กาฬสินธุ์ลุยสอบโครงการ 9101ปมซื้อพันธุ์ข้าว-ปลาดุกราคาแพง
วันที่ 10 ธ.ค. 2560 จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ของกลุ่มชุมชนบัวบาน 1 และกลุ่มชุมชนบัวบาน 2 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการเสนอซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรังราคากระสอบละ 700 บาท พันธุ์ปลาดุกตัวละ 3 บาท หัวอาหารปลาดุกราคากระสอบละ 550-600 บาท และปุ๋ยชีวภาพกระสอบละ 550 บาทพันธุ์ ซึ่งแพงเกินความเป็นจริงและราคาสูงกว่าท้องตลาด ต่อมาคณะกรรมการชุมชนอ้างว่าเป็นเพียงการเสนอราคาซื้อเท่านั้น โดยราคาที่จะซื้อจริงคือพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรังกระสอบละ 560 บาท ปุ๋ยชีวภาพกระสอบละ 440 บาท พันธุ์ปลาดุกตัวละ 2.50 บาท และหัวอาหารปลาดุกกระสอบละ 500-600 บาท แต่ชาวบ้านยังเชื่อว่า ราคายังสูงและแพงกว่าท้องตลาดอยู่อีกจำนวนมาก
ล่าสุด สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน จ.กาฬสินธุ์ หรือ สตง.กาฬสินธุ์ ปปท.และกอ.รมน.กาฬสินธุ์ได้เข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว พร้อมกับให้ทางอำเภอยางตลาดและเกษตรอำเภอยางตลาดเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าสาเหตุใดจึงได้กำหนดราคาซื้อปัจจัยการผลิตสูงและราคาแพงขนาดนี้ พร้อมทั้งเข้าตรวจสอบเอกสารสัญญาของผู้ประกอบการที่นำพันธุ์ข้าวเปลือก ปลาดุก ปุ๋ย และหัวอาหารมาขายให้กับชาวบ้าน และให้รายงานผลการตรวจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้การดำเนินการโดยใช้งบประมาณแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ซึ่งหากพบการเอื้อผลประโยชน์กับนายทุนผู้ประกอบการและหากพบการทุจริตจะต้องถูกดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที
ทั้งนี้มีรายงานว่า ตัวแทนบริษัทเอกชน ซึ่งจำหน่ายสินค้าการเกษตรรายใหญ่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าลงบันประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ได้ทำข้อตกลงเพื่อจำหน่ายเม็ดพันธุ์ข้าวชนิดต่างๆกับร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรแห่งหนึ่งที่นำไปขายให้กับชุมชน และส่งมอบพันธุ์ข้าวตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2560 ซึ่งทางบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการนำสินค้าดังกล่าวไปจำหน่ายต่อยังบุคคลที่ 3 และทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบต่อข้อตกลงเรื่องราคาหรือการรับประกันร้านจำหน่ายสินค้าและบุคคลที่ 3 จึงเข้ามาลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
อย่างไรก็ตามล่าสุดชาวบ้านยังพบความผิดปกติของการดำเนินงานโครงการดังกล่าวในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการดำเนินการทั้งหมด 18 ชุมชน 39 โครงการ รวมเป็นเงินงบประมาณ 23,075,000 บาท และส่วนใหญ่ เป็นโครงการเลี้ยงปลาดุกมากถึง 18 โครงการ รองลงมาคือการปลูกพืชระยะสั้น 11 โครงการ โดยชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมเกิดความสงสัยและตั้งข้อสังเกตว่าราคาสูงกว่าความเป็นจริงและแพงกว่าราคาท้องตลาดหรือไม่ โดยเฉพาะราคาของพันธุ์ปลาดุก ซึ่งผู้ประกอบการที่รับงานจากคณะกรรมการของชุมชนต่างๆ นำมาส่งมอบให้กับชาวบ้านในราคาตัวละ 2 บาทนั้น ทำไมขนาดตัวปลาจึงได้เพียงขนาด 5-7 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นปลาเล็กจิ๋วมาก ทั้งๆพื้นที่อื่นจัดส่งพันธุ์ปลาดุกราคาตัวละ 2 บาทเท่ากัน แต่กลับได้ขนาดปลาดุกใหญ่ถึง 7-10 เซนติเมตร และบางพื้นที่ได้ปลาตัวใหญ่ถึง 10 -13 เซนติเมตร ไม่เหมาะสมกับชื่อพันธุ์ปลาดุกบิ๊กอุย นอกจากนี้ยังมีเรื่องราคาหัวอาหารปลาดุกที่จัดซื้อกันแพงถึงกระสอบละ 550-600 บาท และปุ๋ย ซึ่งแพงกว่าท้องตลาดอย่างมาก ทั้งๆที่แต่ละชุมชนนั้นซื้อจำนวนมาก จะต้องได้ราคาถูกและส่วนลดมากกว่า ชาวบ้านจึงเกรงว่าอาจจะกลายเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่าประโยชน์ของชาวบ้าน
โดยเรื่องดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเรียกร้องให้ สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ สตง.ปปท.และกอ.รมน.กาฬสินธุ์เร่งตรวจสอบการซื้อปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งพันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และปุ๋ย ที่สูงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง อ.นาคู เขาวง และ อ.สมเด็จ เพราะนอกจากจะมีซื้อในราคาค่อนข้างแพงแล้ว ยังมีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่เป็นผู้นำส่งปัจจัยการผลิตทั้งหมดครอบคลุมทั้งอำเภอ และไม่มีการแข่งขันราคากัน เพื่อให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ อีกทั้งยังพบว่าหลายพื้นที่มีผู้นำชุมชนนำเครือญาติเข้ามาเป็นผู้รับเหมาส่งของทั้งหมด และมีเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรฯนำผู้ประกอบการเข้ามาจัดส่งปลา หัวอาหารและปุ๋ยเองอีกด้วย