สิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายอวัยวะบัตรทอง10 ปี มอบชีวิตใหม่ผู้ป่วยนับพันราย
สิทธิประโยชน์โรคเฉพาะปลูกถ่ายอวัยวะบัตรทอง 10 ปี เพิ่มโอกาสผู้ป่วยนับพันรายได้รับชีวิตใหม่ ทั้งปลูกถ่ายไต ตับ หัวใจ เปลี่ยนถ่ายกระจกตา และปลูกถ่ายไขกระดูก พร้อมให้การดูแลต่อเนื่อง ปี 2561 จัดงบ 148 ล้านบาทสำหรับปลูกถ่ายอวัยวะและดูแลยากดภูมิคุ้มกัน พร้อมรุกความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ส่งเสริมรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มการเข้าถึง
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานในผู้ป่วยรายที่มีข้อบ่งชี้ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น ในอดีตจำนวนผู้ป่วยที่เข้าถึงการปลูกถ่ายอวัยวะมีไม่มาก เนื่องจากข้อจำกัดจำนวนผู้บริจาคอวัยวะแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายปลูกถ่ายอวัยวะที่สูงมากซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะทั้งที่เป็นอวัยวะเองและไขกระดูกสเต็มเซล ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะยังต้องได้รับการดูแลไปตลอดชีวิต คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้บรรจุสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา โดยจับมือร่วมกับศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง และหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการปลูกถ่ายอวัยวะทั่วประเทศ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้
นพ.ชูชัย กล่าวว่า สิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มจากการปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant) ในปี 2551 โดยบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ต่อมาได้ขยายครอบคลุมถึงการปลูกถ่ายตับ (Liver Transplant) ในปี 2554, การปลูกถ่ายหัวใจ (Heart Transplant) ในปี 2555 และการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายกระจกตา (Corneal Transplantation) ในปี 2556
จากผลการดูแลผู้ป่วยที่ผ่านมา ในส่วนการปลูกถ่ายไต มีผู้ป่วยเข้ารับการปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายไตจำนวน 195 ราย ในช่วง 10 ปี (2551-2560) มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตแล้วจำนวน 1,350 ราย หรือเฉลี่ย 135 รายต่อปี, ส่วนการปลูกถ่ายตับ ปี 2560 มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายตับจำนวน 28 ราย ในช่วง 7 ปี (2554-2560) มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับแล้วจำนวน 155 ราย หรือเฉลี่ย 22 รายต่อปี และการปลูกถ่ายหัวใจ ปี 2560 มีผู้ป่วยได้รับการปลูกถ่ายหัวใจจำนวน 9 ราย ในช่วง 6 ปี (2555-2560) มีผู้ป่วยรับการปลูกถ่ายหัวใจแล้วจำนวน 65 ราย หรือเฉลี่ย 10.8 รายต่อปี
สำหรับการเปลี่ยนถ่ายกระจกตา ปี 2560 มีผู้ป่วยรับการเปลี่ยนถ่ายกระจกตา 421 ราย ในช่วงปี 2556-2560 (ปี 2559 ชะลอการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ จากข้อทักท้วง คตร.) หรือในช่วง 4 ปี มีผู้ป่วยที่รับการเปลี่ยนถ่ายกระจกตาแล้วจำนวน 1,702 ดวงตา หรือเฉลี่ย 425.5 ดวงตาต่อปี นอกจากนี้ยังมีการรักษาปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic Stem Cell Transplantation) ซึ่งบรรจุภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2551 เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคไขกระดูกผิดปกติ รวมถึงโรคอื่นๆ ที่จำเป็น โดยปี 2560 มีผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกจำนวน 51 ราย รวมผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูกในช่วง 10 ปี มีจำนวน 362 ราย หรือเฉลี่ย 36.2 รายต่อปี
นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ปี 2561 นี้ สปสช.ยังคงสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายอวัยวะ โดยการปลูกถ่ายไต ตับ และหัวใจ ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 148 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเข้าถึงบริการ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยภายหลังรับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิไปตลอดชีวิต พร้อมกันนี้ยังกำหนดทิศทางความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการรับบริจาคและการปลูกถ่ายอวัยวะ อาทิ การสนับสนุนหน่วยบริการดำเนินการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ การใช้เทคโนโลยีใหม่ทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาระบบเบิกจ่ายและแนวทางการลดขั้นตอนเบิกจ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ความร่วมมือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการด้านคิวผ่าตัด เป็นต้น
“ตลอดระยะเวลา 16 ปีของการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษาและบริการสุขภาพครอบคลุมและทั่วถึงตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้าถึงการรักษา แม้ในกลุ่มโรคค่าใช้จ่ายสูงอย่างเช่นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องรับการปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะภายใต้ระบบนับพันราย ทั้งได้รับการดูแลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตขึ้น เสมือนมีชีวิตใหม่ แต่ยังช่วยให้ครอบครัวไม่ต้องประสบภาวะล้มละลายจากโรคค่าใช้จ่ายสูงนี้” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว