สนช.ถล่มหนัก! กมธ.ข้างมากป.ป.ช.ยอมถอนดักฟัง
ประชุมวันนี้! กมธ.ข้างมากยอมถอน ดับฝันป.ป.ช.ดักฟัง หลังโดน "สนช." ถล่มหนัก
วันที่ 22 ธ.ค. 2560 ที่รัฐสภา เวลา 09.00 น.ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วาระ2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาเสร็จแล้ว ต่อจากเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยการพิจารณายังอยู่ที่มาตรา 37/1 ที่คณะกรรมาธิการฯร่างขึ้นมาใหม่ทั้งมาตรา ซึ่งเพิ่มอำนาจให้ป.ป.ช.สามารถดักฟังข้อมูลได้
โดยนายสุรชัย ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้มี 3 กลุ่มคือ กรรมาธิการเสียงข้างมาก กรรมาธิการเสียงข้างน้อยและสมาชิก ที่อภิปรายในประเด็น ดังนั้นตนจึงจะให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มอภิปรายสรุปแต่ละครั้ง
นายภัทระ คำพิทักษ์ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ป.ป.ช.เสนอกฎหมายให้อำนาจป.ป.ช.ดักฟัง ซึ่งละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยป.ป.ช.อ้างว่าเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ ข้อที่ 50 ที่จะต้องทำ แต่ข้อที่ 50 จะต้องดูที่พื้นฐานและอยู่ภายใต้กฎหมายแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานที่ดักฟังอยู่แล้ว สิ่งที่น่าวิตกคือ หากใช้กฎหมายแล้วถูกครอบงำใช้อำนาจไปทำลายล้างการเมืองและเรื่องส่วนตัว และข้อกำหนดในมาตรา 37/1 ด้วยเหตุผลของเสรีภาพในการสื่อสารซึ่งเห็นหลักพื้นฐานของประชาชน แม้การดักข่าวสารเป็นวิธีการที่สืบสวนพิเศษที่ทำให้ได้พยานหลักฐาน แต่ ป.ป.ช. และกรรมาธิการเสียงข้างมาก ปฏิเสธที่จะกำหนดการถ่วงดุลอำนาจของ ป.ป.ช. ลงในกฎหมายไปด้วย เช่น กฎเกณฑ์ในการขออนุญาตต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อดักฟังไม่ชัดเจน ระบุไว้เพียงว่า เป็นเหตุอันควรเชื่อ ซึ่งเป็นดุลยพินิจ ไม่ได้ระบุวิธีการรับผิดชอบหากดักฟังผิดคนไม่มีการระบุวิธีการทำลายข้อมูลที่ดักฟัง ไม่ระบุรายละเอียดของรายงานที่ต้องยื่นต่อศาลหลังมีการเข้าถึงข้อมูล อีกทั้งระยะเวลา 90 วันที่จะต้องยื่นรายงานนานเกินไป และไม่ระบุเงื่อนไขอื่นๆตามหลักการสากลเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายในต่างประเทศอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังกำหนดให้รายงานผลการดักฟังภายใน 10 วัน
ผลงานชิ้นโบว์แดงของป.ป.ช.ที่ผ่านมา คือ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ป.ป.ช.ทำ จับคนทุจริต ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ มาลงโทษได้ โดยปราศจากเครื่องมือดักฟัง แต่ป.ป.ช.ก็สามารถทำได้ นายภัทระ กล่าว
นายภัทระ กล่าวต่อว่า หลักการเดิมที่เป็นหัวใจของกฎหมาย ป.ป.ช. คือการถ่วงดุลอำนาจ โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบ ป.ป.ช.ก็ได้ แต่ถูกถอดออกจากร่างกฎหมายฉบับนี้ไปแล้ว ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จึงให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ ป.ป.ช. จนเกินไป ซึ่งในอนาคตอาจถูกใช้เป็นเป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่งทางการเมือง หรืออาจถูกยุบ ควบรวมกับหน่วยงานอื่นเนื่องจากมีอำนาจมากจนเป็นภัยต่อรัฐบาล และเห็นว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ ไม่ใช่หน่วยงานสืบสวนเบื้องต้น
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ในฐานะตัวแทนกรรมาธิการเสียงข้างมาก อภิปรายยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนเนื่องจากอำนาจดังกล่าวเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ป.ป.ช.ในการปฎิบัติหน้าที่ที่เข็มแข็ง ป.ป.ช.ก็ต้องแสวงหาเครื่องมือใหม่มาใช้ให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้องเองก็สามารถร้องคัดค้านได้ตลอดเวลาทุกขั้นตอน อีกทั้งเหตุอันควรในการยื่นขอเข้าถึงข้อมูล ไม่ใช่ดุลยพินิจของคนๆเดียว แต่ต้องเป็นมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบพนักงาน ป.ป.ช.อยู่แล้ว ซึ่งป.ป.ช.ไม่ใช่องค์กรกึ่งตุลาการ ดังนั้นสมาชิกสนช.กรุณามองประเด็นที่เราเอากฎหมายจริงๆมาเสนอ แต่จะให้หรือไม่ขอให้เป็นดุลพินิจของท่าน
ด้านนายตวง อันทะไชย สนช. กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานอื่นต้องการอำนาจเช่นเดียวกับ ป.ป.ช. และมาขอสภา โดยอ้างว่าเพื่อให้ตัวเองทำงานได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพเกิด ถามว่าจะปฏิเสธได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหัวใจสำคัญของความขัดแย้ง คือ สังคมไม่เชื่อใจกัน และหวาดระแวง ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร หัวใจของความขัดแย้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549-2557 คือ สังคมไม่เชื่อใจ ความหวาดระแวง และขณะนี้เรากำลังจะเติมเชื้อและนำสู่วิกฤตอีกครั้ง เพราะมาตรา 37/1 คือการให้อำนาจคนคนเดียวละเมิดสิทธิใครก็ได้ จะทำให้เกิดการทุจริตแบบซับซ้อน อำนาจอยู่ที่ใครแล้วปราศจากการถ่วงดุลก็จะทำทุจริตเสียเอง ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ใช่ใช้เครื่องมือนี้อย่างเดียวเท่านั้นแต่มีวิธีอื่นอีกมากมาย ดังนั้น หวังว่าสภาจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในการออกปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ด้านพล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ ประธานกมธ. กล่าวว่า การดักฟังถือเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็น แต่กมธ.ไม่ต้องการให้สภาเสียเวลากับปัญหาดังกล่าว และเห็นว่าเวลายังไม่เหมาะสม จึงขอถอนมาตรา 37/1 รวมถึงมาตรา 37/2 และมาตรา 37/3 ออกไป ประกอบกับที่จะมีแนวคิดแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งจะมีประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว และเมื่อถอนมาตราดังกล่าวออกไป ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญอยู่ในคำปรารถ จึงขอให้ตัดออกจากร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ออกไปด้วย