ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาทัศนมาตรเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ....
วันที่ 12 ธันวาคม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาทัศนมาตรเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดนิยามคำว่า “ทัศนมาตร” หมายความว่า การประกอบโรคศิลปะเกี่ยวกับสายตาของมนุษย์
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาทัศนมาตร ประกอบด้วย กรรมการที่เป็นผู้แทนจากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง และกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร โดยมีผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะเป็นกรรมการและเลขานุการ
3. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการวิชาชีพซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร
4. กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการวิชาชีพ และเหตุแห่งการพ้นจากการดำรงตำแหน่งของกรรมการที่เป็นผู้แทนจากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง และกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง
5. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งกรรมการวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งโดยผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร การเลือกประธานกรรมการวิชาชีพและรองประธานกรรมการวิชาชีพ
6. กำหนดอำนาจหน้าที่ และการดำเนินการของคณะกรรมการวิชาชีพสาขาทัศนมาตรโดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542
7. กำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตรในการขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตในการประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร รวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศต้องได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตรจากประเทศที่สำเร็จการศึกษาหรือประเทศที่ผู้นั้นปฏิบัติงานอยู่ด้วย
8. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบุคคลที่ได้รับหนังสืออนุญาตให้ทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2546) เรื่อง การอนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การต่ออายุหนังสืออนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะ โดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ พ.ศ. 2550
9. กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ไม่ใช้บังคับแก่การประกอบอาชีพเกี่ยวกับการตรวจวัดสายตาและการประกอบแว่นตาในร้านแว่นตาตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว