เปลี่ยน ‘เมืองม็อบ’ เป็น ‘เมืองพลังงานชีวมวล’
ในพื้นที่ได้มีการปลูกยูคาลิปตัส กระถินลูกผสม (เทพณรงค์) กระถินณรงค์ และสนชวา ซึ่งจัดอยู่ในพืชตระกูลถั่ว แม้อยู่ในรายชื่อพืชรุกรานแต่มีศักยภาพในการปลูกเป็นพืชพลังงานได้
โครงการอุตสาหกรรมป่าไม้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหน้าที่ดูแลผืนป่าเศรษฐกิจประมาณ 1.5 แสนไร่ ที่ผ่านมายังไม่ได้พัฒนาอย่างจริงจัง ปลูกไม้ตามสัมปทานทำไม้ แต่ไม่ได้มุ่งหวังรายได้ทางเศรษฐกิจจึงไม่มีรายได้อะไร
ต่อมาในปี 2535 เริ่มมีการปลูกพืชเศรษฐกิจและใช้ประโยชน์ได้ในสวนป่าช่องเม็ก อุบลราชธานี เพื่อให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังขาดการพัฒนา ไม่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ และการดูแลรักษาอย่างจริงจัง
ปัญหาหลักที่ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ เพราะพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองม็อบ”
ก่อนนี้ชาวบ้านอยากปลูกยางพารา เจ้าหน้าที่ของ อ.อ.ป. ก็ส่งเสริมให้ปลูกและดูแลรักษา เพื่อให้ชาวบ้านมีงานทำจากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตร โดยชาวบ้านจะมีส่วนแบ่งจากการกรีดและขายน้ำยางพาราสดร้อยละ 40 ส่วนรายได้อีกร้อยละ 60 เป็นขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ซึ่งชาวบ้านจะมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณคนละ 10 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 5,000 ไร่
ส่วนยูคาลิปตัส ซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณ 7,000 ไร่นั้นชาวบ้านจะมีรายได้จากค่าจ้างทำไม้
"เรายังอยากปลูกไม้เศรษฐกิจอื่น ๆ ให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ อ.อ.ป.มีรายได้อย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันก็สร้างงานสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ราษฎรในท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาปรับปรุงปลูกทดแทนสวนป่าแปลงเก่า และรักษาความสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้มีความหลากหลายทางพันธุ์พืชมากที่สุด”
นายบรรยง บุญญโก หัวหน้าฝ่ายจัดการสวนป่า อ.อ.ป.ตะวันออกเฉียงเหนือ เล่าถึงการดำเนินงานให้คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ.–สกว. นำโดย ศ. ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ อดีตผู้อำนวยการ สกว. ในฐานะประธานกรรมการโครงการร่วมฯ รวมถึงคณะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมเดินทางไปเยี่ยมชมแปลงวิจัยไม้โตเร็ว ณ สวนป่าพิบูล และสวนป่าช่องเม็ก องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ฟังว่า ในแถบตะวันออกนี้ของจังหวัดอุบลราชธานีมีเขื่อนสิรินธรและเขื่อนปากมูล ซึ่งได้มีการชุมนุมประท้วงเป็นระยะ ๆ มาเป็นเวลายี่สิบสามสิบปี จนพื้นที่ดังกล่าวได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “เมืองม็อบ” การจะดำเนินการใด ๆ จึงต้องผ่านความเห็นชอบยินยอมของมวลชนเสียก่อน
พื้นที่สวนป่าช่องเม็กมีหมู่บ้านและชุมชนรอบ ๆ สวนป่าที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปลูกสร้างสวนป่าจำนวน 7 หมู่บ้าน มีราษฎรกว่า 1,000 ครอบครัว ที่ร่วมปลูกมันสำปะหลัง มีรายได้จากการทำวนเกษตร การรับจ้างสวนป่า และเก็บหาของป่า เจ้าหน้าที่ อ.อ.ป.ได้สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อแบ่งพื้นที่ป่าในการปลูกไม้เศรษฐกิจ ส่วนพื้นที่ในส่วนอื่น ๆ ก็อนุรักษ์ไว้เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ โดยดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แต่การขาดการวิจัยและพัฒนา ขาดเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง
ที่สำคัญคือการขาดงบประมาณ เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาสวนป่าเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในปี 2559 ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “ระบบการปลูกและการจัดการไม้โตเร็วในการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลบนที่ดินเสื่อมโทรม” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการร่วมฯ ได้เข้ามาขอใช้พื้นที่ในการดำเนินโครงการวิจัย
ดร.มะลิวัลย์และคณะได้ศึกษาระบบการปลูกและการจัดการที่เหมาะสมของการปลูกไม้โตเร็วในพื้นที่เสื่อมโทรม เน้นพื้นที่ระดับเฝ้าระวังและระดับวิกฤต และไม่กระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร ซึ่งมีพื้นที่ “โมเดลเชิงสาธิต” ใน 5 จังหวัดตามภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงสวนป่าช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ตลอดจนหารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม และขยายผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลอัตราการเติบโต ผลผลิต การหมุนเวียนสารอาหาร การเก็บกักคาร์บอน ค่าพลังงานที่ได้ รวมถึงผลตอบแทนทางการเงินและเศรษฐศาสตร์
“แนวคิดสำคัญของเราคือ การพยายามดึงคนรุ่นลูกขึ้นมาดูแลรับผิดชอบแทนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มีอายุมากแล้ว ในอนาคตน่าจะขยายผลได้เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น
ปัจจุบันแรงงานหนุ่มสาวที่ออกไปทำงานในกรุงเทพฯ ก็หมุนเวียนกันกลับมาเป็นแรงงานหลักของครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 500 ครอบครัว ซึ่งไม้โตเร็วรวมทั้งไม้ยูคาลิปตัสมีรอบการตัดไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยจะขายไม้ให้กับบริษัทผลิตเยื่อกระดาษ ไม้แปรรูป และเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวล”
จากการทดลองปลูกยูคาลิปตัสรวม 4 สายพันธุ์ พบว่าสายพันธุ์ของเวียดนามที่เพาะเมล็ดเติบโตดีที่สุด ทั้งนี้จะวัดเส้นผ่านศูนย์กลางเมื่อต้นมีความสูงที่ 1.3 เมตร และทุก ๆ เดือนจะเก็บใบยูคาลิปตัสที่ร่วงหล่นลงไปในลิตเตอร์แทร็ป (Litter trap) เพื่อดูปริมาณใบที่หลุดร่วงและวิเคราะห์ธาตุอาหาร การหมุนเวียน การสูญเสีย และการปลดปล่อยธาตุอาหาร ซึ่งจะเป็นการวิจัยเพื่อตอบ
คำถามว่าการปลูกไม้โตเร็วที่มีรอบตัดฟันสั้นทำให้ดินเสียหรือไม่
ในพื้นที่ได้มีการปลูกยูคาลิปตัส กระถินลูกผสม (เทพณรงค์) กระถินณรงค์ และสนชวา ซึ่งกระถินลูกผสม กระถินณรงค์ และสนชวา จัดอยู่ในพืชตระกูลถั่ว แม้อยู่ในรายชื่อพืชรุกรานแต่มีศักยภาพในการปลูกเป็นพืชพลังงานได้
อีกทั้งสามารถนำใบมาสับให้ละเอียดเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้เนื่องจากมีปริมาณโปรตีนในใบสูง
ด้าน ผศ. ดร.รุ่งเรือง พูลสิริ จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการปลูกยูคาลิปตัสร่วมกับมันสำปะหลังในระบบวนเกษตรในพื้นที่ดินเสื่อมโทรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” นำชมพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัสร่วมกับมันสำปะหลังในแปลงทดลอง เพื่อหวังจะสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งนอกจากรูปแบบที่เหมาะสมแล้วนักวิจัยยังต้องนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อหารูปแบบธุรกิจที่นำไปขยายผลได้ และหาแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับการส่งเสริมพื้นที่ผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานด้วย
ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทดลองแบบสุ่มในบล็อกสมบูรณ์ แบ่งเป็น 3 บล็อก ได้แก่ รูปแบบที่ 1 แปลงปลูกไม้โตเร็ว (ยูคาลิปตัส) ระยะ 3x1 เมตร สลับกับมันสำปะหลัง 1 แถว รูปแบบที่ 2 ไม้โตเร็วระยะ 2x1 เมตร เว้นระยะห่าง 8 เมตร ปลูกมันสำปะหลังระยะปลูก 1x1 เมตร จำนวน 6 แถว และรูปแบบที่ 3 ไม้โตเร็วระยะ 2x1 เมตร จำนวน 3 แถว เว้นระยะห่าง 4 เมตรเพื่อปลูกมันสำปะหลังระยะปลูก 1x1 เมตร จำนวน 3 แถว
ผลการวิจัยที่ผ่านมาในรอบ 1 ปี พบว่า ยูคาลิปตัสสายต้น H4 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระดับชิดดิน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก ความสูงโดยรวมเฉลี่ยมากกว่ายูคาลิปตัสสายต้น P6 ทุกรูปแบบการปลูก
สายต้น P6 มีอัตราการรอดตายเฉลี่ยโดยรวมมากกว่าสายต้น H4 นอกจากนี้อัตราการรอดตายโดยรวมของมันสำปะหลังรอบปีที่ 2 ที่ปลูกร่วมกับยูคาลิปตัสอายุ 1 ปี ในแปลงปลูกยูคาลิปตัสสายต้น P6 มากกว่าสายต้น H4 ทุกรูปแบบการปลูก โดยมันสำปะหลังที่ปลูกร่วมกับยูคาลิปตัสสายต้น P6 มีอัตรารอดตายในแปลงรูปแบบที่ 1 มากที่สุด
ส่วนมันสำปะหลังที่ปลูกร่วมกับยูคาลิปตัสสายต้น H4 มีอัตราการรอดตายแปลงปลูกรูปแบบที่ 3 มากที่สุด
น้ำหนักทั้งหมดของมันสำปะหลังและน้ำหนักแห้งของเหง้ามันรอบปีที่ 1 อายุ 6 เดือน พบว่าน้ำหนักทั้งหมดของสายพันธุ์ระยอง 5 (ก้านขาว) และ 9 (ก้านแดง) ที่ปลูกร่วมกับยูคาลิปตัสสายต้น H4 และ P6 มีค่าสูงที่สุดในแปลงปลูกรูปแบบที่ 1 ขณะที่น้ำหนักแห้งของเหง้ามันสายพันธุ์ระยอง 5 ที่ปลูกร่วมกับยูคาลิปตัสสายต้น P6 และ H4 มีค่าสูงสุดในแปลงปลูกรูปแบบที่ 2 และ 1 ตามลำดับ
ส่วนน้ำหนักแห้งของเหง้ามันสายพันธุ์ระยอง 9 มีค่าสูงสุดในแปลงปลูกรูปแบบที่ 1
ในโอกาสนี้คณะของโครงการร่วม กฟผ. – สกว. ยังได้มีโอกาสไปดูงานโครงการวิสาหกิจชุมชนต้นแบบแปรรูปไม้สับ ซึ่งสนับสนุนโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และโรงงานเชื้อเพลิงอัดแท่งของบริษัท Power Pellet SRT จำกัด ซึ่งมีโรงงานแรกอยู่ที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่
ส่วนที่จังหวัดอุบลราชธานีกำลังดำเนินการก่อสร้าง จะเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า ซึ่งได้มีการเจรจากับโรงไฟฟ้าของญี่ปุ่นเพื่อรับซื้อเชื้อเพลิงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คณะวิจัยของ สกว. ได้เข้ามาช่วยเหลือแนะนำการปลูกไม้โตเร็วให้ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับโรงงานและโครงการวิสาหกิจชุมชน เนื่องจากวัตถุดิบที่มีอยู่ผลิตได้ไม่เพียงพอ และประหยัดค่าขนส่งซึ่งเป็นอีกตัวแปรสำคัญของต้นทุนการผลิต โดยจะมีการอบรมการปลูกแก่สมาชิกปีละครั้ง
เชื้อเพลิงอัดแท่งจะต้องมีความชื้นไม่เกิน 12-15% โดยปกติไม้สับจะมีความชื้นอยู่ที่ประมาณ 45% ตากเพียง 2 แดดก่อนเข้าเครื่องอบไล่ความชื้นและอัดแท่ง จึงไม่สิ้นเปลืองพลังงานความร้อนในการผลิตมากนัก ยกเว้นในช่วงฤดูฝน โดยทางโรงงานตั้งเป้าไว้ว่าจะมีกำลังการผลิตชั่วโมงละ 4.5 ตัน วันละ 20 ชั่วโมง เป็นเวลา 300 วัน/ปี ราคาขายหน้าโรงงานตันละ 3,000 บาท
นับเป็นธุรกิจพลังงานที่มีอนาคตอย่างมาก เพราะไทยเราอยู่ในระดับแถวหน้าของเอเชีย
ในส่วนของผู้สนับสนุนทุนวิจัย รศ. ดร.ศุภชาติ จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้ประสานงานโครงการร่วมฯ ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการดำเนินงานวิจัยว่า งานวิจัยของเราทำตามความต้องการของชาวบ้านในการปลูกมันสำปะหลังระหว่างไม้โตเร็ว เนื่องจากสำปะหลังสามารถเก็บขายได้ในระยะสั้นกว่า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้หมุนเวียนไปใช้จ่ายเร็วขึ้น"
นอกจากนี้ยังมีการขยายผลต่อยอดงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น การใช้ประโยชน์ด้านพลังงานชีวมวลของวิสาหกิจชุมชนผ่าน พพ. และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กฟผ. ในการปลูกป่าที่บึงกาฬ โดยจะนำผลงานวิจัยจากที่อุบลราชธานีไปเป็นแบบอย่าง
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ สกว. ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการปลูกไม้โตเร็ว สร้างงานสร้างอาชีพแก่คนในพื้นที่ ให้ชาวเมืองดอกบัวมีรายได้มากขึ้น และที่สำคัญคือช่วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอีกด้วย