บอร์ด สปสช.รับทราบการโอนเงินงวดแรก 3 พันล้านบาทให้ รพ.ราชวิถีจัดซื้อยาแล้ว
บอร์ด สปสช.รับทราบความก้าวหน้าจัดหายา โอนเงินงวดแรกให้ รพ.ราชวิถีจัดซื้อยา 7 รายการแล้ว 3,000 ล้านบาท ยืนยันไม่พบปัญหายาขาดคราวเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดซื้อ
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปีงบประมาณ 2561 กล่าวว่า ในส่วนของความต่อเนื่องในการได้รับยาของผู้ป่วยนั้น ไม่พบปัญหายาขาดคราวเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดซื้อ แต่พบปัญหายาขาดคราวเนื่องจากสาเหตุอื่น ได้แก่
1.ยา Peginterferon (ยาเพกอินเตอร์เฟียรอน สำหรับรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี) เนื่องจากประเทศที่เป็นแหล่งผลิตยาคือประเทศเปอร์โตริโกประสบภัยพายุเฮอริเคน ทำให้กำหนดการส่งมอบยาเลื่อนจากกลางเดือน พ.ย.เป็น 30 พ.ย.60
2.ยา Atazanavir 300 mg cap (ยาอะทาซานาเวียร์แคปซูลขนาด 300 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี) และยา rilpivirin tab (ยาต้านไวรัสเอชไอวีริลพิไวริน) เดิมมีปัญหาจากการผลิตและมีกำหนดส่ง 30 พ.ย.60 ในส่วนนี้มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดหายาฯ เสนอให้องค์การเภสัชกรรมประสานงานบริษัทยาต้นแบบเพื่อขอนำเข้ายา Local Made จากอินเดีย กรณีเกิดปัญหาการขาดคราวเนื่องจากการผลิตยาต้นแบบ
ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปีงบประมาณ 2561 กล่าวว่า ในส่วนของความก้าวหน้าในการดำเนินงานจัดหายานั้น เมื่อวันที่ 11 พ.ย.60 สปสช.ได้โอนเงินให้ รพ.ราชวิถีงวดแรกแล้ว 3,010 ล้านบาท สำหรับการจัดซื้อยา 7 รายการคือ 1.ยาบัญชี จ2 2.ยาโคลพิโดเกรล (ยารักษาโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด) 3.ยากำพร้าและยาต้านพิษ 4.วัคซีน 5.ยาต้านไวรัสเอชไอวี 6.น้ำยาล้างไตและยา Epo (ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง) และ 7.สายสวนหัวใจ