ภาคประชาชนจัดมหกรรม ชงข้อเสนอรับประชุมโลกร้อนโลกที่เม็กซิโก
เครือข่ายโลกเย็น และ 31 องค์กรภาคประชาชนจัดมหกรรม ถกแผนแม่บทพัฒนาภาคใต้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟันธงไม่เอาร่างแผนแม่บทโลกร้อนฉบับปัจจุบันของรัฐบาล นำเสนอพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับชุมชน-สิ่งแวดล้อม ผู้ได้รับผลกระทบต้องมีสิทธิออกเสียงโหวต
เมื่อเร็วๆนี้ คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม และกว่า 30 เครือข่ายภาคประชาชน จัด “มหกรรมความจริงเรื่องโลกร้อน : รอยเท้า ถุงผ้า และการเปลี่ยนแปลง” พร้อมการแถลงการณ์เครือข่ายประชาชนต่อรัฐบาลในประเด็นโลกร้อน ในเวทีพลังงานทางเลือกชุมชน และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ทางเลือกประเทศไทย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณtเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า กรณีโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกที่มีปัญหาในปัจจุบัน เกิดจากชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการเลือกและกำหนดข้อตกลงต่างๆ เพราะผู้ประกอบการหลายรายมักตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกกะวัตต์ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสุขภาพ(เอชไอเอ) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ดังนั้นการให้ชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังและแสดงความเห็นต่อนโยบายต่างๆถือว่าสำคัญมาก
“ผมว่าเรื่องนโยบายเป็นเรื่องที่เราเข้าไปร่วมได้ และบางเรื่องเช่นพลังงานลมหรือพลังงานทางเลือก ตอนนี้รัฐส่งเสริมแต่ผู้ประกอบการ ซึ่งความจริงชุมชนก็สามารถรวมตัวทำเองได้ ในขณะเดียวกันถ้ามีนโยบายต่างๆ มาชาวบ้านควรจะเข้าร่วมเพื่อศึกษาว่าเป็นอย่างไร และแสดงความคิดเห็น”
ขณะที่นายเฉลียว ส่องาม คณะทำงานพลังงานยั่งยืน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ สะท้อนว่า ชาวบ้านไม่มีทางเลือกหรือช่องทางแสดงความคิดเห็น เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมักไม่ให้ข้อมูล เมื่อสร้างเสร็จแล้วเกิดปัญหาก็มักอ้างว่าการก่อสร้างดำเนินการถูกต้อง ที่สำคัญมักอ้างว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ไม่กระทบโลกร้อน แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“ไปดูงานมาชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าถ้าซักเสื้อสีขาวตาก จะกลายเป็นสีดำเลย ตอนนี้เขาเดือดร้อนกันทั้งนั้นแต่ทำอะไรไม่ได้ ผมว่าถ้าจะสร้างผมก็ไม่ได้ห้าม แต่ขอให้เลือกสถานที่ให้ดี เรื่องการบำบัดกำจัดมลพิษ ทำให้พลังงานสะอาดอย่างแท้จริง แต่ที่รู้มาโรงไฟฟ้าขนาด 9.9 เมกลงมา ไม่มีเครื่องใหม่ โรงไฟฟ้าแบบนี้ในสุรินทร์กำลังจะเกิดขึ้นอีก 7 แห่ง มีแต่เครื่องมือสอง ขนาดรถยนต์มือสองยังต้องเอามาซ่อม”
ด้าน “เวทีหยุดโลกร้อนหยุดแผนพัฒนาภาคใต้” ตัวแทนจากหลายจังหวัดพูดถึงโครงการต่างๆ ของแผนพัฒนาฯ เช่น โครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และท่าเรือน้ำลึก ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อแหล่งทรัพยากรอย่างรุนแรง ซึ่งทุกคนเห็นตรงกันว่าการที่จะต่อสู้กับกลุ่มทุนต่างๆ ต้องเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายเพื่อให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ตัวแทนเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช กล่าวว่าหากรัฐบาลต้องการลดโลกร้อนจริงๆ ต้องทบทวนแผนแม่บทโลกร้อน หยุดแผนพัฒนาภาคใต้ เพราะเป็นตัวการทำให้โลกร้อน ซึ่งทางออกของพลังงานในภาคใต้ เช่น พลังงานลมจาก อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีผลการศึกษาชี้แล้วว่าเป็นพลังงานที่ดี ลงทุนไม่เยอะ ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 800 ตัวก็เพียงพอแล้ว อีกทั้งยังไม่ต้องทำลายวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านและฐานทรัพยากรประมง
ขณะที่นางวิจิตรา ชูสกุล คณะทำงานพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์ กล่าวว่า กำลังเป็นห่วงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกกะวัตต์ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เพราะส่วนใหญ่จะนำเสนอว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด ทั้งที่ส่งผลด้านมลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้
31 เครือข่ายภาคประชาชนยังได้อ่านแถลงการณ์ว่าการประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 16 ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก กำลังเริ่มต้นขึ้น เครือข่ายประชาชนต้องการให้ประเทศไทยดำเนินการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง และต้องการให้รัฐสนับสนุนกลไกการตั้งรับปรับตัวสำหรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ซึ่งภัยแล้งและอุทกภัยที่ทุกภูมิภาคประสบในปีนี้เป็นตัวชี้ว่ารอต่อไปอีกไม่ได้
เครือข่ายประชาชนจะติดตามนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทบทวนกระบวนการยกร่างแผนแม่บทฯที่จะต้องยืนอยู่บนหลักการต่อไป นี้ 1.ยึดหลักที่ผู้ก่อปัญหาต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไข โดยคำนึงถึงความแตกต่างทางสภาพเศรษฐกิจและการปรับตัวของประชาชน 2.ไทยจะต้องตั้งเป้าหมายควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและมีสภาพบังคับภายในรัฐ โดยหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 3. ปรับแผนพัฒนาพลังงานให้เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนมากที่สุด หยุดการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของโลกร้อน
4.สนับสนุนการเปลี่ยนแผนภาคเกษตรของประเทศไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ ที่คำนึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน 5.รัฐต้องยอมรับสิทธิและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในการอาศัยและจัดการทรัพยากรจากป่าอย่างยั่งยืนและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดินทำกินของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ชัดเจน 6.แนวทางการพัฒนาของรัฐในปัจจุบันกำลังส่งผลในเชิงลบต่อความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพูมิอากาศของขุมชน ดังนั้นรัฐต้องสนับสนุนและสร้างกลไกการตั้งรับปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรมและทันท่วงทีให้กับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มอ่อนไหวที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ชุมชนประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก และเกษตรกรรายย่อย.