“สาทิตย์” แง้มตำบลละล้านจัดการภัยพิบัติ ภาคประชาชนชงตั้งองค์กรอิสระถาวร
ชาวบ้านฉะรัฐด้อยประสิทธิภาพ เครือข่ายประชาชนชงตั้งองค์กรอิสระจัดการภัยพิบัติครบวงจร หนุนแผนชุมชนเชื่อมโยง อปท. ตั้งกองทุนฟื้นฟูวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม “สาทิตย์” รับเสนอรัฐบาลปลายเดือน ม.ค. แง้มให้คิดกองทุนจัดการภัยพิบัติตำบลละล้าน
วันที่ 21 ธ.ค.53 เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิอันดามัน มูลนิธิชุมชนไท และภาคีเครือข่าย จัดเวทีปฎิรูปการจัดการภัยพิบัติ “ร่วมพลิกวิกฤตเป็นโอกาส วาระรำลึก 6 ปี สึนามิ” ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา กล่าวถึงการจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพว่า จะต้องทำแบบบูรณาการ และสร้างการมีส่วนร่วมจาก 3 ฝ่ายคือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสำคัญที่สุดคือภาคประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาในพื้นที่ โดยการป้องกันควรมี 4 ระยะคือ ระยะไกลมาก เช่น สร้างสมดุลย์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การป้องกันระยะไกล เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับการจัดการธรรมชาติ การป้องกันระยะกลาง เช่น การวางผังเมืองและผังชนบท และการป้องกันระยะใกล้ เช่น การสร้างกำแพงกั้นริมแม่น้ำลำคลอง ทั้งนี้จะต้องเตรียมความพร้อมให้ครอบคลุมทุกด้าน รวมทั้งต้องสนับสนุนการวิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติที่สอดรับกับชุมชนให้มากพอ
สำหรับบทเรียนการจัดการภัยพิบัติจากพื้นที่ นางสาวหทัย คำกำจร ผู้ประสบอุทกภัยจาก อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า แม้จะมีการเตือนภัยผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ล่งหน้า แต่ชาวบ้านคิดว่าคงไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านๆมา เมื่อเกิดเหตุจึงเตรียมตัวไม่ทัน แต่ภายหลังความสูญเสียสิ่งที่เห็นชัดคือชาวบ้านตื่นตัวมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติ และทำได้มีประสิทธิภาพกว่าภาคราชการที่ขาดการประสานงาน ช่วยเหลือไม่ตรงจุด สิ่งของบริจาคไม่ตรงความต้องการ
นางพูนทรัพย์ ศรีชู ผู้ประสบภัยพิบัติจากคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา กล่าวถึงเหตุการณ์วาตภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าชุมชนได้พยายามรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนและความจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือและชี้เป้าให้ อบต.เพื่อสื่อสารไปยังภายนอก แต่ปัญหาคืออำเภอและจังหวัดทำงานไม่เชื่อมโยงกับองค์กรชุมชน จึงเกิดความซ้ำซ้อนด้านข้อมูล ทำให้ความช่วยเหลือเข้าไม่ถึงผู้เดือดร้อนเร่งด่วน แต่บางรายกลับได้รับความช่วยเหลือเกินจำเป็น เช่น บางบ้านซ่อมแล้วซ่อมอีกจนกระเบื้องเหลือ
ส่วนข้อเสนอต่อการจัดการภัยพิบัติ นายไมตรี กงไกรจักร์ เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน กล่าวว่า ปัญหาหลักคือไม่มีระบบบริหารจัดการส่วนกลางที่มีประสิทธิภาพ โดยราชการ เอกชน ประชาสังคม ต่างฝ่ายต่างช่วยเหลืออย่างกระจัดกระจาย และแม้จะมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แต่ทำได้แค่บรรเทาปัญหา ยังป้องกันไม่ได้ ทั้งนี้เสนอให้ตั้งองค์กรอิสระทำหน้าที่เป็นศูนย์จัดการภัยพิบัติครบวงจร ทั้งระบบเตือนภัย เครื่องมืออุปกรณ์ บุคลากร งบประมาณ แผนรับมือ รวมถึงเป็นหน่วยฟื้นฟู
ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอว่า 1.ให้นำตัวอย่างจากอาเซียนที่ใช้ระบบทหารซึ่งมีความพร้อมทั้งเครื่องมือและโครงสร้างไม่เทอะทะเหมือนราชการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ 2.รัฐบาลต้องพัฒนาขีดความสามารถมากขึ้น โดย ปภ.อาจเข้าไปช่วยท้องถิ่นในการสร้างแผนป้องกันภัยพิบัติชุมชน พัฒนาบุคลากรด้านการจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่น ตั้งแต่การดูแลสุขภาพ การปฏิบัติภารกิจฉุกเฉิน การประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ ตลอดจนกระบวนฟื้นฟู 3.ปรับปรุงระบบเตือนภัย เช่น ข้อมูลที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายขึ้น 4.พัฒนาระบบบัญชาการของชุมชนให้เป็นรูปธรรม โดยสื่อทำหน้าที่เชื่อมประสาน 5.ทำและนำแผนปฏิบัติการระดับชุมชนสู่การปฏิบัติและขยายผลผนวกกับแผนท้องถิ่นของ อปท.โดยรวบเข้าไว้ในกรอบงบประมาณ สุดท้ายคือเตรียมความพร้อมระยะยาว เช่น ผลักดันเรื่องดังกล่าวในหลักสูตรการศึกษา
ทั้งนี้ มีการระดมความเห็นเพื่อนำเสนอแนวทาง “ปฏิรูปการจัดการภัยพิบัติ” ต่อรัฐบาลผ่านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ การเตรียมความพร้อมในการเตือนภัยและรับมือภัยพิบัติ ได้แก่ ให้รัฐบาลเป็นหลักในการให้ความรู้อย่างครอบคลุม, ตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติระดับชุมชนให้มีแผนที่เชื่อมกับท้องถิ่น, มีกองทุนภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือกรณ๊ฉุกเฉิน, ใช้ภาษาการเตือนภัยให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย, ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมรับผิดชอบในฐานะหน่วยงานจัดการน้ำ รวมทั้งการช่วยเหลือคนไร้สัญชาติที่ไม่มีบัตรประชาชน
ด้านการบริหารจัดการในช่วงวิกฤติ เสนอว่าให้รัฐกำหนดระบบการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจนกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น การแก้ปัญหาที่ดินของผู้ประสบภัย การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย, กำหนดให้ภัยพิบัติเป็นวาระชาติที่มีแผนระยะสั้น กลาง ยาว มีการติดตามประเมินผล การฟื้นฟู และต้องสนับสนุนชุมชนจัดการภัยพิบัติด้วยตนเอง เช่น ตั้งกองทุนภัยพิบัติชุมชนเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิต อาชีพ สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเครือข่ายอาสาสมัคร
นายสาทิตย์ กล่าวว่า จะสรุปข้อเสนอทั้งหมดเสนอรัฐบาลเพื่อประกอบการพิจารณาตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติของรัฐบาล ซึ่งจะมีการประชุมในปลายเดือน ม.ค. เพื่อให้เป็นองค์กรถาวรที่มีการบูรณาการจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุ่มงบประมาณป้องกันจุดที่อาจได้รับผลกระทบซ้ำ และให้จังหวัดเป็นผู้เสนอขึ้นมา และปีใหม่นี้จะเสนอ ครม.ให้กลุ่มคนไร้สัญชาติได้รับสิทธิพื้นฐานในการรับความช่วยเหลือด้วย
“ส่วนประเด็นกองทุนที่จะสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งเมื่อเกิดภัยพิบัติ ขอตั้งโจทย์ให้กลับไปคิดว่าถ้ารัฐบาลมีเงินให้ตำบลละล้าน ท่านจะทำอะไรได้บ้าง” นายสาทิตย์ กล่าว.
ภาพประกอบจาก : http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255203100239&tb=N255203
ถัดไป >