แอมเนสตี้ชวนร่วมแคมเปญWrite for Rights เขียนจดหมายถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิ์
มหกรรม "Write for Rights" ของแอมเนสตี้กลับมาแล้ว ปีนี้ชวนคนไทยร่วมกิจกรรม “Social Movemaze: มูฟโลก ให้มงลง” เป็นงานรวมตัวคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจปัญหาสังคม และพร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ติดอยู่ในวงจรของความอยุติธรรมทั่วโลกไปด้วยกัน ณ ลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคมนี้
ในเดือนธันวาคมของทุกปี ผู้คนหลายแสนคนทั่วโลกร่วมกันเขียนจดหมายมากมายเพื่อผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จดหมายหลายฉบับถูกส่งถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิโดยตรง ขณะที่จดหมายอีกจำนวนมากก็ถูกส่งไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องนั้นๆ จดหมายเพียงฉบับเดียวที่ถูกส่งถึงผู้มีอำนาจอาจไม่ได้รับความสนใจ แต่หากมีจดหมายนับหมื่นนับแสนฉบับที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนนั้นถูกส่งไป ก็ยากที่จะมองข้ามได้ การรณรงค์กว่า 56 ปีที่ผ่านมาของแอมเนสตี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเขียนเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกเปิดตัว "Write for Rights" แคมเปญเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยปีนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเลือกเน้นรณรงค์ช่วยเหลือสามกรณี ได้แก่
มาฮาดีนจากสาธารณรัฐชาด เขาติดคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะโพสต์โพสต์วิดีโอวิจารณ์รัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณที่ผิดพลาดและอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจบนเฟซบุ๊ก หลังจากนั้นเขาก็ถูกตำรวจกักขัง 3 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อหา เขาถูกซ้อม ช็อตไฟฟ้า ไม่ได้รับน้ำอาหาร และไม่ได้พบทนาย สุดท้ายถูกตั้งข้อหาทำลายความมั่นคงและแบ่งแยกดินแดน
ชากีเลีย แจ็กสันจากประเทศจาเมกา เธอเรียกร้องความยุติธรรมให้น้องชายที่ถูกตำรวจฆ่า หลังน้องชายถูกตำรวจยิงผิดตัวจนเสียชีวิต เธอต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรมพร้อมกับครอบครัวเหยื่ออีกหลายคน การรณรงค์ทำให้เธอโดนข่มขู่และคุกคามหลายรูปแบบแต่เธอก็ไม่ยอมแพ้
ซาคริส คูพีล่าจากประเทศฟินแลนด์ เขาเป็นนักศึกษาแพทย์และเป็นคนข้ามเพศที่สู้เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ แต่การจะเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้เขาต้องถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวชและถูกทำหมันเสียก่อน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหนือร่างกาย
Write for Rights หรือ “เขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิ” นั้นเป็นวิธีการรณรงค์ที่สำคัญของแอมเนสตี้ทั่วโลก โดยแบ่งการเขียนเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ 1. การเขียนเพื่อส่งไปกดดันรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ 2.การเขียนเพื่อส่งไปให้กำลังใจผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง
ในอดีตกิจกรรม Write for Rights ของแอมเนสตี้ใช้จดหมายเป็นหลัก แต่ในยุคที่เครื่องมือดิจิทัลและสื่อออนไลน์เฟื่องฟูเช่นนี้ การเขียนเพื่อรณรงค์จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเขียนจดหมายอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึงการเขียนโปสการ์ด การวาดรูป การร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การส่งอีเมล การโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย การโทรศัพท์ไปยังเป้าหมายโดยตรง ฯลฯ โดยในแคมเปญ Write for Rights ในปี 2559 ที่ผ่านมาเป็นอีกครั้งที่มีการสร้างสถิติใหม่ของกิจกรรมนี้ มี 4,660,774 ข้อความในรูปแบบต่างๆ ถูกเขียนโดยผู้คนมากกว่า 200 ประเทศและดินแดนต่างๆ เพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมและช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ
ในประเทศไทยปีนี้จะจัดกิจกรรม “Social Movemaze: มูฟโลก ให้มงลง” ในวันที่ 16 ธันวาคม 2560 ณ ลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ งานนี้เป็นการรวมตัวคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจปัญหาสังคม และพร้อมจะยื่นมือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ติดอยู่ในวงจรของความอยุติธรรมทั่วโลกไปด้วยกัน
ในวันงานจะมีกิจกรรม การเดินพาเหรด “Let me be” ที่จะให้อารมณ์แบบ Mini Gay Pride Parade เพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่มีการออกกฎหมายรองรับความหลากหลายทางเพศ กิจกรรม Write for Rights 2017 ในเขาวงกตยักษ์เพื่อยื่นมือช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ติดอยู่ในวงจรของความอยุติธรรมทั่วโลกไปด้วยกัน และพบกับพอลลีน งามพริ้งที่จะมาพูดสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ “กล้า” ที่จะเป็นตัวของตัวเอง