ท้าให้คุณกล้า! ‘งิ้ว กล้า ก้าว’ พิพิธภัณฑ์กลางคืน @มิวเซียมสยาม
มิวเซียมสยาม เปิดพิพิธภัณฑ์กลางคืน ครั้งที่ 7 ภายใต้เเนวคิด "งิ้ว กล้า ก้าว" ปลุกพลังความกล้า ทดสอบไปกับตำนานมหรสพจีนเเผ่นดินใหญ่ เพียง 3 วันเท่านั้น 15-17 ธ.ค. ศกนี้
เคยหรือไม่? อยากเข้าชมพิพิธภัณฑ์ใจจะขาด แต่ไม่มีเวลา เพราะทุกแห่งเปิดเฉพาะกลางวัน แต่ปัญหานั้นกำลังหมดไป เมื่อมิวเซียมสยาม จัดเทศกาลพิพิธภัณฑ์ตอนกลางคืน “ไนท์ แอท เดอะ มิวเซียม” ครั้งที่ 7 ขึ้น ระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค. 2560 เวลา 16.00-22.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสความรู้และความสนุกสนานรูปแบบใหม่ รวมถึงสร้างค่านิยม Museum culture
โดยเทศกาลครั้งนี้ จัดเต็มภายใต้แนวคิด “งิ้ว กล้า ก้าว” จำลองพื้นที่โดยรอบเป็นเสมือนโรงละครอุปรากรจีน (งิ้ว) และฐานกิจกรรมประลองความกล้าที่สอดแทรกสาระเกี่ยวกับงิ้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะการแสดงงิ้วมักหยิบยกเรื่องความกตัญญูผ่านแง่มุมต่าง ๆ โดยเฉพาะความกล้าหาญ ที่สำคัญ แก่นของเรื่อนล้วนชี้ให้เห็นถึงหลักคุณธรรม ซึ่งมักถูกนำมาใช้อบรมสั่งสอนลูกหลานของชาวจีน
ทั้งนี้ กิจกรรมมีทั้งหมด 4 ฐาน ได้แก่ ฐานกล้าก้าว ทดสอบความกล้าตัดสินใจและก้าวผ่านอุปสรรค, ฐานกล้าล้วง ทดสอบจิตใจด้วยการเอาชนะความกลัว, ฐานกล้าแต่ง จำลองบรรยากาศหลังโรงงิ้ว ทดสอบแต่งหน้าและแต่งตัว โดยอุปกรณ์จริง และฐานกล้าแต้ม เรียนรู้ความหมายแฝงที่บ่งบอกถึงบุคลิกและอุปนิสัยตัวละครผ่านการแต่งแต้มหน้ากาก
รวมถึงกิจกรรมการแสดงโชว์ต่าง ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เชิดสิงโตปีนเสาดอกเหมย เปลี่ยนหน้ากาก ตลอดจนการแสดงงิ้วพูดไทย เรื่อง มู่หลาน ที่สื่อถึงความกตัญญูผ่านความกล้าหาญของตัวละคร ซึ่งนับว่าเป็นไฮไลท์สำคัญของกิจกรรมครั้งนี้
"กล้าก้าว" ทดสอบความกล้าตัดสินใจและก้าวผ่านอุปสรรค
กล้าล้วง ทดสอบจิตใจด้วยการเอาชนะความกลัว
กล้าแต่ง จำลองบรรยากาศหลังโรงงิ้ว ทดสอบแต่งหน้าและแต่งตัว โดยอุปกรณ์จริง
กล้าแต้ม เรียนรู้ความหมายแฝงที่บ่งบอกถึงบุคลิกและอุปนิสัยตัวละครผ่านการแต่งแต้มหน้ากาก
บอกเล่า “คุณธรรม” ผ่านตัวละคร “งิ้ว”
สำหรับ “งิ้ว” เข้ามาสู่ประเทศไทยพร้อมกับชาวจีนและศาลเจ้าจีนตั้งแต่สมัยการค้ากับต่างประเทศ ส่วนเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานระบุชัดเจน อย่างไรก็ตาม จดหมายเหตุลาลูแบร์ บันทึกไว้ว่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้มีการอัญเชิญ พระแก้วมรกตล่องน้ำมายังพระนคร โดยในขบวนแห่นอกจากจะมีโขน ละคร ปี่พาทย์แล้ว ยังมีคณะงิ้วอีก 2 ลำเรือ แสดงล่องมาด้วย
ทั้งนี้ การแสดงงิ้วในไทยได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมจีนอย่างขีดสุด ทำให้เกิดคณะงิ้วทั้งไทยและจีน รวมถึงมีการเปิดโรงเรียนสอนงิ้ว และโรงงิ้วแสดงประจำจำนวนมากบนถนนเยาวราชอีกด้วย
งิ้วเบิกโรง
อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน กล่าวว่า งิ้วมีฐานะเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับเทพเจ้า ที่สะท้อนภาพของชุมชนในแง่ความเชื่อ โดยมีอิทธิพลต่อรูปแบบของการดำเนินชีวิต และมักสอดแทรกเรื่องคุณธรรมต่าง ๆ ผ่านตัวละคร โดยเฉพาะความกล้าหาญ เช่น สามก๊ก ที่กล้าออกมาปกป้องประเทศ, เปาบุ้นจิ้น ที่กล้าปกป้องความยุติธรรม หรือเรื่องที่นำมาแสดงในเทศกาลครั้งนี้อย่าง “มู่หลาน” ที่กล้าออกมาปกป้องผู้มีพระคุณ
“ปกติการแสดงงิ้วจะมีบทพูดเป็นภาษาจีน แต่สำหรับเรื่อง มู่หลาน ที่นำมาแสดงในเทศกาลพิพิธภัณฑ์ตอนกลางคืน จะมีการดัดแปลงบทพูดเป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงเนื้อหา และเพลิดเพลินไปกับการแสดง กิริยาท่าทาง น้ำเสียง และดนตรีประกอบ มากขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน กล่าว
พวกหนู "กล้าเเต้ม"
อาวุธ "งิ้ว"
รู้จักอาวุธคู่กาย “งิ้ว”
สำหรับการแสดงงิ้วนั้น นอกจากเอกลักษณ์การแต่งกายและใบหน้าที่สื่อถึงวัฒนธรรมจีนและผู้เข้าชมจะได้แต่งตัวจริง ๆ แล้ว ยังจะได้สัมผัสอาวุธคู่กาย ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการแสดงที่ขาดไม่ได้ด้วย ที่รู้จักกันดี คือ “ดาบ” ซึ่งหลายคนมักพบเห็นใช้ในการแสดงบ่อย จัดเป็นอาวุธต่อสู้ในระยะประชิดตัว มีทั้งดาบคู่และดาบเดี่ยว ขึ้นอยู่กับบทบาทที่ได้รับ และส่วนใหญ่ผู้ใช้อาวุธชนิดนี้มักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
“ง้าว” มีด้ามจับเหมือนทวน ต่างกันที่เปลี่ยนจากหัวหอกเป็นหัวง้าวมีลักษณะคล้ายพระจันทร์เสี้ยว หากเป็นบทผู้หญิง ส่วนที่เป็นหัวง้าวจะมีขนาดเล็ก และเบากว่าของผู้ชาย
“ทวน” มีหัวหอกด้านเดียวและสองด้าน โดยบริเวณโคนหอกจะมีพู่ประดับให้พริ้วไหว ส่วนด้ามจับทำจากไม้ไผ่ พันด้วยผ้า ซึ่งจะช่วยจับไม่หลุดมือ
“กระบี่” มีทั้งกระบี่เดี่ยวและกระบี่คู่ โดยหากเป็นของผู้ชายจะฝักกระบี่และด้ามจับจะเป็นไม้สลัก ส่วนของผู้หญิงจะมีลวดลายผ้าปักอย่างสวยงาม
ขอ "เเต่งหน้า"
ขอ "เเต่งตัว"
ทั้งหมดนี้ถูกนำเสนอไว้ใน “ไนท์ แอท เดอะ มิวเซียม” ครั้งที่ 7 ภายในมิวเซียมสยาม และหากยังไม่จุใจ สามารถเข้าชมได้อีก 12 พันธมิตรพิพิธภัณฑ์ ที่ร่วมเปิดให้เข้าชมกลางคืนเช่นกัน ได้แก่ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์, หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9, พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิพิธภัณฑ์เหรียญ, พิพิธบางลำพู, พิพิธภัณฑ์ตำรวจวังปารุสกวัน, พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล มรภ.สวนสุนันทา, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อนุสรณ์สถานแห่งชาติ, ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ, จตุรัสวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ โดยมีรถให้บริการรับส่งระหว่างเส้นทางที่กำหนด
จึงห้ามพลาด! ที่จะไปทดสอบความกล้าหาญกับตำนานมหรสพจากจีนแผ่นดินใหญ่ “งิ้ว กล้า ก้าว” .