ปัดฝุ่น พ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ คุมวัสดุก่อการร้าย
"ประเทศไทยมีสถิติระเบิดแสวงเครื่องนำโด่ง" เป็นคำกล่าวของนายตำรวจจาก "ศูนย์ข้อมูลวัตถุระเบิด" ที่ไปร่วมประชุมในเวทีระดับนานาชาติว่าด้วยแนวทางการป้องกันระเบิดแสวงเครื่อง หรือที่เรียกว่า IED (Improvised Explosive Device) เมื่อปีที่แล้ว และได้นำภาพสะท้อนที่ต่างประเทศมองไทยมาบอกเล่าให้ฟัง
เหตุระเบิดจากความขัดแย้งทางการเมืองและเสียงตูมตามถี่ยิบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนมีผลผลักดันให้สถิติระเบิดของเมืองไทยพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ รวมถึงเหตุคาร์บอมบ์ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กับที่ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาด้วย
และนั่นได้นำมาสู่แนวคิดการควบคุมสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการนำไปประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่อง เพราะระเบิดที่คนร้ายใช้ส่วนใหญ่ล้วนเป็นระเบิดที่ประกอบขึ้นเองโดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ซึ่งบ้านเราเรียกรวมๆ ว่า "ระเบิดแสวงเครื่อง"
พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการรศูนย์นิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รองผบช.ศชต.) ให้ข้อมูลเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดระเบิดครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ว่า จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ น่าเป็นห่วงเรื่องความสามารถในการเข้าถึงวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบระเบิด เพราะเป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป
พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย แบ่งประเภทของวัสดุดังกล่าวออกเป็น 4 กลุ่ม กล่าวคือ
1.วัสดุที่ก่อให้เกิดพลังงานและส่งผ่านพลังงานไฟฟ้า ได้แก่ ถ่านไฟฉาย 9 โวลต์ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ เช่น สวิทช์ สายไฟฟ้า ตัวควบคุมเวลา เป็นต้น
2.อุปกรณ์ที่ใช้จุดระเบิด ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ นาฬิกาข้อมือแบบดิจิตอล วิทยุสื่อสาร รีโมทคอนโทรล
3.สารเคมีที่เป็นวัตถุระเบิดด้วยตัวเอง อาทิ แอมโมเนียมไนเตรต โซเดียมคลอเรต โปแตสเซียมไนเตรต เป็นต้น
4.ภาชนะที่ใช้บรรจุระเบิด ได้แก่ แผ่นเหล็กขึ้นรูป ถังแก๊ส ถังดับเพลิง
"จะเห็นได้ว่าวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้มีใช้ในชีวิตประจำวัน หรือใช้ในกิจการของภาครัฐและเอกชนทั้งสิ้น แต่บางอย่างก็มีมาตรการควบคุมตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 อยู่แล้ว เช่น สารเคมี และมีระเบียบการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ที่เราเป็นห่วงคือวัสดุบางอย่างไม่มีการควบคุมเลย เช่น ถ่านไฟฉาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในวงจรจุดระเบิดด้วยไฟฟ้า เช่นเดียวกับวงจรอิเลคทรอนิกส์ที่ไม่มีมาตรการควบคุมเลยเช่นกัน หนำซ้ำบางประเภทยังใช้ในการเรียนการสอนด้วย"
พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย กล่าวต่อว่า วิธีการที่ ศชต.ได้เสนอไปแล้วก็คือ ทำอย่างไรให้คนที่จะประกอบระเบิดมีความยากลำบากในการหาวัสดุอุปกรณ์ ให้หาได้ยากขึ้น ทำยากขึ้น หรือหาได้แต่ทิ้งร่องรอย ซึ่งหากมีมาตรการควบคุมจริงจัง สมมติปีหนึ่งผลิตได้ 100 ลูก ยอดการผลิตจะลดลงแน่นอน และลดระดับความรุนแรงลงได้ ส่วนวัสดุประเภทดินระเบิด เป็นเรื่องนอกระบบ ขายกันตามตลาดมืด ก็ต้องใช้วิธีการกวาดล้างกันไป
"ประเด็นหลักๆ คือวัสดุที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด ต้องควบคุมการครอบครอง ซื้อขาย และผลิต โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องคุมไปถึงถ่านไฟฉายที่ไม่ได้ผลิตในประเทศหรือไม่ได้ผลิตจากบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย และเมื่อกำหนดมาตรการแล้วต้องมีผลทั่วประเทศ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้มีแต่ในภาคใต้ จะคุมเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ ส่วนที่ควบคุมอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ ก็ต้องเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้น"
พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการเสนอกันตลอด ศชต.เองก็ได้นำเสนอแนวทางการควบคุมวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ โดยหารือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงกลาโหม กรมศุลกากร รวมทั้ง กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) จริงๆ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) สามารถออกประกาศควบคุมได้เลยเหมือนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ แต่สำหรับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่กล่าวมา หากควบคุมจะกระทบกับวิถีชีวิตประชาชนอย่างมาก สมมติซื้อถ่านไฟฉายก้อนหนึ่งต้องแสดงบัตรประชาชน ย่อมกระทบแน่ จึงต้องหามาตรการที่เหมาะสม เข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางกำลังพิจารณากันอยู่
ขณะที่ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ 10) รับผิดชอบงานด้านการก่อการร้าย กล่าวว่า หากควบคุมสินค้าบางรายการที่สำคัญๆ ก็จะลดความเสี่ยงจากระเบิดลงได้ แต่การควบคุมมีหลายวิธีการ ไม่จำเป็นต้องวางบัตรประชาชนเวลาซื้อเสมอไป เพราะสามารถควบคุมขั้นตอนในระบบการขนส่งและจำหน่ายก็ได้ เนื่องจากสินค้าแต่ละชนิดมี ซีเรียล นัมเบอร์ (หมายเลขประจำผลิตภัณฑ์) อยู่ เช่น จากโรงงานผู้ผลิตสู่ผู้แทนจำหน่าย ไปจนถึงร้านค้าขายปลีก ถ้าเจ้าหน้าที่รู้ว่าสินค้าล็อตนี้จำหน่ายจากร้านไหน ก็จะง่ายในการติดตามตัวคนร้ายที่ซื้ออุปกรณ์ไปประกอบระเบิด
สำหรับวัสดุที่อยู่ในข่ายต้องควบคุมการซื้อและจำหน่าย เช่น แบตเตอรี่ หรือถ่านไฟฉาย 9 โวลต์ ซึ่งไม่มีปัญหา เพราะถ่านไฟฉายมี ซีเรียล นัมเบอร์ อยู่แล้ว นอกจากนั้นก็มีตะปู ซึ่งอาจไม่มี ซีเรียล นัมเบอร์ ก็ต้องพิจารณาอีกทีว่าจะใช้มาตรการใด ส่วนเหล็กเส้นที่นำไปตัดท่อนเป็นสะเก็ดระเบิดน่าจะคุมได้ไม่ยาก เช่นเดียวกับปุ๋ยยูเรีย (แอมโมเนียมไนเตรต) ถ้าคุมที่ถุงปุ๋ยก็น่าจะทำได้ ต้องไปดูสายการผลิต ขณะที่สายไฟสามารถคุมได้แน่นอน เพราะเป็นผลิคภัณฑ์ที่ถูกควบคุมโดย มอก.(มาตรฐานอุตสาหกรรม) เหมือนกับถังแก๊ส
"ฝ่ายความมั่นคงอยากให้คุมวัสดุเหล่านี้ แต่ก็ต้องคุยกับผู้ค้าด้วยว่ารับไหวหรือไม่ แต่ย้ำอีกครั้งว่าไม่จำเป็นต้องบันทึกเลขบัตรประชาชนเวลาซื้อ แค่เรารู้ว่าร้านไหนจำหน่ายเป็นร้านสุดท้ายจนถึงมือคนร้ายก็เพียงพอแล้ว” พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าว
เมื่อเร็วๆ นี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งรับผิดชอบเรื่องสารเคมี กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบอาวุธชีวภาพ กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบอาวุธตามรูปแบบ กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบเรื่องยุทธภัณฑ์ที่ใช้ได้สองทาง และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รับผิดชอบเรื่องรังสีกับนิวเคลียร์ เพื่อหาแนวทางในการควบคุมวัสดุที่สามารถนำไปประกอบระเบิด
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมพบปัญหาคือ ขาดหน่วยงานระดับนโยบายที่จะเป็นเจ้าภาพกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้ เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีภารกิจโดยตรงของตัวเองอยู่ จึงไม่ได้พิจารณาในภาพรวม ซึ่งเบื้องต้นเห็นชอบให้ สมช.เป็นแม่งาน
ที่ผ่านมามีประกาศกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 แต่ก็เน้นไปที่อาวุธ อุปกรณ์ของอาวุธ และสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิดเท่านั้น ซึ่งในส่วนของสารเคมีมีประกาศควบคุมเอาไว้ 178 ชนิด แต่ยังไม่มีการควบคุม "สินค้าสองทาง" คือใช้ประโยชน์ในทางปกติก็ได้ หรือนำไปก่อเหตุรุนแรงก็ได้
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า คณะทำงานของ สมช.กำลังพิจารณาเรื่อง "สินค้าสองทาง" แต่ก็ต้องรอบคอบ เพราะมีหน่วยงานหลายหน่วยรับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ หลักการคือต้องทำให้พอดี ไม่ให้เข้มเกินไป และไม่ให้หย่อนยานเกินไป
เหตุระเบิดครั้งใหญ่ที่ชายแดนใต้น่าจะเป็นตัวเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตัดสินใจ และปฏิบัติอย่างเข้มงวดจริงจังเสียที!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) พล.ต.อ.วรพงษ์ พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย และ พล.ต.อ.วิเชียร
หมายเหตุ :
1 ภาพจากอินเทอร์เน็ต แต่นำมาประกอบและปรับแต่งโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา
2 รายงานชิ้นนี้บางส่วนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 5 เม.ย.2555