ห่วงคนนอกพื้นที่กระพือไฟใต้ แนะรัฐสร้างหลักสูตร"สันติวิธี"
แม้เหตุการณ์ความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเงียบๆ ลงไปบ้างจากปริมณฑลของสื่อในระยะนี้ แต่จริงๆ แล้วในพื้นที่ก็ยังมีการก่อเหตุเป็นระยะ แม้จะประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ก็ตาม อย่างล่าสุดก็มีเหตุระเบิดที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ขณะที่ในส่วนกลางก็มีเวทีวิชาการเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยนักวิชาการเห็นว่า คนนอกพื้นที่ยังมีทัศนคติมุมมองที่ไม่ถูกต้องนักต่อปัญหาไฟใต้
เหตุระเบิดลูกล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.20 น.วันพุธที่ 6 ธ.ค.60 คนร้ายจุดชนวนระเบิดดักสังหารเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) ประจำ อ.จะแนะ บนถนนสายดุซงญอ-ระแงะ ท้องที่ ต.ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ขณะเจ้าหน้าที่ อส.กำลังเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ธนาคารและศาลากลางจังหวัด โชคดีที่กำลัง อส.ใช้รถกระบะหุ้มเกราะเป็นพาหนะ ทำให้ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย แต่รถกระบะพังเสียหาย
ทั้งนี้ระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง ประกอบใส่กล่องเหล็ก น้ำหนักดินระเบิดประมาณ 15 กิโลกรัม จุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
เหตุระเบิดที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะเปิดโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกมานานหลายปีแล้วก็ตาม ทำให้คนนอกพื้นที่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมีกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง
วันเดียวกันนี้ มีเวทีสัมมนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ "บทบาทคนนอกพื้นที่ กับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ-หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ จุฬาฯ หนึ่งในวิทยากร ให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาระดับชาติ แต่เท่าที่พูดคุยกับคนจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่ความหวาดกลัวและหวาดระแวง กลายเป็นอุปสรรคต่อการหาทางออกจากความขัดแย้ง
"ผลการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า ความเข้าใจในเรื่องปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัด คนกรุงเทพฯกับคนสามจังหวัดคิดต่างกัน คนในพื้นที่มองว่าปัญหาพอมีทางออกอยู่บ้างในทางสันติวิธี แต่คนกรุงเทพฯกลับมองว่าต้องปราบ ต้องจับ เพราะฉะนั้นต้องให้ความรู้กับผู้คนนอกพื้นที่ให้มีความเข้าใจ เพื่อที่จะไม่มีอคติ เพราะการรับรู้ของคนทั่วไปยังเข้าไม่ถึง"
อาจารย์ฉันทนา ยังบอกอีกว่า คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับภาคประชาชนสังคมเอง ยังมีระยะห่างกับภาครัฐอยู่พอสมควร ฉะนั้นรัฐต้องมี "พื้นที่กลาง" เพื่อให้คนที่คิดต่างจากรัฐ กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ต้องให้คนเหล่านั้นเชื่อมั่นว่าคิดต่างแล้วปลอดภัย หากรัฐทำได้ จะหาทางออกจากความขัดแย้งได้ในที่สุด
นักรัฐศาสตร์หญิงชื่อดัง บอกด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อทิศทางการแก้ปัญหา เพราะอิทธิพลการใช้อำนาจทางทหารยังเป็นหลักอยู่ ส่วนมาตรการอื่นๆ เป็นแค่ตัวเสริม ถึงแม้มีการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยังไม่มีความจริงใจเท่าที่ควรว่าจะบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ คิดว่ายังเป็นภาพลวงตาอยู่ ฉะนั้นหากไม่แก้ที่ปมปัญหาที่แท้จริง ก็คงไม่สามารถยุติปัญหาได้ ฉะนั้นเมื่อโอกาสมาถึงแล้ว เช่น มีการเปิดโต๊ะพูดคุย ทั้งสองฝ่ายก็ควรมีความจริงใจต่อกัน
สำหรับวิทยากรคนอื่นๆ ที่พูดบนเวที มีประเด็นน่าสนใจ เช่น รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการกลุ่มสร้างสันติภาพต้นปันรักเชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพกับผู้เห็นต่างจากรัฐในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า มีโอกาสถามคนเชียงใหม่ถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าทุกคนบอกไม่ถูก เกือบทุกคนบอกได้แค่ว่าปัตตานีอยู่ติดมาเลเซีย จึงทำให้คิดว่าน่าจะให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ทำให้คนไทยเข้าใจสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น
"เราไม่ค่อยใส่เรื่องแบบนี้เข้าไปในหลักสูตรการศึกษา ถ้ามีก็คล้ายๆ เป็นวิชาเลือกน่าจะดี บทบาททางวิชาการจะต้องทำให้คนเข้าใจภาคใต้ดีขึ้น ไม่ควรมีบัณฑิตคนไหนที่ไม่รู้เรื่องภาคใต้ เรื่องนี้ไม่ใช่อุปสรรคที่แก้ไขไม่ได้" อาจารย์มารค กล่าว และว่า การแก้ปัญหาชายแดนใต้ในอนาคต ฝ่ายความมั่นคงต้องใจกว้างมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เปิดโอกาสให้นักวิชาการหรือสถาบันการศึกษา แต่ต้องเปิดให้สถาบันครอบครัวมีบทบาทเพิ่มขึ้นด้วย
นายอับดุลการีม อัสมะแอ หัวหน้าสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวว่า ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนีมีการสอนวิชาสันติวิธีเป็นวิชาบังคับ เพราะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่บัญฑิตควรจะมีความเข้าใจปัญหาภาคใต้ และการแก้ปัญหาในแนวทางสันติวิธี จึงอยากเรียกร้องให้ทุกสถาบันการศึกษาเปิดการเรียนการสอนวิชาสันติวิธีเป็นวิชาบังคับ โดยเริ่มต้นจากระดับชั้นมัธยมศึกษากันเลย
เวทีสัมมนาครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ฟังร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย น.ส.จัสตีนา (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านจาก จ.นราธิวาส ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ เล่าว่า ปัญหาในพื้นที่ตอนนี้คือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานขาดความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้าน ทำให้เกิดความหวาดระแวง
"เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจชาวบ้าน ขณะที่ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจเจ้าหน้าที่ มันก็เลยทำให้เกิดปัญหา ที่สำคัญชาวบ้านก็ยังแยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร ชาวบ้านกันเองยังหวาดระแวงกันด้วย เพราะทุกคนขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน" เธอบอก พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอเอง
"พี่ชายถูกยิงที่หน้าบ้านจนเสียชีวิต มีข่าวว่าเขาเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ ทำให้ถูกยิง แต่หลังจากเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่กลับเชิญคนในครอบครัวของเราไปให้ข้อมูล กล่าวหาว่าเราและคนในครอบครัวที่เป็นผู้ชาย มีส่วนร่วมกับการก่อเหตุในพื้นที่ เราเลยไม่รู้ว่าตกลงเราอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ และใครจะดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของเราได้"
จัสตีนา บอกด้วยว่า คนในพื้นที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน เพราะปัญหายิ่งมีมากขึ้น แม้สถิตเหตุรุนแรงจะลดลง แต่การแก้ปัญหาของรัฐไม่มีการเปลียนแปลง จึงทำให้ความรู้สึกของคนในพื้นที่ไม่หลุดพ้นจากความหวาดระแวง ยิ่งมองจากสายตาคนที่มาอยู่ข้างนอกจากเธอเอง รู้สึกว่าสถานการณ์ยิ่งหนักกว่าเก่า
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เวทีสัมมนาที่จุฬาฯ
2 รถกระบะของ อส.พังเสียหาย หลังถูกระเบิดที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
ขอบคุณ : เจ้าหน้าที่ชุดตรวจที่เกิดเหตุ และหน่วยกู้ชีพกู้ภัยในพื้นที่ เอื้อเฟื้อภาพเหตุระเบิด