จับตา! อาจารย์มหาวิทยาลัย ฮือรวมพลขอขึ้นเงินเดือน8%
จับประเด็นร้อน! จับตา อาจารย์มหาวิทยาลัย ฮือรวมพลขอขึ้นเงินเดือน8% เหตุรับเงินเดือนน้อยว่าข้าราชการครูระดับประถมและมัธยมเสียอีก โดยปัญหานี้ยืดเยื้อมานานถึง 8 ปีแล้ว
ปัญหาในแวดวงการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่เครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัยจัดประชุมเสวนาเพื่อเรียกร้องขอให้รัฐบาล “คืนการขึ้นเงินเดือนในอัตรา 6% ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัย” เมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ถึงวันนี้ต้องบอกว่าปัญหาเก่าก็ยังค้างคาอยู่ เพราะยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ยังมีปัญหาใหม่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เกิดขึ้นอีกระลอก
กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวขอขึ้นเงินเดือน 6% ก่อนหน้านี้ คือ กลุ่มอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีสถานะเป็น “ข้าราชการ” แต่กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวใหม่ และจัดประชุมรวมพลครั้งใหญ่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศในวันนี้ คือกลุ่มที่มีสถานะเป็น “ข้าราชการ” ตามกฎหมายข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
จุดประสงค์ของการออกมาเรียกร้อง ก็เพื่อให้รัฐบาลปรับเงินเดือนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยในอัตรา 8% หลังมีความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนระหว่างอาจารย์มหาวิทยาลัย กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กลายเป็นว่าในปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยรับเงินเดือนน้อยว่าข้าราชการครูระดับประถมและมัธยมเสียอีก โดยปัญหานี้ยืดเยื้อมานานถึง 8 ปีแล้ว
องค์กรที่เป็นแกนนำจัดกิจกรรมระดมพลอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ คือ ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) นัดรวมพลกันที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพณิชยการพระนคร ใกล้ๆ กับทำเนียบรัฐบาล
ภายในงานจะมีการปาฐกถาพิเศษ และเสวนาหาทางออก ก่อนจะเปิดแถลงข่าวและเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล และเดินทางต่อไปที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ด้วย
สำหรับสาเหตุของความเหลื่อมล้ำเรื่องเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยกับข้าราชการครู สืบเนื่องมาจากการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในอัตรา 8% เมื่อวันที่ 31 มี.ค.54 ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งพยายามผลักดันให้ขึ้นเงินเดือนครูด้วยเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากใกล้เลือกตั้ง
แต่การขึ้นเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในครั้งนั้น ไม่รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาด้วย ทำให้ส่วนต่างเงินเดือนของข้าราชการทั้งสองกลุ่มอยู่ที่ 2,940 บาท
หลังจากนั้นได้มีการปรับเงินเดือนให้กับข้าราชการพลเรือนทุกประเภทอีก 5% ซึ่งทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ได้รับเท่าๆ กัน ทำให้เงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา ยกตัวอย่างครูชำนาญการพิเศษ คศ.3 พุ่งไปที่ 42,330 บาท ขณะที่เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัย ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ อยู่ที่ 39,500 บาท ส่วนต่างอยู่ที่ 2,830 บาท เป็นต้น
แม้ต่อมาจะมีการขึ้นเงินเดือนข้าราชการทุกกลุ่มต่อเนื่องมาทุกปี แต่เมื่อฐานเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษาสูงกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเงินเดือนยังคงอยู่ และมีทีท่าว่าจะถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญหา “สมองไหล” อาจารย์มหาวิทยาลัยพากันหนีไปสอบบรรจุครูสายสามัญ เพราะมีทั้งเงินเดือนที่สูงกว่า และมีสวัสดิการต่างๆ ครบเหมือนข้าราชการทั่วไป
ที่ผ่านมา ทปสท. ได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้มาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงนัดรวมตัวครั้งสำคัญในวันนี้ (22 ธ.ค.) เพื่อแสดงพลังและนำข้อเรียกร้องไปยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะมีอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งจากสถาบันที่เป็นส่วนราชการ และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจำนวน 78 สถาบันเข้าร่วม
ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ให้ข้อมูลว่า หากรัฐบาลเห็นชอบให้ปรับเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล, มหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ, และมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทั้งหมด รวม 78 แห่ง ซึ่งมีอาจารย์มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษารวมทั้งสิ้น 19,696 คน จะใช้งบประมาณราว 740 ล้านบาทเท่านั้น