7 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ กับการให้โอกาสคนที่ก้าวพลาด
แม้โทษจำคุกจะเป็นกลไกสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ผลกระทบของการจำคุก กลับกลายไปสร้างตราบาปหรือมลทิน (stigma) แก่ผู้ถูกคุมขัง ทำให้ผู้กระทำความผิดเป็นที่รังเกียจต่อสังคมและครอบครัว เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการกลับตัวให้เข้ากับสังคมภายนอกหลังพ้นโทษ
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น 322,634 คน โดยแบ่งเป็นผู้ชาย 279,862 คน และผู้หญิง 42,772 คน โดยจำนวนดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมียอดผู้ต้องขังโดยรวมสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
แม้โทษจำคุกจะเป็นกลไกสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ผลกระทบของการจำคุก กลับกลายไปสร้างตราบาปหรือมลทิน (stigma) แก่ผู้ถูกคุมขัง ทำให้ผู้กระทำความผิดเป็นที่รังเกียจต่อสังคมและครอบครัว เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการกลับตัวให้เข้ากับสังคมภายนอกหลังพ้นโทษ
มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้น พบว่า โอกาสในการทำงานนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เคยต้องโทษได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำเมื่อได้รับการปล่อยตัว แต่สังคมไทยยังมีอคติ ไม่เปิดโอกาสรับบุคคลเหล่านี้กลับสู่สังคม
หนึ่งในโครงการที่การให้โอกาสคน นั่นก็คือโครงการ “กำลังใจ” เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การผลักดันให้เกิดข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders) และที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 65 ได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553
7 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มองว่า ความสำเร็จจริงๆ คือ การทำให้สังคมได้เห็นความสำคัญของการให้โอกาสกับคนที่ก้าวพลาด เป็นการให้โอกาสนอกกำแพงเรือนจำ ให้ผู้พ้นโทษมีที่ยืน และไม่ทอดทิ้งกัน
ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ จัดทำ “โครงการเรือนจำต้นแบบ” ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่าด้วยการบริหารจัดการผู้ต้องขังหญิง ตาม “ข้อกำหนดกรุงเทพ” มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันประเทศไทยมีเรือนจำต้นแบบจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1. เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี 2. ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 3. เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4. ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 5. ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และ 6. เรือนจำกลางสมุทรสาคร
และเร็วๆ นี้ จะมีการประกาศเรือนจำต้นแบบเพิ่มอีก 4 แห่ง รวมเป็น 10 แห่ง
พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวในเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “ก้าวที่พลาดกับโอกาสในการแก้ไข : มิติใหม่แห่งความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ” (Beyond the Prison Walls: Multi-stakeholder Perspectives on Prisoner Rehabilitation and Reintegration) ณ.ห้องโอเรียนเต็ล ชั้น 4 โรงแรมโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ ในโอกาสครบรอบ 7 ปี ของการรับรองข้อกำหนดกรุงเทพ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ถึงการคืนคนดี สู่สังคม ไม่ใช่คืนคนเดิมสู่สังคม วันนี้เรายังไม่มีกฎหมายให้ประโยชน์กับสถานประกอบการที่รับผู้พ้นโทษไปทำงาน กอรปกับปัญหาของเรือนจำ ถูกกำหนดให้จบ ณ ประตูเรือนจำ และส่งต่อให้หน่วยงานราชการส่วนอื่นๆ และภาคประชาสังคม
พันตำรวจเอกณรัชต์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ถูกสังคมมองเป็นแดนสนธยา เป็นงานคุกงานตาราง มีผู้ต้องขังเกิน ล้นห้องขัง ขณะที่ผู้คุมก็ทำงานยาก ทั้งให้กำลังใจ ฝึกอาชีพผู้ต้องขังและการเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษ ซึ่งวันนี้ภาคประชาสังคมไม่มองผู้พ้นโทษเป็น "วาระของชุมชน" หรือ เป็นบุคคลของชุมชน ฉะนั้นทำอย่างไรให้สังคมตระหนักรู้และรับผิดชอบร่วมกัน รวมไปถึงหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จะสร้างสมดุลระหว่างกำปั้นเหล็กกับถุงมือกำมะหยี่ ไม้นวม ไม้แข็ง ทำอย่างไรให้เดินไปด้วยกันได้
สำหรับมุมมองภาคเอกชนและภาคประชาสังคม การสร้างโอกาสในการสร้างอาชีพให้แก่อดีตผู้ต้องขัง หนึ่งในผู้มีประสบการการสร้างรอยยิ้มในเรือนจำ ครอบครัวสินเจริญบราเธอร์ส นายสุทธิศักดิ์ สินเจริญ ได้เล่าถึงการเก็บเงินจากการทำรายการทีวี ช่วยเหลือประเด็นต่างๆ ทางสังคม ซึ่งทำมาประมาณ 12 ปี เพื่อต้องการให้สังคมเห็นและเป็นแนวร่วม พร้อมกันนี้เขาเชื่อว่า สิ่งเดียวที่ทำให้นักโทษสามารถกลับตัวกลับใจได้ คือการสร้างแรงบันดาลใจ ให้เขามีความคิดสร้างสรรค์ด้วการดีไซน์หัวใจ ดีไซน์ชีวิต และหาช่องทางใหม่ในการสร้างอาชีพตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ โดยการใช้หัวใจซ่อมแซมหัวใจ
"หากเป็นไปได้ ผมอยากมีทุนทำโรงงานผลิตกีตาร์ ทำเฟอร์นิเจอร์ โดยฝีมือผู้ต้องขังในเรือนจำ ผมอยากพัฒนาวงดนตรี สร้างเชฟ ขึ้นมาโดยผู้ต้องขัง "
“เนาวรัตน์ ธนะศรีสุธารัตน์” ร้านนวดลีลา จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในภาคเอกชนที่เปิดโอกาสผู้พ้นโทษหญิงทำงาน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้เห็นว่า ผู้พ้นโทษก็ทำอาชีพสุจริตได้ ซึ่งแรกๆ เธอพบว่า ลูกค้าคนไทยไม่ค่อยมาใช้บริการนวด ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ แต่หลังๆ เมื่อประกาศเปิดตัวว่า เป็นร้านนวดที่สร้างอาชีพให้กับผู้พ้นโทษ ก็มีผู้มาใช้บริการ ยิ่งมาสัมผัสใกล้ชิด สังคมก็เริ่มเปิดรับมากขึ้น
” ร้านนวดลีลา ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 200 คน ปีหนึ่งๆ มีคนกลับไปทำผิดแค่ 1-2 คน” เธอเชื่อว่า จากที่ได้สัมผัสผู้พ้นโทษที่ก้าวพลาดไม่มีใครอยากทำผิด หากสังคมเปิดโอกาส สร้างรายได้ ให้อาชีพเพื่อให้เขากลับคืนสู่สังคม
ด้าน ดร. ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ นายกสมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ SME เล่าถึงแนวทางการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ การทำธุรกิจสมัยใหม่ พบว่า ผู้ต้องขังมีความตั้งใจสูง เริ่มมีความหวังเมื่อพ้นโทษออกไปอยากทำอะไร มีการเรียนรู้การออกแบบธุรกิจ กำหนดกลุ่มลูกค้าได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีการประสานพูดคุยกับสถาบันการเงินในอนาคตด้วย
สุดท้ายนายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion มองถึงการสร้างสังคมแห่งการให้โอกาส ด้วยแนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยภาครัฐสามารถมีมาตราการทางภาษีเช่นเดียวกับผู้พิการ สำหรับกิจการเพื่อสังคมที่เข้ามาช่วยผู้พ้นโทษ
ที่มาภาพ:Thailand Institute of Justice (TIJ)