ดร.สุเมธ ยัน 4,700 โครงการ คือ บทเรียนในหลวงร.9 สอนคนไทย
เปิดตัวหนังสือเดินทาง ตามรอยพระราชา 9 เล่ม 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิต เล็งพัฒนาเด็กไทย เก่ง ดี มีคุณธรรม 4.0 ด้านไอบีเอ็มพัฒนาเทคโนโลยีตามรอยพระราชาเพื่อเข้าถึงเด็กเยาวชนผ่านE-book แอพลิเคชั่น ขณะที่ตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ในหลวง ร.9 “คุ้มบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ” ปอดขนาดใหญ่ของคนเมือง ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 6,000 ตันต่อปี
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือเดินทาง ตามรอยพระราชา 9 เล่ม 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้มีชีวิต ตามรอยศาสตร์พระราชา โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานที่ปรึกษาโครงการหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ในหลวงในใจคน เราจะสร้างเด็กไทยให้ เก่ง ดี มีคุณธรรมอย่างไร” พร้อมกันนี้ครอบครัวอ้อม พิยดา และน้องนาวา ดญ.พัชรนันท์ จุฑารัตนกุล ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ตามรอยพระราชา
ดร.สุเมธ กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานมา 70 ปี พระองค์พร่ำสอนประชาชนคนไทยให้รู้จักชีวิต ซึ่งสิ่งที่ในหลวงทรงสอนก็ทรงทำให้ดูก่อน ก่อให้เกิดบทเรียนมากมาย เวลานี้เราพูดถึงโครงการของในหลวง 4,700 โครงการ ซึ่งไม่อยากให้สนใจว่า มีโครงการเท่าไหร่ แต่อยากให้สนใจว่าโครงการต่าง ๆ เหล่านั้นสอนอะไรกับเรา ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ ป่าไม้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทย เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์แต่เราก็ยังทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ขณะที่โลกก็กำลังเกิดสงคราม ใครที่บอกว่า สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ศาสนา แต่จริงๆแล้วคือการไม่มีกิน ไม่มีทรัพยากรเป็นของตัวเอง แย่งชิงทรัพยากร จึงหวังว่าหนังสือเดินทางตามรอยพระราชาทำให้ประชาชนเข้าใจสิ่งที่ท่านสอนและนำมาปฏิบัติ เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กและผู้ใหญ่ลงมือทำสักทีเพื่อรักษาให้ไปถึงรุ่นลูกหลานจนเกิดเป็นความยั่งยืน และยินดีที่บริษัทไอบีเอ็ม ร่วมสนับสนุนการทำแอพลิเคชั่นในยุคสื่อไอที เพื่อให้คนได้เรียนรู้มากยิ่งขึ้น
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้แทนคณะทำงานหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา นักวิชาการ สสค. กล่าวถึงหนังสือตามรอยพระราชามีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเข้าใจและเข้าถึงศาสตร์ของพระราชาที่ร่วมสมัย จากประสบการณ์จริงในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต โดยจัดทำเป็นคู่มือการเดินทางสำหรับเยาวชน ครอบครัวและสถานศึกษา เพื่อให้เกิดพลังแห่งการเรียนรู้และเกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวหนังสือตามรอยพระราชาไปแล้ว 4 เส้นทาง และครั้งนี้เป็นการเปิดตัวเพิ่มอีก 5 เส้นทาง รวม 9 เล่ม 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ โดยกระทรวงศึกษาธิการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ สสส. ร่วมสนับสนุนการจัดพิมพ์ รวมทั้งสิ้น 190,000 ชุด เพื่อกระจายในโรงเรียน เครือข่ายการศึกษาและจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถติดต่อรับหนังสือได้ที่ www.QLF.or.th
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า เนื้อหาสาระที่เยาวชนจะได้รับจากสื่อหนังสือและกิจกรรมตามรอยพระราชา จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ครบ 3H ในรูปแบบ Transformative Learning ซึ่งประกอบด้วย เรียนรู้ด้วยสมอง (Head) เรียนรู้ด้วยหัวใจ (Heart) และเรียนรู้จากการลงมือทำ (Hand) รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือ ความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์จากการได้เดินทางไปเรียนรู้ยังสถานที่จริง อีกทั้งยังสอดแทรกเนื้อหาส่งเสริมคุณธรรม ได้แก่ ทศพิธราชธรรมและคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ ทั้งนี้ สสส.จะสนับสนุนให้เครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะซึ่งบางแห่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ร่วมเรียนรู้ผ่านแหล่งเรียนรู้ตามรอยพระราชาในพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมกับสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งสอดแทรกและบูรณาการกับวิชาการเรียนเพื่อส่งผลถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อไป
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการนำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นหลักในการดำเนินชีวิต จึงได้สนับสนุนเทคโนโลยีตามรอยพระราชาโดยพัฒนา E-Book เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงหนังสือตามรอยพระราชาทั้ง 9 เล่ม 9 เส้นทางได้ พร้อมกับมีลูกเล่นผ่านตัวการ์ตูนเคลื่อนไหวเพื่อให้เด็กและเยาวชนสนุกกับการเรียนรู้และใช้เป็นแผนที่ไปยังสถานที่แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตจริง โดยสามารถดาวโหลดได้ที่ www.QLF.or.th และในระยะต่อไปจะมีการพัฒนารูปแบบแอพลิเคชั่น เพื่อให้สามารถเช็คอินในสถานที่แหล่งเรียนรู้ รวมถึงการมองเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชน เพื่อแนะนำเส้นทางเดินทางไปยังแหล่งเรียนรู้ ปั้มน้ำมัน และร้านอาหารเพื่อให้ครบวงจรสำหรับครอบครัวหรือสถานศึกษาในการวางแผนการเดินทาง
สำหรับตัวอย่างแหล่งเรียนรู้มีชีวิตที่น่าสนใจในหนังสือตามรอยพระราชา 5 เส้นทางใหม่ อาทิ
1. เส้นทางภาคเหนือตอนล่าง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านห้วยปลาหลด จ.ตาก จุดเด่นคือ ทรัพยากรป่าไม้ที่สมบูรณ์จากการดูแลของชุมชน จากเดิมที่เคยเป็นป่าเสื่อมโทรมกลับคืนสู่ป่าสมบูรณ์และเกษตรผสมผสานของชาวมูเซอเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น
2. เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน จ.สกลนคร จุดเด่นคือ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิตเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรให้เรียนรู้การพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ ฟื้นฟูป่า ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
3. เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มหาชีวาลัยอีสาน จ.บุรีรัมย์ จุดเด่นคือ การท่องป่า ไร่นา สวนผสมของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านผู้นำศาสตร์พระราชามาใช้พลิกฟื้นป่าบ้านเกิด
4. เส้นทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก โครงการหมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย บ้านทุ่งรัก จ.พังงา จุดเด่นคือ การท่องเที่ยววิถีชุมชนคนชาวเล เรียนรู้การประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เลี้ยงปลาในกระชังเพื่อให้แก้ปัญหาความยากจนและขาดที่ดินทำกินจากเหตุการณ์สึนามิ
และ 5. เส้นทางภาคกลาง โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติ จ.สมุทรปราการ จุดเด่นคือ พื้นที่สีเขียวปอดขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ จากที่ในหลวง ร.9 ทรงนั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านพื้นที่สีเขียวของคุ้งบางกะเจ้า ทรงอยากรักษาพื้นที่นี้ไว้ให้เป็นปอดขนาดใหญ่ของคนเมือง ปัจจุบันต้นไม้ในคุ้งบางกะเจ้าช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 6,000 ตันต่อปี