พลิกปูมประวัติ ว่าที่ 7 เสือกกต. ก่อนถึงยุคเปลี่ยนผ่านรัฐบาล 'บิ๊กตู่'
ในที่สุดสังคมไทยก็ได้รายชื่อบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ ครบจำนวนทั้ง 7 คน เรียบร้อยแล้ว!
เมื่อภายหลังจากที่คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประชุมหารือจนได้ข้อสรุปรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง กกต. จำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1. นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, 2.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), 3.นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, 4.นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ และ 5.นายประชา เตรัตน์ อดีตผวจ.นราธิวาส ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ประชุมเพื่อหาผู้ได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่ง กกต.อีก 2 คน ประกอบด้วย 1.นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและ 2.นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา รวมสมาชิก กกต.ทั้งสิ้น 7 คน
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รวบรวมข้อมูลประวัติ-ประสบการณ์การทำงาน กกต.ทั้ง 7 คน มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ
เกิดวันที่ 23 ธ.ค. 2499 จบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (รัฐศาสตร์) 2512 มหาวิทยาลัยรามคำแหงพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์) 2526 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต 2544จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบันพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (พ.ศ. 2552 – 2556)คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (พ.ศ. 2549– 2552)หัวหน้าคณะวิชาวิทยาการจัดการ วิทยาลัยครูอุบลราชธานี (พ.ศ. 2532 – 2536)อักษรเลขจังหวัดแม่ฮ่องสอน (พ.ศ.2544 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือเครื่องราชทวีติยาภรณ์และเครื่องราชช้างเผือกประถมาภรณ์มงกุฎไทย
@ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์
เกิดเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2503 สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม อันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ. 2525 ระดับปริญญาโท ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2529 และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2556 มีประสบการณ์ทำงานไล่เรียงมาตั้งแต่เป็น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณ สำนักงบประมาณเมื่อปี พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2547 เป็นที่ปรึกษาประธาน คตง. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปี พ.ศ.2548 เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงาน กทช. ปี พ.ศ.2548-พ.ศ.2549 เป็นรองเลขาธิการสำนักงาน กมช.ปี พ.ศ. 2549- พ.ศ.2552 รักษาการในตำแน่งเลขาธิการ กทช.ตั้งแต่วันที่ 1 .ค. 2552 ถึง 19 ธ.ค.2553ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ กสทช.ตั้งแต่ 20 ธ.ค. 2553 ถึง 4 ม.ค. 2555 ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ กสทช.ตั้งแต่ 5 ม.ค.2555 จนถึง4 ม.ค. 2560 และดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ กสทช.ตั้งแต่5 ม.ค. 2560 เป็นวาระที่ 2 จนถึงปัจจุบัน
@ นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์
เกิดวันที่ 24 ก.ค. 2497 จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาช่างยนต์ จากโรงเรียนช่างกลปทุมวัน เมื่อปี พ.ศ. 2516 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ปี พ.ศ. 2518 และระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมเครื่องกล) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ต่อจากนั้นจึงได้สอบชิงทุนรัฐบาลระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน มีประวัติในการทำงานตั้งแต่รับราชการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531-พ.ศ. 2539 เป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ในปี พ.ศ. 2539-พ.ศ. 2541 ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. 2540 ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการเงินกู้ธนาคารโลก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอีกตำแหน่งหนึ่ง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลขึ้น 9 แห่งทั่วประเทศไทย นายอิสสรีย์จึงได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และในปีเดียวกันจึงได้ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์เป็นคนแรกและดำรงตำแหน่งดังกล่าวในวาระแรกในเดือน ส.ค. 2548 ถึง ส.ค. 2552 และในวาระที่ 2 ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2552 ถึง ส.ค. 2556 โดยปัจจุบันนายอิสสรีย์ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการบำนาญสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
@ นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ
เกิดวันที่ 9 เม.ย. 2504 จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2530 จบนิติศาสตร์มหาบัณฑิต ปี 2543 มีประสบการณ์ด้านการทำงาน เป็นหัวหน้าสำนักงานกหมายรัตนากร หัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ อุปนายกสมาคมผู้นำสตรีและชุมชน จ.ปทุมธานี และล่าสุดเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ความรู้ทางกฎหมายให้กับประชาชน คณะกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นระยะเวลา 27 วัน
@ นายประชา เตรัตน์
เกิดวันที่ 7 ต.ค. 2495 จบการศึกษาจากคณะ รัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาจากคณะพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีประสบการณ์เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2546- 2547 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสปี 2547-2549 ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี 2549-2552 รองปลัดกระทรวงมหาดไทยปี 2554-2555 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ปี 2557-2558 ประธานกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น สปช. 2557-2558 และกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2557-2558 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการบำนาญ กระทรวงมหาดไทย
สำหรับในส่วนของกกต. 2 ราย ที่มาจากศาลฎีกา ปรากฎข้อมูลดังนี้
@ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี
ปัจจุบันอายุ 64 ปี จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ มีประสบการณ์เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาแล้วไปดำรงตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ มีประสบการณ์เป็นประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ เป็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 และต่อมาก็ได้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งในตำแหน่งในปัจจุบัน
@ นายปกรณ์ มหรรณพ
ปัจจุบันอายุ 62 ปี จบการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จบการศึกษาในระดับปริญญาโทจากนิด้า มีประสบการณ์การทำงานอาทิทำงานเป็นผู้ช่วยพิพากษา ในปี 2525 และในปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา
ทั้งหมด คือ ประวัติและประสบการณ์การทำงาน ของว่าที่ กกต.ทั้ง 7 ราย ที่จะเข้ามาทำหน้าที่สำคัญในการจัดการเลือกตั้งระดับต่างๆ เพื่อเฟ้นหาตัวบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารงานประเทศต่อ จากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วง พ.ย.2561 นี้
ส่วนด่านสุดท้ายจากนี้ไป สนช. จะตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบประวัติคุณสมบัติ และความเหมาะสมว่า บุคคลทั้ง 7 รายชื่อนี้ ว่ามีความเหมาะสมที่จะเข้ามารับตำแหน่งเป็น 7 เสือ กกต. ได้หรือไม่
ใครจะเดินหน้าเข้าวินต่อ หรือติดขัดปัญหาเชิงเทคนิคไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งได้ โปรดจับตาดูกันต่อไปแบบห้ามกระพริบตา