คาดโรฮีนจาตายกว่า 6,700 รายในกวาดล้างเดือนแรก
กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน คาดเดือนเดียวมีโรฮีนจาถูกยิงทิ้ง-เผายกครัวนับ 6 พันคน
แม้ความรุนแรงในรัฐยะไข่เริ่มจะเงียบหายไปจากความสนใจของสาธารณชน ตามกระแสความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของสถานการณ์โลก แต่ก็ยังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่ลี้ภัยออกจากเมียนมาให้ได้รับทราบกันเป็นระยะ
ล่าสุด กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน หรือ MSF ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์ที่ทำงานด้านมนุษยธรรม เปิดเผยตัวเลขประมาณการผู้เสียชีวิตจากวิกฤตการณ์ในรัฐยะไข่ โดยระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตชาวโรฮีนจาจากกรณีดังกล่าวอย่างน้อยอาจสูงถึง 6,700 คน เฉพาะในช่วงวันที่ 25 ส.ค.-24 ก.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งในรัฐยะไข่ระลอกใหม่ จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาวยะไข่กับกองทัพเมียนมา และชาวโรฮีนจากับกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่ม
นอกจากนี้ ในช่วง 3 เดือนของวิกฤตการณ์มีชาวโรฮีนจาอพยพหนีตายไปยังบังกลาเทศถึง 620,000 คน หลังจากกองทัพเมียนมาใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อควบคุมสถานการณ์จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและถูกทารุณ จนกระทั่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น และรัฐบาลสหรัฐประณามว่าเป็นการฆ่าล้างเชื้อชาติ แต่ไม่ได้ทำการสำรวจตัวเลขผู้เสียชีวิต เพื่อนำมาประกอบการประณามดังกล่าว ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงและอาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ
กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน เปิดเผยว่า การประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตเป็นผลมาจากการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจำนวน 11,426 คน ที่ค่ายผู้อพยพในช่วงเดือนแรกที่เกิดความรุนแรงขึ้น ผลที่ได้จากการสำรวจก็คือ คำบอกเล่าจากครอบครัวของผู้เสียชีวิตว่า ญาติมิตรของพวกเขาต้องล้มตายไปกี่คน และเสียชีวิตด้วยสาเหตุใดบ้าง
สำหรับการสำรวจพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตถึง 69% เกิดจากการถูกยิง 9% ถูกเผาทั้งเป็นจากการบุกเข้าไปเผาบ้านเรือนชาวโรฮีนจาเพื่อฆ่าล้างครัว ส่วนอีก 5% เสียชีวิตจากการถูกทุบตี ในส่วนของเด็กๆ อายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีถึง 60% ที่ถูกฆ่าด้วยอาวุธปืน
ทั้งนี้ MSF ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่มีชาวโรฮีนจาเสียชีวิตเป็นจำนวนมากนั้น ประจวบเหมาะกับที่กองทัพเมียนมาและกองกำลังติดอาวุธในท้องถิ่นเริ่ม “ปฏิบัติการเคลียร์พื้นที่” พอดี โดยมีเป้าหมายคือชาวโรฮีนจา
ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาปฏิเสธว่าไม่ได้ลงมือสังหารหมู่ในรัฐยะไข่ เป็นเพียงการตอบโต้อย่างเหมาะสมต่อการโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮีนจาที่บุกเข้ามาสังหารตำรวจและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายนาย เมื่อวันที่ 25 ส.ค. นอกจากนี้ ยังระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ 400 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ก่อการร้ายชาวโรฮีนจา 376 คน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการทารุณกรรมชาวโรฮีนจาแต่อย่างใด