ยกเครื่องนโยบายเกษตร วัดฝีมือ ‘กฤษฎา’ แก้ราคายางร่วง ตั้งเป้าส่วนราชการใช้เพิ่ม 5-8 หมื่นตัน
ยกเครื่องนโยบายเกษตร ‘สมคิด’ มอบนโยบาย กษ. โปรยยาหอม อีกไม่ช้าราคาผลผลิตดีขึ้น -วัดฝีมือ ‘กฤษฎา’ แก้ปัญหายางพารา ตั้งเป้าภายใน 2 สัปดาห์ นำยางใช้ในส่วนราชการต้องได้ 5-8 หมื่นตัน
จดหมายเปิดผนึก ของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อไม่กี่วันก่อน ผ่านทางนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับรายได้ต่อครัวเรือนของพี่น้องชาวภาคใต้ลดลง โดยอ้างอิงข้อมูลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น
โดยพบ 3 จังหวัด ที่มีรายได้ลดลงอย่างชัดเจน คือ จ.ระนอง ลดลงจาก 32,292 บาท ในปี 2556 เหลือเพียง 22,035 บาทในปี 2558 ลดลง 10,528 บาท, จ.ตรัง รายได้ลดลง จาก 33,270 บาท ในปี 2556 เหลือเพียง 23,309 ในปี 2558 ลดลง 9,961 บาท ซึ่งทั้งสองจังหวัดนี้รายได้ครัวเรือนต่อเดือนลดลงประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ จ.ยะลา ลดลงจาก 22,483 บาท เหลือเพียง 15,584 บาท ลดลง 6,999 บาท
แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการทำงานของรัฐบาล ที่นับวันพิสูจน์ให้เห็นว่า ตลอด 3 ปี ที่เข้ามาบริหารประเทศ ราคาพืชผลเกษตรยังตกต่ำ และปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ยางพารา’ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักและสร้างรายได้ให้พี่น้องชาวภาคใต้ คือหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดรายได้ลดลง
ถือเป็นภาระหนักไม่น้อยสำหรับ ‘นายกฤษฎา บุญราช’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ) คนใหม่ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งแทน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ
ด้าน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจในคราวไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ว่า อีกไม่นานราคาสินค้าเกษตรจะดีขึ้นแน่นอน
แล้วเมื่อไหร่ คำตอบที่ได้ คือ ขึ้นอยู่กับว่า ทำงานได้ดีแค่ไหน แล้วผลลัพธ์จะเกิดขึ้นมาเอง อย่างไรก็ตาม ดร.สมคิด ยังระบุว่า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้สินค้าของไทยมีมูลค่าน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น
อย่างไรก็ดี เวลาที่เหลืออยู่อีก 1 ปี ของรัฐบาล รับปากจะเร่งรัดให้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยทุกเรื่องจะถูกเร่งเครื่องออกมา และภายใน 3 เดือน หลังจากนี้ จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง
ดร.สมคิด กล่าวว่า เกษตรกรมีรายได้ลดลง เป็นปัญหาที่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะ ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กำชับให้ รมว.เกษตรฯ เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหา
“ราคายางพาราตกต่ำเป็นปัญหาที่สะสมมานาน 15 ปี จากเดิมปลูกเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ก่อนจะขยายพื้นที่ปลูกมาภาคอีสานและเหนือ เพราะราคายางสูง เนื่องจากราคาน้ำมันสูง ไม่มีสินค้าทดแทนน้ำมัน แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันลดลง เพราะมีสินค้าทดแทนน้ำมัน แต่กระบวนการผลิตยางพาราไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ล้นตลาด และราคาตกต่ำ ดังนั้น ระยะสั้น ต้องช่วยกันประคับประคองให้ราคายางพารามีความเหมาะสม ไม่ต่ำกว่าทุน ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลและหารือกับสมาคมผู้ประกอบการต่าง ๆ ขณะที่ระยะยาว ต้องพัฒนาให้ยางพารามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น” ดร.สมคิด กล่าว
ดร.สมคิด ยังกล่าวด้วยว่า กระทรวงเกษตรฯ ต้องทำ Big data เกี่ยวกับข้อมูลเกษตรกรรม เชื่อมโยงกับทุกกระทรวง กรม เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำ จะต้องไม่มีการหวงข้อมูลระหว่างกัน หากยังไม่มีให้จัดซื้อจัดจ้างบริษัทภายนอกในการดำเนินงานโดยด่วน เพื่อข้อมูลที่เคยมั่วไว้ จะได้เลิกมั่วกัน
ขณะที่ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ เปิดเผยถึงนโยบายภายในสัปดาห์นี้จะประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้มีการเร่งรับซื้อยางพาราให้มากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมียางพาราถูกนำไปใช้ในส่วนราชาการแล้ว 3.3 หมื่นตัน แต่จะมีการหารือกับกระทรวงคมนาคมเพิ่มให้นำยางพาราไปใช้ในโครงการซ่อมถนนในเขตชนบท โดยนำไปเป็นส่วนผสมชั้นกลางในการปูถนน คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ ต้องมีจำนวนนำไปใช้ในส่วนราชการเพิ่มขึ้นเป็น 5-8 หมื่นตัน และจะไม่มีการนำยางพาราในสต๊อกขณะนี้ที่มีอยู่ 1.04 แสนตัน ออกมาใช้เด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปยางพาราไทย ได้แก่ 1) การปฏิรูปเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งสมาคมดังกล่าวดูแลเกษตรกรรายย่อยเป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนหลายแสนคน จึงเสนอให้ปฏิรูปตัวเอง โดยใช้หลักการให้เกษตรกรรายย่อยต้องพึ่งพาตนเองได้ และอยู่อย่างพอเพียง รวมถึงต้องลดการขอความช่วยเหลือจากทางภาครัฐ
2) การปฏิรูปสวนยาง ให้เปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นการทำสวนยางอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น โดยเพิ่มพื้นที่การปลูกพืชอื่น ๆ เช่น การปลูกพืชแซมยาง
3) ปฏิรูปการผลิตและการแปรรูป ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ชาวสวนยาง เพื่อรวบรวมน้ำยางมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และถ้ามีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นก็จะสามารถทำการตลาดได้
4) ปฏิรูปการตลาด โดยลดพื้นที่ในการปลูกยาง ไม่จำเป็นต้องปลูกยางเพียงอย่างเดียว จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนพืชอื่นทดแทน ขณะเดียวกันขอให้มีการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ สมาคมยังได้มีข้อเสนอเพิ่มเติม โดยขอให้มีตัวแทนเกษตรกรรายย่อยเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเรื่องยาง นำเสนอกลยุทธ์เพิ่มเติมที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี เป็นผลสัมฤทธิ์และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย สามารถปฏิบัติได้จริง และอยากให้มีการปรับปรุงระเบียบภายในของการยางแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 49(5) กรณีกฎหมายให้สามารถนำเงินค่าธรรมเนียมการนำออกยางร้อยละไม่เกิน 7 ไปเป็นสวัสดิการให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเสนอให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยรวมถึงผู้กรีดยางได้รับประโยชน์จากเงินก้อนนี้ด้วยในรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมจากภาคเกษตรกร ที่มิใช่รูปแบบสงเคราะห์อย่างเดียว เพื่อให้เงินกองทุนเติบโต
โปรดติดตามดูต่อไป เวลา 1 ปีหลังจากนี้ จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือว่าสุดท้าย ผลลัพธ์จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือเเค่โปรยยาหอมให้เกษตรกรชื้นใจเหมือนอดีตที่ผ่านมา .
# กดติดตามข่าวสาร รวมแสดงความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา ได้ที่เพจ @isranewsfanpage