“ไตรรงค์” เผยงบ 5 หมื่นล้านสร้างแก้มลิงเล็ก 1.2 หมื่นแห่ง แก้น้ำท่วม-แล้ง ซ้ำซาก
ก.เกษตรฯ เตรียมปรับระบบประสานตรงเกษตรตำบล-กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยเกษตรกรน้ำท่วมไม่ให้ตกหล่นล่าช้าเหมือนงบชดเชยรัฐบาล 5 พัน “ไตรรงค์”เผยตั้งงบ 5 หมื่นล้านเดินหน้าแก้มลิงขนาดเล็ก 1.2 หมื่นแห่ง แก้ภัยแล้งน้ำท่วมซ้ำซาก ให้สภาตำบลดูแล ปี 54 เริ่ม 84 แห่ง
วันที่ 29 พ.ย.53 ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายลักษณ์ วจนาวัชร ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรกรณีน้ำท่วมว่า ธ.ก.ส.ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัย เบื้องต้นได้ข้อมูลว่าเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ประมาณ 5.3 แสนราย โดยส่วนที่ดำเนินการอยู่คือโครงการจัดตั้งจุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตรหลังน้ำลด 167 จุด ใน 17 จังหวัด ล่าสุดดำเนินการได้แล้ว 25 จุด ช่วยเหลือเกษตรกรได้ 1,000 ราย
ส่วน 4 มาตรการหลักในการช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ 1.มาตรการเร่งด่วน ซึ่งดำเนินการไปแล้วในช่วงน้ำท่วมรุนแรง คือการส่งมอบถุงยังชีพจำนวน 7.4 หมื่นครัวเรือน 2.มาตรการปกติ ซึ่งพื้นที่การเกษตรเสียหายแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่รุนแรงมาก(เสียหายกว่ากึ่งหนึ่ง) ให้พักหนี้ 3 ปี ไม่คิดดอกเบี้ย ส่วนที่รุนแรงไม่มากให้ชะลอการชำระหนี้ออกไป 1 ปีโดยไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มร้อยละ 3 ต่อปี
3.มาตรการพิเศษ สำหรับลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เสียชีวิต 19 ราย ที่ยังเป็นหนี้กับ ธ.ก.ส.ให้ตัดจำหน่ายเป็นหนี้สูญ รวมกว่า 1.6 ล้านบาท และจะให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ที่มีหนี้กู้เดิมก่อนประสบภัยรายละไม่เกิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ยพิเศษลดจากชั้นปกติร้อยละ 3 ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และ 4.มาตรการเพิ่มเติม โดยให้สินเชื่อใหม่แก่เกษตรกรลูกค้าชั้นดีเพื่อซ่อมแซมบ้าน ยุ้งฉาง เครื่องมือการเกษตร ให้เวลาชำระหนี้ยาว 5 ปี ไม่เสียดอกเบี้ย 3 เดือนแรก โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ รวมถึงให้สินเชื่อแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อซ่อมแซมปัจจัยพื้นฐานที่ถูกน้ำท่วมด้วยดอกเบี้ยอัตราพิเศษ
ผู้จัดการ ธ.ก.ส กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดยังได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และปลัดกระทรวงเกษตรฯ ถึงแนวทางการปรับระบบให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยจะให้หน่วยงานภายใต้การดูแลกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง ประสานกับหน่วยงานเกษตรตำบลหรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจความเสียหาย และติดประกาศให้ชาวบ้านตรวจสอบว่าตกหล่นอย่างไรหรือไม่ หากไม่มีปัญหาให้ส่งขออนุมัติงบไปยังสำนักงบประมาณ หลังจากนั้นให้สำนักงบฯโอนมายัง ธ.ก.ส. ได้เลยเพื่อนำจ่ายผ่านบัญชีลูกค้า ธ.ก.ส.ทันที เพื่อลดความยุ่งยากและจัดระบบเม็ดเงินให้ถึงมือผู้เดือดร้อนเร็วขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มจ่ายได้ภายในวันที่ 15 ธ.ค. เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากไม่กำหนดระยะเวลาจะจ่ายได้เสร็จสิ้นเมื่อใด จะล่าช้าเหมือนการจ่ายเงินชดเชย 5,000 แบบรัฐบาลหรือไม่ นายลักษณ์ กล่าวว่า ต้องมีการหารือกับทางกระทรวงเกษตรฯอีกครั้ง แต่เบื้องต้นคาดว่าจะกำหนดให้ไม่เกินสิ้นเดือน มี.ค.ปีหน้า ไม่น่าจะล่าช้าหรือมีปัญหาอะไร
จากข้อมูลของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีจำนวนผู้ประสบภัย 2.6 ล้านครัวเรือน ส่วนที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. 5.3 แสนราย พื้นที่เสียหายมากที่สุดเป็นที่ลุ่มนาถึง 6.7 ล้านไร่ พืชอื่นๆ ประมาณ 8 แสนไร่ ประมง 2.9 หมื่นไร่ และสัตว์ปีกอื่นๆ ประมาณ 1.8 แสนตัว
ขณะที่เมื่อวานนี้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลเตรียมเดินหน้าโครงการแก้มลิงขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก โดยให้สภาตำบลเป็นผู้ดูแล โดยมีโครงการจะสร้าง 12,000 แห่งทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณแห่งละไม่เกิน 5 ล้านบาท รวมไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้จะเริ่มจาก 84 แห่ง ด้วยงบประมาณปี 2554 แล้วเสร็จปี 2555
ทั้งนี้กรมชลประทานมีแผนก่อสร้างโครงการแก้มลิงทั้งหมด 317 แห่ง จำนวนนี้เป็นแก้มลิงขนาดเล็กความจุไม่ถึง 2 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) 229 แห่ง ขนาดกลางความจุ 2-100 ล้าน ลบ.ม. 88 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 แห่ง และแก้มลิงขนาดใหญ่ความจุ 100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้ยังไม่แผนดำเนินการ ทั้งนี้โครงการแก้มลิงขนาดใหญ่ทำได้ล่าช้า และได้รับการต่อต้านจากประชาชนบางส่วน.