนอกเหนือจากรัฐบาล ตลอดช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่ง
ทางสำนักข่าว Tamazuj ที่ทำการสืบสวนอย่างหนักพบว่า ในปี 2012 ภายหลังประธานาธิบดีได้แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กลับไม่มีระบุอะไรเลยในตลอดสามปีที่รับตำแหน่ง ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวในกระบวนการต่อต้านทุจริต โดยโฆษกระบุว่า ท่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในธุรกิจเอกชน รวมถึงไม่มีบัญชีทรัพย์สินส่วนตัว บัญชีธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ไม่มี จึงไม่มีอะไรต้องแสดง
เมื่อสื่อมวลชนถามถึงกรณีที่มีข้อมูลว่าลูกชายของท่านประธานาธิบดีและอดีตเลขาฯมีส่วนร่วมในบริษัท ABMC ทางโฆษกตอบกลับเพียงว่า ทั้งหมดเป็นแค่ข่าวลือ ไม่มีมูลความจริง
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวความทับซ้อนของผลประโยชน์ภายในบริษัท ABMC Thai-South Sudan Construction Company Limited บริษัทรับเหมาก่อสร้างไทยในซูดานที่ถูกสหรัฐฯลงโทษฐานคอร์รัปชั่น และข้อหาวิบากกรรมที่เผชิญมาโดยตลอดจากการเกี่ยวพันกับประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในประเทศเกิดใหม่อย่าง ซูดานใต้