ชาวบ้านบุกกรมอุทยานฯ รมว.ทส.ยันไม่เลิกเก็บค่าโลกร้อน-ไม่เลิกฟ้องคดี
ชาวบ้านกว่า 100 บุกกรมอุทยานฯ ร้องเลิกเกณฑ์ค่าโลกร้อน-ฟ้องคดี ระบุไม่เป็นธรรมกับชุมชนและนักวิชาการไม่ยอมรับ สุวิทย์ยันไม่เลิกเก็บ-ไม่เลิกฟ้อง แต่ 1-2 เดือนจะปรับโมเดลใหม่ อ้างไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะเกษตรกร นายทุนก็โดนคดี
วันที่ 30 พ.ย.53 ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายสมนึก พุฒนวล ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.) พร้อมชาวบ้านที่ถูกฟ้องคดีโลกร้อนกว่า 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยกเลิกการบังคับใช้แบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม(เกณฑ์คิดค่าโลกร้อน) ตามมาตรา 97 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และยุติการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติจากชาวบ้านหรือเกษตรกรทั้งหมด(คดีโลกร้อน)
นายสมนึก กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวบ้าน 34 รายโดน 11 คดีโลกร้อน ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 13 ล้านบาท ทั้งจากพื้นที่ภาคเหนือ อีสานและภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณเทือกเขาบรรทัด บางรายถูกยึดพื้นที่ทำกินที่ทับซ้อนเขตอุทยานฯ และไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่ได้ดังเดิม ซึ่งทาง คปท.เห็นว่าแบบจำลองนี้ควรยกเลิก เพราะไม่มีความเหมาะสมหลายประการ เช่น วิธีการและหลักการคิดคำนวณซึ่งไม่เป็นวิชาการ อีกทั้งการประเมินมูลค่าความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้มีนักวิชาการรับรองอย่างกว้างขวาง จึงไม่เป็นที่ยอมรับ
โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านที่ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหาย เป็นเพียงเกษตรกรรายย่อยที่ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม และอาศัยตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ป่ามาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่ถูกกล่าวหาว่าการทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ขณะที่อุตสาหกรรมและคนในเมืองบริโภคทรัพยากรและปล่อยมลพิษอย่างมหาศาล ดังนั้นจึงอาจเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยละเลยความเป็นจริงของสังคม และเลือกปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อชาวบ้าน
“เป็นการออกกฎที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประ ชาชน แต่กรมอุทยานฯกลับไม่เคยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนบังคับใช้แบบจำลอง คปท.จึงเรียกร้องให้ยกเลิก” นายสมนึก ระบุ
ด้านนายธีรภัทร์ ประยูรสิทธิ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่าเรื่องโมเดลคิดค่าเสียหายโลกร้อนที่ชาวบ้านมาร้องเรียนครั้งนี้ ยอมรับว่าวิธีการที่นำมาใช้คำนวณอาจจะยังไม่เป็นไปตามหลักวิชาการมากนัก ซึ่งเรื่องนี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรี ทส.ได้สั่งการให้กรมอุทยานฯ ร่วมกันพิจารณาเพื่อเตรียมปรับโมเดลให้รอบด้านแล้ว ทั้งนี้ทางนักวิจัยคือ ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล จะร่วมกับสำนักวิจัยอุทยานแห่งชาติฯ และสำนักพัฒนาต้นน้ำ เก็บข้อมูลรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติม โดยเฉพาะตัวเลขค่าเสียหายจากดิน น้ำ อากาศ ซึ่งอาจต้องเก็บข้อมูลบางรายการให้ครบทั้งฤดูกาลก่อนจะนำมาพัฒนาเป็นแบบจำลองใหม่
“ยอมรับว่าโมเดลที่ออกมาก่อนหน้านี้อาจไม่ครบองค์ประกอบและเหมาะสมกับการนำไปใช้ ต้องมีการปรับแก้เพิ่มเติม แต่คงไม่สามารถยกเลิก เนื่องจากเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตามภายใน 1-2 เดือนข้างหน้าอาจจะเห็นข้อมูลเบื้องต้น สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือโมเดลที่พัฒนาใหม่จะเสนอให้ผู้เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ชาวบ้านร่วมกันแสดงความเห็นและตรวจสอบ” รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุ
นายธีรภัทร์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมอุทยานฯไม่ได้เลือกปฏิบัติฟ้องร้องค่าเสียหายคดีโลกร้อนกับกลุ่มเกษตรกรและชาวบ้านรายเล็กๆเท่านั้น แต่จะดำเนินการกับคนที่ทำลายป่าไม้อย่างยุติธรรมทุกกรณี ล่าสุดได้ฟ้องผู้มีอิทธิพลในคดีโลกร้อนเพิ่ม 2 รายในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และปราจีนบุรี โดยอัยการสั่งฟ้องและอยู่ในกระบวนการชั้นศาล ส่วนการเรียกค่าเสียหายในแต่ละกรณีที่บางรายอาจจะบอกว่าสูงมากนั้นขึ้นกับดุลยพินิจของศาลจะตัดสินออกมา
ภาพประกอบจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=21092