กสม.หารือแนวทางขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศ รับห่วง!พ.ร.บ.ความเท่าเทียมฯ
กสม.อังคณา ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการประชุม The International Lesbian , Gay, Bisexual , Trans and Intersex Association (ILGA) ระดับภูมิภาค
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ เข้าร่วมการประชุม The International Lesbian , Gay, Bisexual , Trans and Intersex Association (ILGA) ระดับภูมิภาค ระหว่างวันที่ 6 – 8 ธ.ค. 2560 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา การจัดประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อท้าทาย ถอดบทเรียนในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน ให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) สามารถเข้าถึงสิทธิของตนได้ ทั้งนี้ การประชุม The International Lesbian , Gay, Bisexual , Trans and Intersex Association (ILGA) ระดับโลก ได้เคยจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2559 ที่ผ่านมา
นางอังคณา กล่าวในการเป็นวิทยากรอภิปรายหัวข้อ “บทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชน ในการเสริมพลังการนำหลักการยอกยาการ์ตามาปฏิบัติได้จริงในอีก 10 ปีข้างหน้า” ว่า การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบและส่งเสริมความรู้ความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จะมี กสม. 1 คนที่รับผิดชอบหลักเกี่ยวกับประเด็นสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยในการทำงานได้คำนึงถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศที่เป็นเด็ก ผู้ลี้ภัย ผู้ต้องขังเป็นสำคัญด้วย เนื่องจากมีความต่างในบริบทที่แตกต่างกัน และจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน สำหรับการทำหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากกรณีที่มีการร้องเรียนเข้ามาแล้ว กสม. ยังสามารถหยิบยกกรณีที่พิจารณาเห็นว่าอาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นมาพิจารณาได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในการทำงานที่ผ่านมา กสม. พยายามทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงเครือข่าย ซึ่งมีทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม
นางอังคณา กล่าวต่อว่า ในการจัดทำรายงานคู่ขนานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ซึ่ง กสม. ยังคงมีข้อห่วงกังวลบางประการเกี่ยวกับด้านกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ยังมีการระบุข้อยกเว้นเกี่ยวกับเหตุแห่งความมั่นคง วิชาการ และศาสนา ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ รวมถึงร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่ยังมีการพูดถึงการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และ ประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องเผชิญปัญหาและอยู่ในภาวะหวาดกลัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น กสม. จะจัดทำรายงานเกี่ยวกับกฎหมายที่ยังไม่สามารถทำให้บุคคลทุกคนเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้อย่างเท่าเทียม โดยเสนอต่อคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบต่อไป