เข้มปีใหม่! งดนำ ‘เหล้า’ เข้าเขตอุทยานฯ หวังลดอุบัติเหตุ
กรมอุทยานฯ รณรงค์ปีใหม่ งดนำ ‘เหล้า’ เข้าเขตอุทยาน หวังลดอุบัติเหตุทางถนน หลังไทยครองแชมป์อันดับ 1 ของโลก
วันที่ 6 ธ.ค. 2560 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และเครือข่ายลดอุบัติเหตุ จัดแถลงข่าวรณรงค์ภายใต้แคมเปญ "ท่องเที่ยวสุขใจ ไม่นำเหล้าเข้าอุทยานฯ" ณ ลานหน้าอาคารถนอมเปรมรัศมี กรมป่าไม้
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ออกประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2553 กำหนดห้ามไม่ให้นำเข้า หรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาใช้บริการสถานที่ท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติและวนอุทยานเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่ามีการลักลอบนำสุราเข้ามาดื่ม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการส่งเสียงดัง ประพฤติตนไม่เหมาะสม รบกวนธรรมชาติและสัตว์ป่าแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท จนสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินด้วย
“เราต้องเคารพสิทธิของคนที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เพราะทุกคนต้องการความสงบ และอยากสัมผัสธรรมชาติที่แท้จริง ซึ่งจะกำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ โดยติดตั้งป้ายแจ้งเตือนชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเข้าใจ และเคารพกฎกติกานี้ ส่วนผู้ใดพบเห็นการกระทำผิดในเรื่องนี้และเหตุอื่น ๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและวน อุทยาน สามารถโทรมาที่สายด่วน 1362 ได้ตลอด24ชั่วโมง” รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว
ด้านนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว ผู้ใช้รถใช้ถนนควรระมัดระวังให้มากขณะเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหรือวนอุทยาน เนื่องจากเป็นเส้นทางเลาะเลี้ยวผ่านธรรมชาติ บางเส้นทางขึ้นเขา เพื่อให้เดินทางอย่างปลอดภัย ควรปฏิบัติ 3 ประการ คือ
1.ขับรถด้วยความระมัดระวัง งดใช้ความเร็ว ง่วงไม่ขับอย่างเด็ดขาด
2.หลีกเลี่ยงโดยสารรถที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะรถทัวร์ 2 ชั้น เสี่ยงต่อการพลิกคว่ำได้ง่าย เพราะทางเข้าอุทยานส่วนใหญ่เป็นทางลาดชัน และควรคาดเข็มขัดนิรภัยเพราะจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 34 กรณีจำเป็นต้องใช้รถกระบะ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งท้ายกระบะ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุจะเกิดลักษณะการเทกระจาด ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต หรือหากจำเป็นต้องขับขี่มอเตอร์ไซต์ ต้องสวมหมวกนิรภัย ช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง ร้อยละ 43 สำหรับผู้ขับขี่ และร้อยละ 58 สำหรับผู้ซ้อนท้าย
3.งดการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่เมาแล้วขับเท่านั้นที่มีความผิด การดื่มบนรถขณะอยู่บนทาง มีความผิดด้วยเช่นกัน โดยมีโทษทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ คุมเข้มเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในอุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน ทั้งทางบก ทางทะเล ซึ่งรวม ๆ แล้วเกือบ 250 แห่งทั่วประเทศ จะยิ่งทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุลงไปได้
ขณะที่นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)กล่าวว่า จากข้อมูลศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า 1ใน 3 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมดมีสุราเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่นี้ เนื่องจากมีพฤติกรรมดื่มหนัก ซึ่งมาตรการหนึ่งที่ใช้ได้ผลคือควบคุมการเข้าถึงสุรา ตลอดจนจำกัดสถานที่ขายหรือดื่มให้เหมาะสม เช่น การกำหนดห้ามนำเข้า ห้ามขายเหล้าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ