สนช.ถกเดือด! ติดดาบ ปปช.ดักฟัง แฉยัดไส้ 'ฝาแฝด' อำนาจอำพราง-สะกดรอย
ไม่จบ! ถกกฎหมาย 'ปปช.' สนช.อภิปรายเดือด แฉ กมธ.หารือแค่ชั่วโมงเดียว ก่อนทำคลอดปมให้อำนาจดักฟัง ไม่ยอมศึกษาข้อดี-เสียให้รอบด้าน ซ้ำยังพ่วงซุก “ฝาแฝด” อำนาจการอำพราง-สะกดรอย แถมให้แบบฟูลออพชั่น ถามวันข้างหน้าถูกครอบงำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จี้ดูตัวอย่าง “ดีเอสไอ” ในอดีตที่ให้อำนาจจนล้นฟ้า สุดท้ายกลายเป็นเครื่องมือนักการเมืองจนป่วน ด้าน “วัชรพล-ชัชวาลย์” ประสานเสียงแถไม่ละเมิดสิทธิประชาชน
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย นายพีระศักดิ์ พิจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. ... โดยเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 ภายหลังจากที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในวาระแรก และมอบหมายให้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ไปดำเนินการพิจารณาแก้ไขจนเสร็จเรียบร้อย
สนช.ถกเดือด!กฎหมายปปช.ให้อำนาจดักฟัง
โดยในการประชุม ปรากกว่า กมธ. เสียงข้างน้อยและ สนช. หลายคนหลายคนได้ลุกขึ้นอภิปรายท้วงติงมาตรา 37/1 อย่างดุเดือด ในประเด็นการให้อำนาจ ป.ป.ช. สืบค้นข้อมูลโดยการดักฟังทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ต่างๆได้ เนื่องจากเป็นห่วงว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 36 จึงขอให้ กมธ. ตัดมาตรา 37/1 ทิ้ง
“วิชา”สับเละใช้อำนาจเกินขอบเขต
โดย นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. อภิปรายว่า อำนาจดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต เรียกร้องมากเกินไป อาจทำให้องค์กรสั่นสะเทือนได้ ยิ่งหากหลักฐานที่ได้มาไม่บริสุทธิ์ จะเป็นสิ่งที่ทิ่มตำทำลายผู้ที่นำหลักฐานนั้นมาใช้เอง เป็นห่วงว่า หากข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีหลุดออกไปอาจเป็นเครื่องมือนำไปใช้แบล็กเมย์ทางการเมืองกันได้ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ประเด็นนี้อ่อนไหวที่สุด ไม่ควรนำมาใส่เลย และต้องฟังเสียงประชาชนให้รอบด้าน ถ้าป.ป.ช.เป็นองค์กรที่น่าเคารพศรัทธา ข้อมูลจะหลั่งไหลมาเอง เป็นการได้ข้อมูลทางลัด
“การใช้มาตรา 37/1 เพื่อให้ได้ข้อมูลทางลับเป็นสิ่งต้องพึงระวัง ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้ว่า ศาลจะเชื่อหรือไม่ อาจทำให้ศาลกระอักกระอ่วน เพราะป.ป.ช.เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ” นายวิชา กล่าว
ถามถ้าปปช.ถูกครอบงำจะเกิดอะไรขึ้น
นายภัทระ คำพิทักษ์ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ป.ป.ช. พยายามเสนอหลักการนี้เข้ามา ถ้าสนช.เห็นชอบ จะสร้างประวัติศาสตร์ ยอมให้อำนาจนี้กับ ป.ป.ช. ทั้งนี้มาตรา 50 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต (UNCDC) จะระบุถึงเรื่องการให้ใช้มาตรการพิเศษในการตรวจสอบการทุจริต แต่ระบุเพียงว่า ให้ใช้อย่างเหมาะสม ภายใต้การควบคุมเท่านั้น น่าคิดว่า หากป.ป.ช.ได้อำนาจส่วนนี้ไปแล้วถูกครอบงำจะเกิดอะไรขึ้น
แฉทำคลอดแค่ชั่วโมงเดียว-ซุกปมอำพรางสะกดรอย
การพิจารณามาตรานี้ ใช้เวลาสั้นๆ ในชั้นกมธ.เพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก็เกิดมาตรา37/1 ขึ้นมา ยังไม่รวมถึงเรื่องอำนาจการอำพราง และสะกดรอย ที่เสนอเป็นฝาแฝดพ่วงมาด้วย ถือว่าการพิจารณายังไม่ละเอียดรอบคอบ
นายภัทระ กล่าวอีกว่า ขอยกตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ การใช้อำนาจดักฟังจะต้องมีน้ำหนักหลักฐานแน่นหนาทางคดี จึงจะดำเนินการได้ เช่น ตำแหน่งที่ดักฟัง รูปแบบการดักฟัง รายชื่อเป้าหมายการดักฟัง เหตุผลการดักฟัง และต้องเป็นเรื่องที่ไม่สามารถใช้กระบวนการสอบสวนทางปกติได้ ที่สำคัญต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่หลักเกณฑ์ของไทยมีรายละเอียดเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่แค่ตั้งข้อสงสัยก็ดักฟังกันได้แล้ว และข้อมูลที่ดักฟัง หากไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับคดีต้องถูกทำลายทันที ต่างจากมาตรการของไทยที่ไม่ได้ระบุชัดเจน จะทำลายข้อมูลเมื่อใด รวมทั้งต่างประเทศกำหนดให้ต้องรายงานเรื่องการดักฟังต่อศาลทุก 7-10 วัน ต่างจากของไทยที่พอได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ว จะมีเวลา 90 วันไปดำเนินการ แล้วจึงนำมารายงานต่อศาล และถ้าถูกดักฟังแล้ว แต่พบว่าไม่เข้าข่ายความผิด ผู้ถูกดักฟังต้องได้รับการแจ้งเตือนทันที และมีโอกาสฟ้องร้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้
สับเละเป็นภัยต่อประชาชน
นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า การให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊กได้เป็นภัยทางการเมืองต่อทุกคน อาจมีการดักฟังข้อมูลในทุกเรื่อง ถือว่าอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน หากยังเดินหน้าต่อไปจะมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอน
จี้ดูตัวอย่างให้อำนาจDSIจนเละเทะ
นายตวง อันทะไชย กล่าวเช่นกันว่า การออกกฎหมายใดๆต้องพึงระวังเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ อยากทราบว่าจะมีกลไกใดเข้าไปถ่วงอำนาจการสืบค้นข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊กได้ เพราะในอนาคตอาจมีการหยิบยกข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้มาอภิปรายทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองได้ เหมือนอย่างในอดีต ที่เคยให้อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ล้นฟ้า สุดท้ายกลับตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง นำมาใช้กลั่นแกล้งคู่ต่อสู้ทางการเมือง ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ
ประธานปปช.ยังแถไม่ละเมิดสิทธิ
ขณะที่ฝั่งกมธ.เสียงข้างมาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. อภิปรายว่า การใช้คำว่าดักฟังเป็นการสร้างภาพที่น่ากลัว เพราะกมธ.เสียงข้างมากไม่มีเจตนาต้องการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 เพราะการใช้อำนาจตามมาตรา 37/1 ต้องผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการป.ป.ช. ทั้ง 9 คน แล้วส่งเรื่องให้อธิบดีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบให้ความเห็นชอบ ที่สำคัญฐานความผิดที่เข้าข่ายใช้มาตรา 37/1 ได้ ต้องเป็นเรื่องสำคัคญมีผลกระทบในวงกว้าง
อ้างทำเพื่อประโยชน์ทางคดี
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. กล่าวว่า กมธ.ไม่มีเจตนาทำลายล้างใคร แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางคดี เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล จึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจส่วนนี้ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเห็นชอบก็ทำได้ เมื่อผ่านความเห็นจากคณะกรรมการแล้ว ยังต้องขออนุญาตจากศาลอีกครั้ง รวมถึงต้องเป็นคดีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสาธารณะด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายมาตราดังกล่าวใช้เวลายาวนานและไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ในฐานะประธานการประชุมขณะนั้น สั่งพักการประชุม 10 นาที จากนั้นได้เปิดประชุมอีกครั้งและแจ้งว่าจากการหารือระหว่างกมธ.เสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยนั้น เสียงข้างมากยืนยันไม่ยอมถอนมาตรา 37/1 แต่ด้วยพิจารณามาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงเห็นว่าให้พิจารณาต่อในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00น.