มองสังคมไทยผ่านปรากฎการณ์ ‘ตูน’ เมื่อรัฐล้มเหลวจัดการระบบสาธารณสุข
จุฬาฯ เปิดเวทีสะท้อนมุมมองระบบสาธารณสุขไทยผ่านปรากฎการณ์ 'ตูน' วิ่งระดมเงินโครงการก้าวคนละก้าว ช่วยเหลือ 11 รพ.ทั่วประเทศ ที่ขาดเเคลน คาดเเตะ 1 พันล.
ที่มาภาพ:ทวิตเตอร์ @amporn140207
โครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ระยะทางวิ่งเบตง-แม่สาย กว่า 2 พันกิโลเมตร โดย ‘ตูน บอดี้แสลม’ ปัจจุบันมียอดระดมเงินทะลุเกือบ 700 ล้านบาทแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธ.ค. 2560) และคาดว่าจะแตะ 1 พันล้านบาท เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ
การออกมาวิ่งระดมเงินเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากโครงการ ‘ก้าวคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน’ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยครั้งนั้นตูนสามารถระดมเงินได้ถึง 85 ล้านบาท จนนำมาสู่เสียงเรียกร้องให้เกิดโครงการฯ ขึ้นอีกครั้ง จนกลายเป็นกระแสตูนฟีเวอร์
ปรากฎการณ์ตูนที่เกิดขึ้น กำลังสะท้อนปัญหาระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบันที่ฝังรากลึกมานาน และกำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงวิธีการบริหารจัดการของรัฐบาลในการรับมือกับปัญหาการคลังสาธารณสุขที่ไร้ประสิทธิภาพ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเวที ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ ‘ปรากฎการณ์ตูน:ภาพสะท้อนระบบสาธารณสุขไทย’ ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อวิพากษ์และสะท้อนให้เห็นมุมมองในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากปรากฎการณ์ครั้งนี้
สังคมไทย...สังคมแห่งการเซลฟี่
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองในมุมเชิงสังคมว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังทำให้เกิดสังคม ‘ตามกระแส’ การเอาอย่าง แต่หลายคนยังไม่แน่ใจว่า การระดมเงินครั้งนี้มีเจตนารมณ์ที่แท้จริงอย่างไร นอกจากนี้ ยังพบสังคมที่ ขาดวินัย บางกลุ่มชอบถ่ายเซลฟี่ ชอบการออกสื่อ แม้จะมีความพยายามจัดระเบียบ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก
“หลายคนไม่ทราบว่า ตูนวิ่งเพื่ออะไร โจทย์ลึกเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขระบบการคลังของสาธารณสุขไทย”
นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า นิสัยคนไทยชอบรอวีรบุรุษขี่ม้าขาว ทุกครั้งที่เจอปัญหาจะแก้ปัญหากันเองไม่ได้ แต่เมื่อมีวีรบุรุษจะยอมรับ ถามว่า เป็นวิถีการอยู่ร่วมกันแบบยั่งยืนหรือไม่ หรือความจริงควรทำให้ระบบปกติเดินไปได้ในตัวเอง
"สำหรับผลที่เกิดขึ้นในเชิงบวกมีหลายประการเช่นกัน เช่น บางพื้นที่เกิดการเรียนรู้ มีการเตรียมการจัดระเบียบ เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหากับนักวิ่งและการจราจร เยาวชนบางกลุ่มได้ฝึกระเบียบในการยืนรอ และเกิดการสร้างแรงบันดาลใจให้ที่ต้องการเดินรอยตามตูน"
รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
‘ปรองดอง’ สังคมไทยยังเป็นเรื่องยาก
รศ.วีระศักดิ์ กล่าวต่อถึงมุมมองในทางรัฐศาสตร์ สิ่งที่สัมผัสได้จากโครงการนี้ คือ ตูนไม่นำตัวเข้าไปฝักใฝ่เรื่องการเมือง ไม่ปะทะคารมกับกลุ่มไม่เห็นด้วย และถือว่าเป็นคนใจกว้างมาก ที่ยินดีเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งที่ท่านอยู่ในจุดที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องงบประมาณ แต่ที่ผ่านมาไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งนี้ ตูนยังรู้สึกว่า อย่าไปถือเป็นประเด็นการเมือง และไม่พูดทำนองต่อว่า ติเตียน แต่ได้แสดงกิริยานอบน้อม ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ดีในการสร้างความเป็นกลางทางการเมืองและความสมานฉันท์
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยังกล่าวถึงปรากฎการณ์ครั้งนี้ สะท้อนว่า ‘ความปรองดอง’ ในสังคมไทยยังเกิดขึ้นยาก เพราะยังมีกระแสการต่อต้าน การเสียดสี การยั่วยุ หรือบั่นทอนกำลังใจ เสมือนว่า ตูนเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง หรือตัวช่วยรัฐบาล ขณะที่กระแสการเดินรอยตามตูน มักเกิดขึ้นในพื้นที่เครือข่ายศิลปินด้วยกัน จังหวัดบ้านเกิด หรือจังหวัดที่มีโรงพยาบาลเป้าหมายตั้งอยู่ แต่ไม่ค่อยเห็นปรากฎการณ์ในพื้นที่มีสีทางการเมืองต่างขั้ว
ยอดระดมเงินแค่ต่อ ‘ลมหายใจ’ คนไข้
ส่วนมุมมองทางรัฐประศาสนศาสตร์และการคลังสาธารณะ นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ระบบงบประมาณที่จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2560 ราว 2.551 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 9.33 ของงบประมาณแผ่นดิน โดยเป็นงบประมาณแบบ Function+Area based 1.288 แสนล้านบาท และจัดสรรให้กองทุน สปสช. ผ่าน Demand-side financing 1.243 แสนล้านบาท จึงชี้ให้เห็นว่า ปัญหาน่าจะอยู่ที่ระบบการบริหารจัดการภาครัฐปกติไร้ประสิทธิผล รับมือไม่อยู่ ในการจัดการแก้ไขปัญหาการคลังเพื่อสาธารณสุข ดังนั้นจึงต้องมีโครงการฯ ดังกล่าวของตูน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี น่ายกย่อง แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหายั่งยืน แม้จะได้รับเงินบริจาคเกินเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าจะแตะ 1 พันล้านบาท แต่กลับเทียบได้ไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณที่จัดสรรให้กองทุน สปสช.
อย่างไรก็ดี เงินที่ตูนระดมได้ทำได้แค่ ต่อลมหายใจคนไข้ ไปอีกไม่กี่วันเท่านั้น แต่ยังไม่แก้ปัญหาระบบการจัดสรรงบประมาณภาครัฐในภาพรวม และในการบริหารเงินกองทุน สปสช.ทำให้เชื่อว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ปีต่อไปจะเกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก จึงต้องยกเครื่องครั้งใหญ่ แต่ยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก และต่างฝ่ายต่างมีแนวทางปฏิรูปเป็นของตนเอง
ชงยกเครื่องจัดสรรงบฯ สาธารณสุขใหม่
รศ.วีระศักดิ์ ยังได้ฉายภาพให้เห็นงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ปี 2560 พบว่า มีจำนวนกว่า 2.55 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย แต่อย่างที่ทราบกันว่า ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดสรรงประมาณให้แก่คนไทยนอกระบบประกันสังคมขนานใหญ่ สะท้อนถึงระบบงบประมาณของรัฐที่ไม่ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ จะเห็นได้ว่า เงินงบประมาณภาครัฐ 2.7 ล้านล้านบาท ยังไม่นับรวมนอกระบบงบประมาณ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ รัฐรับมือกับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ไม่ได้
ทั้งนี้ หากทรัพยากรของประเทศขาดแคลนจริง คงจะไม่มีข่าวเกี่ยวกับการนำงบประมาณไปอุดหนุนในเรื่องยุทโธปกรณ์ หรือลงทุนในเรื่องที่ไม่จำเป็น หรือถูกนำไปใช้ในระบบราชการอื่นรูปแบบแปลก ๆ เช่น ศึกษาดูงาน แต่แฝงเรื่องท่องเที่ยว ถามว่า จัดไปเพื่ออะไร และทำให้หน่วยงานดีขึ้นหรือไม่
“กว่า 10 ปี สัดส่วนการจัดสรรงบประมาณตึงตัว ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้รัฐบาลจะมีงบกลางไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่มักพบว่า หลายครั้งรัฐบาลนำไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และหากย้อนไปเมื่อ 2-3 เดือนก่อน มีบุคลากรสถานพยาบาลออกมาเรียกร้องให้บรรจุพยาบาล แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ จึงเชื่อว่า จะเห็นปรากฎการณ์ลักษณะนี้เรื่อย ๆ และนำมาสู่คำถามอีกครั้งว่า ท้ายที่สุดรัฐบาลจัดสรรลำดับความสำคัญของงบประมาณสาธารณสุขให้อยู่ในอันดับต้น ๆ หรือไม่”
รศ.วีระศักดิ์ จึงเสนอให้ยกเครื่องในการจัดสรรงบประมาณใหม่ ที่ผ่านมา เงินงบประมาณเพื่อสาธารณสุข หรือการส่งเสริมสุขภาพมีจำนวนมาก เช่น เงินจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับการจัดสรรร้อยละ 2 จากภาษีแอลกอฮอล์และบุหรี่ ปี 2545-54 รวมวงเงินทั้งสิ้น 2.44 หมื่นล้านบาท ได้สร้างกิจกรรมรณรงค์มากมาย แต่ตั้งคำถามว่า ได้ผลหรือไม่ เช่น แคมเปญรณรงค์เมาไม่ขับ แต่กลับพบไทยครองแชมป์อุบัติเหตุทางถนนอันดับ 1 ของโลก ดังนั้นเงินที่ถูกใช้อย่างกระจัดกระจายของแต่ละหน่วยงาน ต้องถูกนำมาจัดสรรใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
รธน.เปิดช่องฟ้องรัฐ จัดบริการสาธารณสุขเหลื่อมล้ำ
ผศ.ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอมุมมองทางกฎหมายว่า ในหลายประเทศมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายชัดเจนถึงสิทธิในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข แต่จะมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยพบว่า เมื่อศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540, 2550 และ 2560 จะเห็นความแตกต่างที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทการเมือง
โดยสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 เขียนไว้ใน มาตรา 52 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ฉบับปี 2550 เขียนไว้ในมาตรา 51 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 กลับพบคำว่า ‘สิทธิเสมอกัน’ หายไป
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจในรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน นักวิชาการนิติศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ได้บัญญัติหมวด หน้าที่ของรัฐ ขึ้นเป็นครั้งแรก จากเดิมนโยบายต่าง ๆ ของรัฐ จะถูกบัญญัติไว้ในหมวด แนวนโยบายพื้นฐาน ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน เพื่อให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หากไม่ปฏิบัติตามจะนำไปสู่การฟ้องร้องรัฐได้ ทำให้ต่อไปนี้ หากการจัดบริการสาธารณสุขไม่เสมอภาคกัน อาจมีประชาชนลุกขึ้นมาฟ้องร้องรัฐได้
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะเเพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ตื่น ตาม ตูน
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งชื่อปรากฎการณ์ครั้งนี้ว่า ตื่น ตาม ตูน ซึ่งส่งผลให้ผู้บริหารระดับองค์กรเกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ทรัพยากรในระบบสาธารณสุขมีเพียงพอ แต่เมื่อเกิดกระแสไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องออกมาแก้ข่าวยอมรับความจริงและสนับสนุนโครงการฯ
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โหนกระแสเรื่องการทำดี และประชารัฐ โดยสนับสนุนปรากฎการณ์ทำดี และกล่าวชมตูนเป็นตัวอย่างของการสร้างการมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม ได้มีฝ่ายค้านสวัสดิการสังคมใช้กระแสขณะนี้มาเป็นเหตุผลสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพเช่นกัน โดยเห็นว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหา
ผศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อว่า ตูนยังแสดงแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุข มองประเด็นสุขภาพเป็นเรื่องของสังคม การจะให้รัฐจัดระบบสาธารณสุขให้เพียงพอเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงต้องช่วยกันเหมือนกับตูนที่นำเสนอแนวทางภายใต้โครงการฯ และต้องใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการจัดสรรทรัพยากรในระบบสาธารณสุข
"ปรากฎการณ์ครั้งนี้ ยังชี้ให้เห็นชุดความคิดใหม่ในระบบราชการที่จะต้องจัดการปัญหาสาธารณสุขแบบบูรณาการขึ้น"
ที่มาภาพ:ทวิตเตอร์ @polyplusfanclub
‘ก้าวคนละก้าว’ จึงเป็นโครงการที่จุดประกายการมีส่วนร่วมของสังคมให้ตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรในระบบสาธารณสุขที่ขาดแคลนและฝังรากลึกมานาน
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที .