เซินเจิ้น หมู่บ้านชาวประมงยากจนสู่เมืองดาวรุ่งของเศรษฐกิจจีน "ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย"
"คนชั้นกลาง (middle income) จาก 300-400 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 700 ล้านคน จะเห็นว่า คนชั้นกลางจีนใช้จ่ายมากขึ้น และใช้จ่ายผ่านมือถือ ไม่พกกระเป๋าสตางค์เขาไม่เดือดร้อน แต่หากลืมมือถือน่ามีปัญหาการใช้ชีวิตทันที แม้แต่การจ่ายเงินค่าแท็กซี่ ค่าน้ำ ช็อปปิ้ง ทำผ่านคิวอาร์โค้ด ไม่ต้องมีกระเป๋าตังค์อีกต่อไปแล้ว นี่คือชีวิตของคนรุ่นใหม่จีน"
หากเปิดดูแผนที่ของประเทศจีน จะเห็นลักษณะภูมิประเทศคล้ายกับ "ไก่" ตัวหนึ่ง และเมืองเซินเจิ้น เมืองหลักของมณฑลกวางตุ้ง ก็อยู่ตรง "ท้องไก่" ทางใต้สุดของจีนแผ่นดินใหญ่
จีนภายใต้การนำของ "เติ้งเสี่ยวผิง" ในอดีตนั้นมีความคิดจะพัฒนาหมู่บ้านชาวประมงที่ยากจนแห่งนี้ให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือศูนย์กลางของเศรษฐกิจใหม่ และหากสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาได้ดี จีนจะมีเมืองเทียบชั้นกับฮ่องกงเลยทีเดียว
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 1979 ที่เปิดเมืองเซินเจิ้นนับจนถึงวันนี้กินเวลา 37 ปี จีนใช้เวลาสร้างเมืองแห่งนี้ให้กลายเป็นเมืองเจริญอันดับที่ 4 ของประเทศ รองจากปักกิ่ง เซี้ยงไฮ้ และกวางโจว พลิกโฉมหมู่บ้านชาวประมงยากจนที่มีตึกสูงสุดอยู่แค่ 5 ชั้น วันนี้เซินเจิ้นมีตึกสูงสุด 119 ชั้นลำดับที่ 2 ของโลก และกำลังมีตึกสูงที่สุดในโลก คาดกันว่าไม่เกิน 4 ปีจะสร้างเสร็จ สถิติแซงหน้าตึกนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
หากดูเนื้อที่ "เซินเจิ้น" ในอดีตเคยมีเนื้อที่แค่ 2,220 ตารางกิโลเมตร เมื่อถมทะเลสร้างเมืองใหม่ พื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 3,000 ตารางกิโลเมตร จากประชากรแต่ 3 แสนคน พุ่งเป็น 15 ล้านคน ส่วนใหญ่ประชากรวัยหนุ่มสาวแทบทั้งสิ้น
และในบรรดาเมืองใหญ่ 9 แห่งบริเวณเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล "เซินเจิ้น" จัดเป็นเมืองที่มีภาคการผลิตใหญ่ที่สุด มีมูลค่าเพิ่มด้านอุตสาหกรรมถึง 719,900 ล้านหยวน
เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเซินเจิ้น เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติ สัญชาติจีนที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ได้แก่ Ping An Bank,China Merchants Banks, Tencent,ZTE,Huawei,BYD,DJI,Vanke&Hytera
อีกทั้งบริษัท Apple ก็กำลังอยู่ในขั้นนเตรียมการตั้งศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาที่เซินเจิ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับธุรกิจของคนไทย ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย เพิ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการกำกับดูแลภาคธนาคารของจีน (CBRC) ให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียน (LII) เต็มรูปแบบ ในชื่อ “ไคไท่หยินหาง (จงกั๋ว)” หรือบริษัท ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) จำกัด โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง "วงศ์พัฒน์ พันธุ์เจริญ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ที่กสิกรไทยเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ที่นี่ เพราะมองว่า เซินเจิ้นคือศูนย์กลางของนวัตกรรม โดยเฉพาะเรื่องของฟินเทค (FinTech)
"หากใครมาเมืองจีน โดยเฉพาะเซินเจิ้น ทุกคนใช้ WeChat ถึง 900 ล้านคน ใช้ออนไลน์โมบายจ่ายเงินค่าข้าว ค่าอาหาร ค่าตั๋วภาพยนตร์ คนจีนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ถึง 95% ของประชากร การใช้ดิจิตอลเข้ามาเชื่อมโยง payment ต่างๆ หรือการใช้ชีวิตทำให้คนจีนใช้ชีวิตง่ายขึ้น และทำได้อย่างเรียวไทม์ วันนี้คุณภาพชีวิตคนจีนเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือไปหลังมือ"
วงศ์พัฒน์ ให้ข้อมูลด้วยว่า หลังจากเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีคนส่วนหนึ่งคือคนชั้นกลาง (middle income) มีอำนาจการใช้จ่ายมากขึ้นจาก 300-400 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 700 ล้านคน จะเห็นว่า คนชั้นกลางจีนจะใช้จ่ายมากขึ้น และใช้จ่ายผ่านมือถือ
"คนจีนไม่พกกระเป๋าสตางค์เขาไม่เดือดร้อนแล้วนะ แต่หากลืมมือถือน่ามีปัญหาการใช้ชีวิตทันที แม้แต่การจ่ายเงินค่าแท็กซี่ ค่าน้ำ ช็อปปิ้ง ทำผ่านคิวอาร์โค้ด ไม่ต้องมีกระเป๋าตังค์อีกต่อไปแล้ว นี่คือชีวิตของคนรุ่นใหม่จีน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แบงก์กสิกรไทย ชี้ให้เห็น และว่า กสิกรไทยหลังจากได้เป็นธนาคารท้องถิ่นในจีนแล้ว เรากำลังสร้างแพลตฟอร์มดิจิตอลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า รวมถึงในอนาคตกสิกรไทยกำลังจับมือเป็นพันธมิตรกับอาลีบาบา (Alibaba) และวีแชท
ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย
นอกจากนี้ เซินเจิ้นยังมีวิสาหกิจจีน 5 รายติดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก 500 อันดับหรือ Fortune 500 มีรายได้รวมเป็นหนึ่งของภูมิภาค โดยรัฐบาลจีนมุ่งผลักดันเชินเจิ้นขึ้นเป็น "ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย" มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ในฐานะเมืองดาวรุ่งของเศรษฐกิจจีน เป็นตัวแทนภูมิภาคในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต การสื่อสารและวิสาหกิจด้านการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เซินเจิ้น เมืองสร้างใหม่แห่งนี้ จึงไม่เพียงแต่แซงหน้าเมืองอื่นๆ ในจีนด้วยกัน แต่ยังก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในหลายสาขาอีกด้วย
แม้แต่ดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก (GFCI) จัดทำโดยบริษัทวิจัย Z/Yen Group ของอังกฤษ ก็ชี้ว่า ปัจจุบันเซินเจิ้นเป็นศูนย์กลางการเงินอันดับ 22 ของโลก เป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นและเขตการค้าเสรีเฉียนไห่ เป็นหนึ่งในเขตการค้าเสรีในยุคแรกที่ดำเนินนโยบายใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยที่สุดเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจท้องถิ่น เช่น การจัดตั้ง Xinsiban เพื่อให้บริการแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะด้านการเงินชั้นสูงได้อย่างต่อเนื่อง
ภาพมุมสูง จากชั้น 40 ตึก kk100 เมืองเซินเจิ้น
บรรดาตึกสูงระฟ้า
DJI บริษัทโดรน ที่มียอดขายอันดับ 1 ของโลก
ไฮเทร่า ผู้ผลิตวิทยุสื่อสารอันดับ 1 ของจีน หน่วยงานรัฐ เอกชนไทย ก็เป็นลูกค้า
สังคมไร้เงินสด อย่างแท้จริง
สแกนคิวอาร์โค้ด เริ่มต้นที่ชั่วโมงละ 5 บาทเอง
คนรวยที่สุดในเซินเจิ้น คือเจ้าของ แท็กซี่-รถยนต์พลังงานไฟฟ้า BYD
(บริษัท BYD Co.,Ltd BYD ย่อมาจาก Build Your Dream )
รถโดยสารสาธารณะ ใช้ไฟฟ้า100% ทั้งเมือง วิ่งได้เงียบมาก
High Speed Train เซินเจิ้นไปกวางโจว ใช้เวลาแค่ครึ่งชม. วิ่งด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชม.