คปท.จี้รัฐแก้ปัญหาที่ดินชาวบ้านให้เป็นรูปธรรมปี 54 คดีคนจนยังแรง
เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน สรุปผลการแก้ปัญหาที่ดินทำกินชาวบ้านปี 53 ของรัฐบาล ชี้โฉนดชุมชนนโยบายเปิด แต่หลายพื้นที่ยังติดปัญหากระทรวงหลัก โดยเฉพาะ ทส. ด้านคดีความชาวบ้านกับรัฐยังแรง เตรียมผลักดันนิรโทษกรรม ให้ชาวบ้านร่วมสถาบันธนาคารที่ดินงบ 5 พันล้าน และคลอดภาษีที่ดินรัฐบาลนี้
วันที่ 24 ธ.ค. 53 เครือข่ายปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) เปิดเผยถึงผลการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเกษตรกร และนโยบายกระจายการถือครองที่ดินในสังคมไทย ปี 2553 โดยมีสาระสำคัญคือ จากการที่ คปท.ได้ร่วมกันชุมนุมให้รัฐบาลดำเนินนโยบายกระจายการถือครองที่ดินและแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระหว่าง คปท. และรัฐบาล ซึ่งมีทั้งหมด 10 ชุด จำนวน 20 ครั้ง ในจำนวนนี้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของ คปท. ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 2 ครั้ง รวมทั้งมีการชุมนุมกดดันอีกทั้งหมด 6 ครั้ง
โดยในรอบปีที่ผ่านมาหลายเรื่องมีความคืบหน้า แต่สังคมยังไปไม่ถึงการกระจายการถือครองที่ดิน แม้จะมีการรับรองสิทธิชุมชนด้วยนโยบายโฉนดชุมชน แต่ยังไม่มีการส่งมอบพื้นที่จากหน่วยงานเจ้าของที่ดิน ในขณะที่คดีความที่เกิดขึ้นกับสมาชิก คปท. ยังคงเข้มข้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ฟ้องขับไล่ชาวบ้านคอนสาร 31 ราย ซึ่งกำลังจะมีการบังคับคดี ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า, คดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ฟ้องชาวบ้าน จ. เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และตรัง ข้อหาทำให้โลกร้อน 34 ราย, คดีนายทุนสวนปาล์มฟ้องชาวบ้าน จ.สุราษฎร์ธานี 27 ราย และคดีนายทุนออกเอกสารสิทธิไม่ชอบและปล่อยทิ้งร้าง ฟ้องชาวบ้าน จ.ลำพูนและเชียงใหม่ 128 ราย
สำหรับกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ถูกผลักดันให้เดินหน้า แต่ไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงได้ ได้แก่ การนำที่ดินสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) 7,500 ไร่ มาปฏิรูปให้ชาวบ้านที่ จ.สุราษฎร์ธานี ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาการโต้แย้งสิทธิที่ดินระหว่าง ส.ป.ก.กับบริษัทรวมชัยบุรีปาล์มทอง แม้ได้ฟ้องร้องคดีความและศาลตัดสินให้จ่ายค่าปรับแล้ว 70,000 บาท, การแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ภาคอีสาน มีมติในระดับจังหวัดให้เพิกถอนที่ดินดังกล่าว แต่ยังต้องรอกระบวนการนำมติเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.), ปัญหาที่ดินราชพัสดุ มีมติ ครม.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากกระทรวงการคลังให้กับสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จ.นครปฐมแล้ว แต่ชาวบ้านต้องหางบประมาณ 29 ล้านบาทที่ต้องจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะจากการประเมินราคาที่ดิน และต้องผลักดันเข้า ครม.อีกรอบก่อนสิ้นปีนี้
ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ มีการเจรจาแก้ไขปัญหาในที่ดินเอกชนไม่ให้บังคับคดีเพราะอยู่ในระหว่างจัดหาที่ดิน รวมถึงมีมติ ครม.เรื่องกองทุนเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 6 พันล้านบาท และกฎกระทรวงยกเว้นผ่อนผันการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถปลูกสร้างบ้านในพื้นที่ขนาดเล็กได้, นโยบายกระจายการถือครองที่ดิน หลังจากที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีโฉนดชุมชนประกาศใช้ มีชุมชนที่มีความพร้อมผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน(ปจช.) จำนวน 35 แห่ง ทั่วประเทศ และเมื่อวันที่ 14 ธ.ค ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน) ซึ่งมีหน้าที่จัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมรวมทั้งจัดทำร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดิน
ทั้งนี้ สิ่งที่ คปท.จะต้องผลักดันและติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติและเกิดประโยชน์กับชาวบ้านจริง ได้แก่ โฉนดชุมชนที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เนื่องจากข้อติดขัดในกฎหมายที่มีโดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.), การผลักดันสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ที่ควรมีสัดส่วนของภาคประชาชนและคนไร้ที่ดินร่วมทำงานด้วย และควรมีงบประมาณเริ่มต้นจากรัฐบาลไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท
การผลักดันพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้สามารถคลอดได้ในรัฐบาลปัจจุบัน และผลักดันงบประมาณสำหรับซื้อที่ดินเอกชนทิ้งร้างที่ได้อนุมัติในหลักการแล้ว 167 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้นำเสนอเข้าสู่ ครม., ด้านคดีความที่ดินคนจน ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่า หากอยู่ในชั้นสวบสวนและอัยการต้องชะลอการสั่งฟ้อง เนื่องจากอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และถ้าอยู่ในขั้นการพิจารณา ควรจำหน่ายคดีชั่วคราว หากต้องโทษ ควรมีการพักโทษ และหากอยู่ในขั้นการบังคับคดี ควรงดการบังคับคดี เพราะเป็นการรังแกและคุกคามเกษตรกร คนจน และผู้ด้อยโอกาสทางสังคมโดยอำนาจรัฐ
ทั้งนี้ ในเรื่องการจำกัดการถือครองที่ดิน, การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครองที่ดิน และการรับรองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ จะยังคงเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องคงไว้เป็นวาระแห่งชาติที่ทาง คปท.จะผลักดันและขับเคลื่อนต่อไป.