เช็คชื่อ ขรก.-นักการเมืองดัง ใครถูกป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหาพ้นบ่วงทุจริต-คดีอะไรบ้าง?
เจาะฐานข้อมูลสอบ ป.ป.ช. เช็ค'ขรก.-นักการเมืองดัง' ใครบ้างถูกตีตกข้อกล่าวหาทุจริต-คดีอะไรบ้าง? เผยชื่อ พล.อ.เสถียร -สุนัย -หมอวิทิต-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์' ด้วย
รองศาสตราจารย์ ช่วงโชติ พันธุเวช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ นายธวัชชัย ภักดีไทย อดีตนายกเทศมนตรีตำบลตระการพืชผล พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่เทศบาล นางวริทธิ์ฐา ผาสุขนนทินิตย์ ผู้อำนวยการกองคลัง นางสาวพัชรี อินทร์ภูมี เจ้าหน้าที่ธุรการ เทศบาลตำบลตระการพืชผล มิใช่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหาไป เนื่องจากผลการตรวจสอบไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาจึงถือว่าไม่มีมูล (อ่านประกอบ : อดีตอธิการฯสวนสุนันทา-นายกฯตระการพืชผลพ้นบ่วง! ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหาคดีทุจริต)
หากแต่ยังมีข้าราชการ และนักการเมืองชื่อดัง อีกหลายราย ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติ ตีตกข้อกล่าวหาคดีทุจริตไปก่อนหน้านี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลรายชื่อ คดีที่ถูกกล่าวหา และมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. มานำเสนอ ณ ดังนี้
@ นายสุนัย มโนมัยอุดม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ นายพรชัย อัศววัฒนาพร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ถูกกล่าวหา เป็นข้าราชการผู้มีสิทธิได้รถยนต์ประจำตำแหน่ง และได้เลือกรับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถยนต์ประจำตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายยังใช้รถยนต์ส่วนกลางของกรมสอบสวนคดีพิเศษเสมือนเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งในการเดินทางไปปฏิบัติราชการ การเดินทางไป-กลับ ระหว่างที่พักและสถานที่ทำงาน และการเดินทางไปกิจธุระส่วนตัวหลังเลิกงาน
มติ ป.ป.ช. : ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายสุนัย มโนมัยอุดม และนายพรชัย อัศววัฒนาพร ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ พลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม
ถูกกล่าวหา : รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา และนำความลับของทางราชการ หรือข้อมูลการดำเนินการ และการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล รวมถึงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหมคนใหม่ไปเปิดเผยกับบุคคลภายนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานราชการทหารให้รับทราบโดยที่กระบวนการดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล พ.ศ. 2551
มติ ป.ป.ช. : ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังฟังไม่ได้ว่า พลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กับครม.บางส่วน
ถูกกล่าวหา : กรณีเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นคู่สัญญาในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
มติ ป.ป.ช. : จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายโสภณ ซารัมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ นายแพทย์ วิทิต อรรถเวชกุล ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัขกรรม และ นายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม
ถูกกล่าวหา : กรณีทุจริตในการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราเซตามอล
มติ ป.ป.ช. : จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า นายแพทย์ วิทิต อรรถเวชกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
ถูกกล่าวหา : กรณีไม่ดำเนินการต่อกรณีที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ให้กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G โดยใช้ความถี่ 800 MHz โดยมิชอบ
มติ ป.ป.ช. : จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ อดีตผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติและคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการบ้านเอื้ออาทร นายคุโณดม ธรรมาภรณ์พิลาศ นายสมชาย ชิโนดม นางวรานุช หงสประภาส นายอำนาจ โชติชัย นายสรวุฒิ ตังกาพล ในฐานะคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการบ้านเอื้ออาทร นายพรศักดิ์ บุญโยดม ผู้ว่าก กคช. นายวิศิษฐ์ วงศ์มาศา รองผู้ว่า กคช (ตำแหน่งในขณะนั้น)
ถูกกล่าวหา : อนุมัติจัดซื้อที่ดินโครงการบ้านเอื้ออาทรหาดใหญ่ (การนิคมอุตสาหกรรมฉลุง) จังหวัดสงขลา ในราคาที่สูงเกินจริง
มติ ป.ป.ช. : จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการบ้านเอื้ออาทร กับพวก รวม 6 คน ได้อนุมัติจัดซื้อที่ดินโครงการบ้านเอื้ออาทรหาดใหญ่ (การนิคมอุตสาหกรรมฉลุง) จังหวัดสงขลา ในราคาที่สูงเกินจริง ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ นายโสภณ ซารัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีอำนาจกำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีอื่น ในคณะรัฐมนตรี (ตำแหน่งในขณะนั้น)
ถูกกล่าวหา : กรณีมีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นคู่สัญยาในโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
มติ ป.ป.ช. : จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายโสภณ ซารัมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
@ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ถูกกล่าวหา : มีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8
มติ ป.ป.ช. : จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช 0028/0053 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2554 กราบเรียนนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ผู้ถูกกล่าวหา เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ผู้ถูกกล่าวหามีบัญชาให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบตามมาตรา 103/8 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 โดยจัดเข้าวาระการประชุมในวันที่ 13 ธันวาคม 2554 และคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันดังกล่าว ได้พิจารณาความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาประกอบ แล้วมีมติให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ให้สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้ และความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จะต้องไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน ประกอบด้วย สำนักงาน ป.ป.ช. จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช 0028/0015 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 กราบเรียนนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 โดยยืนยันว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง
หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/6806 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2555 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวและมีความเห็นปรากฏตามเรื่องเสร็จที่ 663/2555 สรุปได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งได้ สิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงมาตรการ ที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 19 (11) เท่านั้น ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาวิธีการแนวทางในการปฏิบัติเพื่อตอบสนองมาตรการในการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และหลังจากได้เข้าหารือร่วมกับทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการตามที่กระทรวงการคลังกำหนดและแนวทางการเปิดเผยราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นที่มิใช่งานก่อสร้างตามมติที่ประชุมหารือระหว่างกระทรวงการคลังและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีความพร้อมให้ดำเนินการได้ทันที ส่วนหน่วยงานใดที่ยังไม่มีความพร้อมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554มาตรา 103/8 วรรคหนึ่ง
@ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย , นายมานิต วัฒนเสน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย และ นายวิเชียร ชวลิต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย
ถูกกล่าวหา : กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ด้วยการย้าย นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ จากอธิบดีกรมการปกครอง ไปเป็นผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย โดยมิชอบ และไม่เสนอแต่งตั้งนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม
มติ ป.ป.ช. : วินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป เนื่องจากเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ว่าจากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่านายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายมานิต วัฒนเสน และนายวิเชียร ชวลิต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
---------
ทั้งหมดนี่ เป็นตัวอย่างรายชื่อข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองชื่อดัง ที่ถูกป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหาในคดีต่างๆ ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้มีผู้ถูกกล่าวหาบางราย ที่ถูกกล่าวหามากกว่า 1 คดี แม้จะถูกตีตกคดีในส่วนนี้ไปแล้ว แต่คดีส่วนอื่นก็ถูกตัดสินลงโทษชี้มูลความผิดไป รวมไปถึงการเสนออายัดทรัพย์ ปัจจุบันเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิต่อสู้คดีเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาลอยู่
ขณะที่ผู้ถูกล่าวหาบางรายก็หลบหนีออกจากประเทศไปแล้ว!