เจาะข้อมูล ศก.ครัวเรือนภาคเกษตร พบ 20 ปี คนจนลดเหลือ 5 ล้านคน-เชื่อมั่นปี 61 รายได้เพิ่มอีก
เจาะข้อมูลเศรษฐกิจครัวเรือนภาคเกษตร สศก. ระบุเกษตรกรรายได้เพิ่ม สัดส่วนคนจนลด แนวโน้มปี 61 คาดรายได้เงินสดสุทธิเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2.5%
การออกมายอมรับของผู้นำประเทศ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี ผ่านรายการศาสตร์พระราชา ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2560 ถึงการแก้ปัญหาความยากจนของผู้มีรายได้น้อย ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกมานาน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องขับเคลื่อนพร้อมกันในหลายด้านไปพร้อม ๆ กัน
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในจำนวนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุจะสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้ จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและชุมชน ยกระดับเป็นสมาร์ม ฟาร์มเมอร์ พึ่งพาตนเองได้ และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงการทำเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ ยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ ส่งเสริมเอสเอ็มอี ตลอดจน สร้างช่องทางเชื่อมโยงกับธุรกิจ เช่น ตลาดประชารัฐ ตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น รวมถึงการส่งเสริมเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปีเพาะปลูก 2559/2560 ของสำนักงานงานวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดทางการเกษตร 160,932 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 2.34 จากผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพืช เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ โคเนื้อ น้ำนมดิบ รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการแปรรูปผลผลิตที่ผลิตและการจำหน่ายผลผลิตพลอยได้ในฟาร์มที่เพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่รายได้เงินสดนอกการเกษตรต่อครัวเรือนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 148,346 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 3.60 จากกิจกรรมสำคัญนอกภาคการเกษตรที่สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน เช่น เงินเดือน กำไรจากการค้าขาย การรับจ้างและให้บริการของสมาชิกในครัวเรือน
ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดทั้งปี 2560 รวม 309,278 บาท/ครัวเรือน
ขณะที่ครัวเรือนเกษตรมีรายจ่ายเงินสดทางการเกษตร 101,957 บาท/ครัวเรือน ขยายตัวจากปี 2559 ร้อยละ 1.52 เป็นผลมาจากค่าจ้างแรงงานและราคาปัจจัยการผลิต/วัสดุอุปกรณ์การเกษตรที่เพิ่มขึ้น และรายจ่ายเงินสดนอกการเกษตร (ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของครัวเรือน) ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 4.51 เหลือเพียง 141,221 บาท/ครัวเรือน โดยเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลงถึงร้อยละ 10.38
ทั้งนี้ เมื่อนำรายได้มาหักค่าใช้จ่ายแล้วส่งผลให้เงินสดคงเหลือครัวเรือนเกษตรก่อนชำระหนี้ ขยับมาขึ้นอยู่ที่ 66,100 บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.41 ขณะที่ หนี้สินครัวเรือนเกษตรอยู่ที่ 123,454 บาท/ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 0.62 โดยหนี้สินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการหมุนเวียนเพื่อทำการผลิตทางการเกษตร
สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตรปีเพาะปลูก 2560/61 ซึ่งประเมินและวิเคราะห์จากข้อมูลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คาดว่ารายได้เงินสดสุทธิครัวเรือนเกษตรจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 และครัวเรือนเกษตรจะมีเงินสดคงเหลือก่อนหักชำระหนี้สูงถึง 71,443 บาท/ครัวเรือน
สำหรับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคเกษตรในช่วงปี 2539-2559 มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนรายได้ทั้งหมดในภาคเกษตรที่เกษตรกรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด (ร้อยละ 20) มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.74 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 5.33 ในปี 2559 ขณะที่เกษตรกรในกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด (ร้อยละ 20) มีสัดส่วนรายได้ลดลงจากร้อยละ 58.75 ในปี 2553 เหลือเพียงร้อยละ 53.23 ในปี 2559
ทั้งนี้ จากสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของเกษตรกรกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด ส่งผลให้จำนวนคนจนในภาคเกษตรลดลงถึง 14.329 ล้านคน จากในปี 2539 ภาคเกษตรมีคนจนอยู่สูงถึง 19.443 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 72.00 ของประชากรภาคเกษตร
แต่ในปี 2559 ภาคเกษตรกลับมีจำนวนคนจนลดลงเหลือเพียง 5.114 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 21.67 ของประชากรภาคเกษตรเท่านั้น
สศก. ระบุ เเนวโน้มที่ดีขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแผนงานโครงการต่าง ๆ ด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐที่ผ่านมาได้มีส่วนสนับสนุนให้การพัฒนาการเกษตรของประเทศมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตัวเองได้และมีรายได้ที่มั่นคง .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ juventudesocialista.org