กสม.เปิดเวทีหาความจริงเหมืองโปแตซอุดรฯ ผู้ว่าฯ-บริษัทเมินไม่ร่วม
หมอนิรันดร์นำทีมคณะกรรมการสิทธิ์ฯ เปิดเวทีซักฟอกกรณีขัดแย้งโครงการเหมืองโปแตซอุดรฯ ระบุชุมชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ กพร.ยืนกระต่ายขาเดียวทำถูกขั้นตอน 4 อบต.บอกไม่รู้เห็น ด้านจังหวัด-บริษัทเมินไม่ร่วมเวที ชาวบ้านกลุ่มค้าน-หนุนหวิดวางมวย
วันที่ 7 ธ.ค.53 เวลา 09.30 น. ณ นภาลัย จ.อุดรธานี คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์ วัชระ ประธานอนุกรรมการฯ ได้จัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงกรณีปักหมุดรังวัดขอบเขตแผนที่ขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี ซึ่งดำเนินการโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ในช่วง 30 ต.ค. - 1 พ.ย.53 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯได้ร้องเรียนว่าหน่วยงานรัฐได้ละเมิดสิทธิชุมชน เพราะไม่ได้ทำประชาคมถามความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ จึงถือว่าเป็นการดำเนินการปักหมุดรังวัดที่ไม่มีความชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกของชาวบ้านระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายคัดค้าน กลุ่มอนุรักษ์ฯจึงร้องเรียนให้ กสม.ตรวจสอบข้อเท็จจริง
การจัดเวทีครั้งนี้ มีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯกว่า 200 คน ตัวแทนหน่วยงาน/ราชการส่วนท้องถิ่นและส่วนกลางที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ ผู้แทนจาก กพร. อุตสาหกรรมจังหวัด ข้าราชการ อ.ประจักษ์ฯ การรถไฟ, องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 4 ตำบลในพื้นที่ (ได้แก่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม) รวมทั้งตัวแทนสถาบันวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน แต่ไม่พบผู้แทนข้าราชการใน จ.อุดรธานี และบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ซึ่งยื่นคำขอประทานบัตรดำเนินโครงการเข้าร่วมชี้แจง ทั้งที่คณะกรรมการสิทธิฯ ออกหนังสือเชิญไปแล้ว
แต่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวบ้านกลุ่มสนับสนุนโครงการเหมืองแร่กว่า 50 คนมาก่อกวนอยู่นอกห้องประชุม และบางส่วนเข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุม ซึ่งชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯระบุว่าถูกเกณฑ์มาจากบริษัท จึงไม่พอใจและเกิดการทะเลาะวิวาทกัน แต่ไม่มีเหตุรุนแรง โดยนพ.นิรันดร์ ได้ขอความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายให้อยู่ในอาการสงบ
นายชาติ หงษ์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กพร.กล่าวว่าการปักหมุดรังวัดที่ผ่านมาเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ส่วนการประชาคมรับฟังความคิดเห็นนั้น ไม่ได้มีระเบียบปฏิบัติที่จะต้องกำหนดให้ทำก่อนการรังวัดเขตคำขอประทานบัตร ไม่ว่าจะเป็นคำขอประทานบัตรตามปกติ คำขอประทานบัตรเข้าข่ายโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน แต่สำหรับกรณีคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดินกรณีเหมืองโปแตซอุดรฯ ได้ประชาสัมพันธ์ให้กับประชานในพื้นที่ทราบแล้ว โดย 29 ต.ค. ทาง กพร.จัดประชุมชี้แจงขั้นตอนการขอประทานบัตรและรังวัดคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดินไปแล้ว
ด้านผู้แทนจากส่วนราชการในพื้นที่ ต่างกล่าวว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการปักหมุดรังวัดครั้งนี้ ซึ่งทั้งหมด กพร.ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยนายประจักษ์ อุดชาชน นายก อบต.ห้วยสามพาด กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือจาก กพร.เชิญให้เข้าร่วมรับฟังเวทีวันที่ 29 ต.ค. ในเช้าวันเดียวกันนั่นเอง ซึ่งเห็นว่ามีความสำคัญกับพี่น้องในชุมชนจึงเข้าร่วม และในวันถัดมาที่มีการปักหมุดรังวัดตนไม่ทราบ เพราะไม่มีการแจ้งมาถึง อบต. แต่รู้เรื่องจากการเห็นชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ออกมาคัดค้าน ตนจึงคอยช่วยดูแลเรื่องน้ำดื่ม และห้องสุขาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้าน
ด้านนางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่าการปักหมุดรังวัดไม่ชอบธรรม เพราะไม่ได้ลงมาชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ สิ่งที่ กพร.ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 29 ต.ค.เป็นเพียงการจัดเวทีประชาสัมพันธ์เท่านั้นโดยมีการใช้เงินเกณฑ์ชาวบ้านไปร่วมเวทีให้เสร็จสิ้นพอเป็นพิธีกรรมแล้วก็ลงมารังวัดเลย แล้วสิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งในพื้นที่ที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
“สำหรับเวทีวันนี้ ดิฉันแปลกใจและกังวลอย่างยิ่งที่ผู้แทนจังหวัดโดยเฉพาะผู้ว่าฯ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงไม่ได้เข้าร่วมชี้แจง และบริษัทก็ไม่ได้เข้ามาชี้แจง ทั้งๆที่การรังวัดเป็นขั้นตอนเริ่มแรกที่สำคัญของการดำเนินโครงการเหมืองโปแตซ แต่บริษัทไม่ใส่ใจต่อการมีส่วนร่วม แล้วต่อไปถ้าหากบริษัททำโครงการ จะรับผิดชอบและสร้างความเชื่อใจให้ชาวบ้านได้อย่างไร” นางมณี กล่าว
ส่วน น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวว่าหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน กสม.จึงลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยวันนี้เป็นการเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล แล้วขั้นต่อไปจะนำไปสู่การสรุปเป็นความเห็นและข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิฯ อีกทั้งเวทีวันนี้ยังเป็นการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงสู่สาธารณะให้รับรู้ถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น
“อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนและสิทธิชุมชนตามมาตรา 66 และ 67 เพราะ เป็นหลักพื้นฐานให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือเอกชน ส่วนความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงต้องระมัดระวัง เพราะถ้าหากเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะเยียวยาดังที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในขณะนี้” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว .