พพ.ลุยแผนพลังงานทางเลือก เปิดตัวต้นแบบโรงงานผลิตก๊าซ CBG เพื่อการพาณิชย์แห่งแรก
“โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกๆที่ผลิตไบโอมีเทนอัดในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยซึ่งช่วยส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของภาคใต้พึ่งพาการใช้พลังงานที่ผลิตได้เองในประเทศ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง” อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าว
ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 11.9 เป็นร้อยละ 30 ของปริมาณความต้องการพลังงานรวมของประเทศในปี พ.ศ. 2579 โดยปรับเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งสิ้นประมาณ 19,635 เมกะวัตต์ ได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์จัดทำแผน 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. สนับสนุนมาตรการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง ผ่านมาตรการผสมผสาน 11 มาตรการ
2. บริหารจัดการชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้ ได้แก่ LPG ที่แม้จะไม่ห้ามใช้ในภาคขนส่งแต่จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษในการส่งเสริม ในขณะที่ NGV จะเป็นการส่งเสริมเฉพาะกลุ่มรถสาธารณะและรถบรรทุก
3. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อเนื่อง โดยใช้กลไกตลาดเป็นสำคัญ
4. ผลักดันการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอดีเซลตามแผน AEDP 2015
5. สนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะระบบท่อขนส่งน้ำมันและคลังน้ำมันเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ AEC ซึ่งคาดว่าจะไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันใหม่
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เล่าว่า ใน“โครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด ในสถานประกอบการที่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพ” เพื่อสนับสนุนการนำก๊าซชีวภาพมาปรับปรุงคุณภาพเป็นไบโอมีเทนอัด หรือ CBG โดยในปี พ.ศ. 2559 ที่ทาง พพ. ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพอยู่แล้วหรือผู้ที่สามารถจัดหาก๊าซชีวภาพได้เข้าร่วมโครงการฯซึ่งมีสัดส่วนการสนับสนุนเงินลงทุนแบ่งออกเป็น 3 อัตรา ตามขนาดระบบผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่
1. โครงการผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) ขนาด 3,000 - 5,999 กิโลกรัมต่อวัน สนับสนุนจำนวนเงินไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินลงทุนระบบปรับปรุงคุณภาพก๊าซและระบบบรรจุก๊าซไบโอมีเทนอัด ทั้งนี้ไม่เกิน 9 ล้านบาทต่อโครงการ
2. โครงการผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) ขนาด 6,000 - 11,999 กิโลกรัมต่อวัน สนับสนุนจำนวนเงินไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินลงทุนระบบปรับปรุงคุณภาพก๊าซและระบบบรรจุก๊าซไบโอมีเทนอัด ทั้งนี้ไม่เกิน 12 ล้านบาทต่อโครงการ
3. โครงการผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) ขนาด 12,000 กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป สนับสนุนจำนวนเงินไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินลงทุนระบบปรับปรุงคุณภาพก๊าซและระบบบรรจุก๊าซไบโอมีเทนอัด ทั้งนี้ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อโครงการ
ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม โครงการจำนวน 5 ราย วงเงินสนับสนุนรวม 54 ล้านบาทได้แก่
1. บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด
2. บริษัท อาร์อี ไบโอฟูเอลส์ จำกัด
3. บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด
4. บริษัท พระแสงกรีน เพาเวอร์ จำกัด
5. บริษัท ทีวายทีเอส (ไทยแลนด์) จำกัด
อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา ฟาร์มปศุสัตว์และโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย เช่น โรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงงานน้ำมันปาล์ม ได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับ การกำจัดของเสียและน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของสถานประกอบการ ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชนใกล้เคียง เช่น กลิ่นรบกวนจากของเสียที่เกิดขึ้น และน้ำเสียที่ปล่อยลงดินหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดข้อร้องเรียนจากชาวบ้านและสร้างมลพิษต่อสภาพแวดล้อม
“ทาง พพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการนำน้ำเสียและของเสียที่เกิดขึ้นมาผ่านกระบวนการหมักเพื่อให้เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์เมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสม ทำให้เกิดก๊าซชีวภาพ ที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อนได้ ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพอย่างแพร่หลาย ทั้งในฟาร์ม เลี้ยงสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่”
นายประพนธ์ เล่าว่า ในช่วงแรกๆ มีการนำก๊าซชีวภาพมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยจะเป็นการผลิตและใช้เองในโรงงาน ต่อมา มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทำให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายมากขึ้น แต่การผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายก็มีข้อจำกัดเกี่ยวกับ ขีดความสามารถของสายส่งไฟฟ้า จึงทำให้ไม่สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการได้ทั้งหมด โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางแห่ง ที่ผลิตก๊าซชีวภาพได้จำนวนมากนั้น จำเป็นต้องเผาทิ้งก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้เกิน
ขณะที่เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 60 ที่ผ่านมา บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ต.ช้างซ้าย อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นสถานประกอบการแห่งแรกของไทยที่สามารถวางระบบได้ตามโครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด ได้สำเร็จ และสามารถนำมาใช้ได้จริงในภาคการขนส่ง
อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กล่าวถึงบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ว่าเป็นโครงการแรกที่ได้ติดตั้งระบบผลิต CBG ขนาด 3 ตันต่อวัน แล้วเสร็จ และได้เริ่มดำเนินการใช้ประโยชน์ CBG ที่ผลิตได้กับรถบรรทุกของบริษัท ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 เป็นต้นมา ก๊าซ CBG ที่ผลิตได้มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยมีการนำไปทดสอบตามประกาศเกณฑ์คุณภาพก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ของกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 9 รายการ และทดสอบเพิ่มเติมตามมาตรฐานกำหนดคุณภาพก๊าซ ไบโอมีเทนอัดในต่างประเทศ (สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน) อีก 8 รายการ รวมเป็น 17 รายการ
ผลการทดสอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดทุกรายการ ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ สถานีบริการก๊าซธรรมชาติจากกรมธุรกิจพลังงานเรียบร้อยแล้ว หากผลิต CBG เต็มกำลังผลิตและนำไปใช้ได้ทั้งหมด จะสามารถลดการซื้อเชื้อเพลิงได้วันละ 47,580 บาท (3,000 กิโลกรัม x 15.86 บาทต่อกิโลกรัม) หรือปีละ 14.27 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะคืนทุนภายใน 2 ปี (เงินลงทุน 30.518 ล้านบาท พพ. สนับสนุนประมาณ 9 ล้านบาท เหลือลงทุนเอง 21.518 ล้านบาท หารด้วย 14.27 ล้านบาทต่อปี เท่ากับ 1.51 ปี)
“โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรก ๆ ที่ผลิตไบโอมีเทนอัดในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย ซึ่งช่วยส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่ง ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของภาคใต้ พึ่งพาการใช้พลังงานที่ผลิตได้เองในประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง” นายประพนธ์ กล่าว
บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม มีกำลังการผลิต 60 ตันปาล์มต่อชั่วโมง และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ ดร.กณพ เกตุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเกษตรลุ่มน้ำ จำกัด เล่าว่า ก๊าซชีวภาพที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าได้มาจากการหมักย่อยน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม โดยสามารถผลิตก๊าซได้วันละ 17,600 ลบ.เมตร ก๊าซชีวภาพจำนวนดังกล่าว เมื่อนำไปผลิตไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์แล้ว ยังมีก๊าซที่เหลือใช้ บริษัทฯ จึงได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนแบบอัดหรือก๊าซ CBG ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำก๊าซที่เหลือใช้มาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ โดยบริษัทฯได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก๊าซ CBG ร่วมกับบริษัท โอซาก้าก๊าซ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายก๊าซขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศญี่ปุ่น
ในส่วนกระบวนการผลิตก๊าซ CBG นั้น หัวเรือใหญ่ บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ อธิบายว่า แยกได้เป็นสองขั้นตอนคือ ขั้นตอนปรับปรุงคุณภาพก๊าซ และขั้นตอนบรรจุและจ่ายก๊าซให้ยานยนต์ ขั้นตอนแรกจะปรับปรุงคุณภาพก๊าซชีวภาพด้วยเทคโนโลยี PSA ร่วมกับ Membrane เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนซัลไฟด์รวมถึงการลดความชื้น จนได้ก๊าซชีวภาพที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือก๊าซ NGV หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุและทดสอบคุณภาพก่อนจ่ายก๊าซเป็นเชื้อเพลิงให้กับยานยนต์ต่อไป ผลการทดสอบคุณภาพก๊าซ CBG ที่ผลิตได้ของโครงการนี้พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงานและเกณฑ์มาตรฐานของต่างประเทศทุกรายการ
(ขั้นตอนการผลิตก๊าซ CBG: ภาพประกอบจาก http://ensol.co.th/th/alternative-energy-th/bio-energy/92-cbg.html)
ดร.กณพ กล่าวว่าในปัจจุบันนี้ โครงการมีกำลังการผลิตวันละ 3,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าก๊าซวันละ 48,000 บาท (คิดที่เทียบเท่าก๊าซ NGV ราคากิโลกรัมละ 16 บาท) และได้นำก๊าซ CBG ที่ผลิตได้ไปใช้กับรถบรรทุกจำนวน 19 คันของบริษัทอาร์เอทีขนส่งซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เพื่อขนส่งน้ำมันปาล์มไปยังจังหวัดชุมพรและจังหวัดชลบุรี
ในส่วนของเป้าหมายในอนาคต ดร.กณพ เล่าว่าโครงการจะเปิดให้บริการกับรถทั่วไปหลังจากใช้เป็นการภายในเพียงพอแล้ว ถือเป็นสถานีบริการก๊าซไบโอมีเทนอัดโดยภาคเอกชนแห่งแรกของประเทศ
ด้าน โยโกะ ยามะ จากโอซาก้าแก๊ส มองว่าเมืองไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการเกษตรคับคั่งจึงมีความศักยภาพที่จะเป็นศนูย์กลางในการผลิตแก๊สCBG ขนาดใหญ่ โดยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว Osaka gas ได้ค้นพบเทคโนโลยีในการกลั่นกรอง Biogas ให้มีความบริสุทธ์ิมีประสิทธิภาพสูง คือ ระบบไฮบริดที่สามารถรวมระบบฟิลม์กรองแยก CO2 และ ระบบPSA (Pressure Swing Adsorption)ซึ่งระบบคัดแยก CO2 เชิงเดี่ยวไว้ด้วยกันซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ Osaka gas group เท่านั้น ระบบมีความสามารถระดับโลก สามารถกรองแก๊สมีเทนที่ความบริสุทธ์มากกว่า 99% และสามารถผลิตแก๊สมีเทนความบริสุทธิืสูง เนื่องจากระบบกรองที่มีประสิทธิภาพสูงจึงทำให้ต้นทุนในการผลิต CBGนั้นตำ่ลงอย่างมาก
ตัวแทนจาก โอซาก้าแก๊ส เผยว่า เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา Osaka gas (Thailand) ได้ใช้เวลา 1 ปีในการสร้างระบบกรองและผลิต Biogas ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งระบบได้สร้างขึ้นเพื่อการค้ารองรับอัตราไหล Biogas ที่250Nm3(NormalCubicMetre)/ชม. และกำลังการผลิต CBGได้3 ตันต่อวัน และนั่นก็คือปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ 15คันต่อหนึ่งวัน
“เราได้เริ่มทำการทดลองเดินระบบครั้งแรกเมื่อเมษายนที่ผ่านมานี้จากนั้นเริ่มเดินระบบเต็มกำลังตลอด24ชม. เป็นครั้งแรกตั้ง แต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา”
ทั้งนี้ บริษัท OsakaGas เป็นบริษัทแก๊สขนาดใหญ่อันดับ2ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งบริการจัดจำหน่ายแก๊สพลังงานไฟฟ้า และนำเข้าแก๊สธรรมชาต(LNG)จากต่างประเทศและจัดจำหน่ายให้แก่ผ้บูริโภคกว่า7,300,000ครัวเรือน Osaka gas ยังมีเครือข่ายสาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันัออกเฉียงใต้ อาทิ สิงคโปร์ และ กรุงเทพมหานคร ซึ่ง Osaka gas (Thailand) ได้ร่วมกับ ปตท. เพื่อดำเนินธุรกิจบริการแก๊สธรรมชาติในประเทศไทย
ท่ามกลางกระแสโลกที่มุ่งพัฒนา เพื่อหวังลดการใช้พลังงานฟอซซิลซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก หรือที่รู้จักคุ้นหูอย่าง สถานการณ์โลกร้อน (Global warming) การริเริ่มหันใาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เกิดจากการนำของเสียจากโรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งหนทางในการช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลลงได้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า นโยบายตามแผน พัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) ของกระทรวงพลังงานจะสามารถสำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ได้จริงหรือไม่
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก www.ryt9.net และ http://thainews.prd.go.th/website_th/news/print_news/TNSOC6011270010154