กอ.รมน.ถกอนุมัติแผนปฏิบัติการสงขลา 61 และแผนแม่ลาน 61แก้ปัญหา จชต.
"ประวิตร" นั่งหัวโต๊ะถกประชุม กอ.รมน.ครั้งที่ 1/60 พร้อมอนุมัติแผนปฏิบัติการสงขลา 61 และแผนปฏิบัติการแม่ลาน 61 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบ จชต. และสั่งปรับโครงสร้างจัดอัตรากำลังพล กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และตั้ง สำนักจเร กอ.รมน. เพื่อให้ทำหน้าที่ตรวจ ประเมิน สอบสวนข้อเท็จจริง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. 60 ที่ กอ.รมน. สวนรื่นฤดี พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน. เผยว่า การประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ครั้งที่ 1/60 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยได้พิจารณาอนุมัติ โครงสร้างการจัดอัตรากำลังของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ประจำปี 2561 เพื่อให้มีโครงสร้างการจัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ จชต. และสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ จชต. จึงให้มีการอัตรากำลังในภาพรวมลดลง จำนวน 3,057 คน คงเหลือกำลังฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร จำนวน 58,547 คนเพื่อให้การปฏิบัติงานของ กอ.รมน. เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนทุกภาคส่วน การทำงานของเจ้าหน้าที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้การทำงานของ กอ.รมน. ทุกหน่วยงานเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้อนุมัติให้จัดตั้ง สำนักจเร กอ.รมน. ซึ่งมีหน้าที่ ตรวจ ประเมินผล และสอบสวนอย่างเป็นอิสระในการปฏิบัติราชการ และการดำเนินการโครงการต่างๆ ของส่วนราชการใน กอ.รมน. รวมถึงสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการร้องทุกข์ร้องเรียนตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย" พล.ต.พีรวัชฌ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากมติ ครม. เมื่อ 28 พ.ย. 60 อนุมัติให้ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา (อ.เทพา, อ.นาทวี, อ.จะนะ, อ.สะบ้าย้อย) และ อ.แม่ลาน จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 60 - 30 พ.ย. 61 นั้น คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้พิจารณาอนุมัติแผนปฏิบัติการสงขลา 61 และแผนปฏิบัติการอำเภอแม่ลาน 61 เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เป็นไปตามนโยบายการบริหาร และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความปลอดภัย ประชาชนมีความเชื่อมั่น และมีส่วนร่วมเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน
พล.ต.พีรวัชฌ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้มีข้อห่วงใยสภาวะเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จชต. จึงให้ กอ.รมน. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ จชต. มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ รวมถึงพิจารณาให้มีการประเมินความมั่นคง การพัฒนา ความเข้าใจและการมีส่วนร่วม ในพื้นที่ จชต. เพื่อเป็นข้อมูลอย่างรอบด้านในการพัฒนาพื้นที่ จชต. มีสันติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน