ไม่สร้างอย่าหวังค่าไฟลด 'บิ๊กตู่'แจงยิบโรงไฟฟ้าเทพา จี้หยุดประท้วงได้แล้ว
'บิ๊กตู่'ยอมรับทุบม็อบต้านโรงไฟฟ้าเป็นปมร้อน ออกทีวีแจงทุกข้อสงสัย ชี้ถ้าไม่สร้างอย่าหวังลดค่าไฟฟ้าได้ พร้อมวอนทุกคนเคารพกฎหมาย อย่าอ้างละเมิดสิทธิมนุษยชน "หยุด"ประท้วง!กันได้แล้ว
เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.วันที่ 1 ธ.ค.2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา" เกี่ยวกับเรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ที่กำลังถูกจับตามอง โดยยอมรับว่าได้กลายเป็นประเด็นร้อน ที่กำลังมีปัญหาขัดแย้ง
บิ๊กตู่รับโรงไฟฟ้าเทพาเป็นปมร้อน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้ วันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นร้อน ตนก็ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง(รมว.) พลังงาน ไปดำเนินการให้ได้ข้อยุติปราศจากความขัดแย้ง ขณะนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา รมว.พลังงาน คนก่อน ก็ไม่ได้ไปกำหนดว่าต้องสร้าง หรือไม่ต้องสร้าง เพราะยังอยู่ในขั้นตอน แต่บางทีสื่อก็ไม่ทราบ ประชาชนก็ไม่รู้ หรือบางทีก็ไม่สนใจ ไปสนใจแต่เพียงว่าสร้าง หรือไม่สร้าง จริงๆ มีขั้นตอนทั้งหมด ที่ผ่านมาขั้นตอนต่างๆก็ผ่านมาแล้ว แต่เมื่อทำไม่ได้ รัฐบาลก็ได้สั่งการลงไปว่าไปทบทวนว่าถ้าทำได้ ก็จะดีกว่าทำไม่ได้หรือไม่ แล้วทำได้ที่ว่าจะขัดยังกันหรือไม่
ชี้ไม่สร้าง อย่าหวังลดค่าไฟฟ้าได้
นายกฯ กล่าวอีกว่า ดังนั้นประชาชนต้องฟังบ้าง ไม่ใช่จะดึงดันกันไปทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลไม่อยากจะดึงดันอะไรกับใครทั้งสิ้น เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนในการก่อสร้าง พื้นที่ในการก่อสร้าง แล้วก็ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า
"หลายคนบอกว่าค่าไฟฟ้าแพง อยากให้ค่าไฟฟ้าลดลง ลดลงไม่ได้หรอก ถ้าการผลิตต่างๆ ไฟฟ้าจากพลังงานหลักมาจากส่วนกลาง หรือในภาคอื่น แล้วส่งลงไปพื้นที่ห่างไกล บวกต้นทุนเรื่องการทำสายส่งเข้าไปด้วย ต้นทุนจะเกิดจากแหล่งที่ก่อให้เกิดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส น้ำมัน ถ่านหินลิกไนต์ อะไรก็แล้วแต่ แล้ววันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่จะแก้ปัญหาเดิมๆได้ นี่คือต้นทุนอันที่ 1 ส่วนอันที่ 2 คือ เทคนิคในการสร้างโรงงานแพงขึ้น เครื่องมือแพงขึ้น 3.สายส่ง เหล่านี้จะทำให้บวกเข้าไปในค่าต้นทุน" นายกฯ กล่าว
ยกสารพัดต้นทุน-วอนปชช.รับฟัง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ถ้าสมมุติว่าไปสร้างในพื้นที่ห่างไกลได้ ก็จะลดในส่วนนี้ ไม่ต้องไปลากมาจากไกลๆ ถ้ามีปัญหาอีกก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงพลังงาน เกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ จะทำอย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งคือการไปซื้อมาจากต่างประเทศ ถ้าวันหน้าเขาขายน้อยลง หรือตั้งราคาขายสูงขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรย จะมีคำตอบว่าเราจะดูแลประชาชนเราได้อย่างไร ก็อยากให้คำนึงถึงทุกมิติเหล่านี้
"เหล่านี้คือต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งสิ้น แล้วค่าไฟฟ้าทั้งหมดนี้ ทั้งต้นทุนการผลิต ราคา การบริหารจัดการทั้งหมด รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าทั้งหมด เมื่อรวมมาแล้วถ้าสิ่งเหล่านี้สูงเกินไป อะไรที่ควรประหยัด แต่ไม่ได้ประหยัด เทคโนโลยีใหม่ก็มีแล้วไม่ใช้ หรือใช้ไม่ได้ ก็เป็นปัญหาในอนาคต ต้องฝากทุกคนช่วยกันคิดด้วย ผมไม่ได้บอกว่าต้องอย่างนี้อย่างนั้น เพียงแต่เสนอแนวทาง กระทรวงพลังงานมีหน้าที่ในการหาไฟฟ้า มีกฎหมายของเขาด้วย ดังนั้นทุกคนต้องฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน" นายกฯ กล่าว
ย้ำทุกคนต้องเคารพกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของที่ผ่านมาก็มีการบังคับใช้กฎหมาย แยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ไม่อยากให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ทุกคนต้องรักษากฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็รักษากฎหมาย ประชาชนก็ต้องเคารพกฎหมาย การที่จะส่งข้อมูลอะไรถึงตน บางทีมีตั้งหลายช่องทาง มาพูดกับตนโดยตรง ตนก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะเวลาหรือกิจกรรมหลักของตน บางทีก็หายไป ตนก็พร้อมจะฟังทุกวัน
โวยชุมนุมอย่าอ้างสิทธิมนุษยชน
"แล้วก็เรื่องไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่ว่าจะกระบี่ อะไรต่างๆ ข้อมูลอยู่ที่ผมทั้งหมด มีทั้ง 2 ทาง ประชาชนก็มี ภาคราชการก็มี กระทรวงพลังงานก็ส่ง ผมก็ส่งถามไปตลอด ไม่ใช่ผมไม่สนใจ คราวนี้ก็ขอร้องกันเถิดนะการที่จะเคลื่อนไหวต่างๆ แล้วกดดัน แล้วบอกว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน คนละเรื่องกันหมด สื่อก็กรุณาอย่าสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ขยายความขัดแย้ง ต้องไปทบทวนดูว่ากฎหมายอยู่ตรงไหน ทำได้อย่างไร นายกฯรับฟังหรือเปล่า ในช่วงที่ผ่านมา แล้วมีแผนดำเนินการอย่างไร" นายกฯ กล่าว
จวกโซเชียลบิดเบือน
นายกฯ กล่าวต่อว่า แล้วก็สังคมโซเชียลมีเดียนอกพื้นที่ ก็ไปกับเขาด้วย ทั้งๆที่บางทีก็ไม่รู้เรื่องว่าข้อมูลเขาเป็นอย่างไร มองแต่เพียงว่าเพื่อผลประโยชน์ เอื้อประโยชน์ ทำลายสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไม่อยากให้มีการละเมิดกฎหมาย ไม่ให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งในส่วนของเจ้าหน้าที่ ตนคิดว่าเขาก็ไม่อยากทำร้ายประชาชนหรอก ตนไม่ได้บังคับเขา แต่เขาจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย
"กรุณาดูด้วยว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ผมไม่ต้องการจะแก้ตัวกับใคร ใน social media ก็มี รูปภาพก็มี แต่หลายคนก็เอามาบิดเบือน เช่น เอารูปทหารชี้นิ้ว ชี้มือ เขาพูดเพราะจะตาย ผมเปิดดูทั้งหมดแล้ว แต่มีคนเอาภาพเหล่านี้มาบอกว่าทหารชี้นิ้วบังคับให้ทำร้ายประชาชน ผมว่ามันไม่เป็นธรรมกับผม ขอความร่วมมือด้วยครับ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ขอเถอะ!ไม่ต้องเดินมาหานายกฯ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า แล้วก็มีหลายประเด็นคำถามของประชาชนในพื้นที่ และสังคมภายนอกที่ต้องการคำตอบ บางทีมันอาจสื่อสารกันไม่ถึง จนกลายเป็นความกังวลใจ จนต้องเดินมาหานายกฯ ขอเถอะไม่ต้องเดินมาหรอก ท่านก็ไปส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วค่อยมาบอกว่าผู้ว่าฯเขาไม่ส่งถึงตน หรือเขาไม่แก้ปัญหา หรือเขาไม่ทำอะไรก็แล้วแต่
แจงสารพัดข้อสงสัย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องโรงไฟฟ้ามีหลายประเด็นที่เขาสงสัยกันอยู่ ตนไม่ได้พูดถึงว่าจะสร้างได้หรือไม่ได้ตอนนี้ แต่ติดปัญหาที่เขาสงสัยอยู่ว่า 1.มีการย้ายวัดและโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนมูลนิธิอิตีซอมวิทยา ก็มีการหารือในพื้นที่ไปแล้วว่าจะมีการเคลื่อนย้ายไปพื้นที่แห่งใหม่ ตนก็ฟังมาจากอีกส่วนหนึ่งนะที่ว่า 5 หมื่นคน ก็พอใจ จึงไม่รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นตรงนี้
2.การโยกย้ายประชาชน วันนี้ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้นสักอย่าง ดังนั้นถ้ามันผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) จึงจะไปเริ่มต้น ก็ต้องไปดูเรื่องการเยียวยา แต่วันนี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษา EIA + HEIA ยังไม่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดังนั้นต้องไปหาความจริงให้ได้ทั้งหมด แต่เวลาไม่คอยท่า ดังนั้นต้องเอาให้แน่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง
การันตีมีแผนป้องกันผลกระทบ
3.ที่สงสัยเรื่องสิ่งปลูกสร้างในทะเลจะกีดขวางการไหลของน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งหรือไม่ ก็ได้มีการพูดคุยกันล่วงหน้าไปแล้วในพื้นที่ ส่วนที่ไม่ฟังอะไรเลย ก็ไม่เข้าใจ กลายเป็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไร ไปทุบเขาอะไรทำนองนี้นะ ทั้งนี้ได้มีการกำหนดมาตรการรองรับชัดเจน เช่น การทำเขื่อนป้องกัน จึงไม่มีผลกระทบต่อการสัญจรทางเรือ อาชีพประมง และการกัดเซาะชายฝั่ง
"การก่อสร้างมันก็มีผลกระทบอยู่บ้างในช่วงแรก พอสร้างเสร็จแล้ว ปลา สัตว์น้ำ มันก็กลับเข้ามาอยู่ใหม่เหมือนเดิม อันนี้ไปดูด้วยนะครับ มันไม่ใช่หายไปหมด มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ข้อเท็จจริง" นายกฯ กล่าว
ปัดใช้ถ่านหินในประเทศเอื้อนายทุน
4.การใช้ถ่านหินคุณภาพดี ประเภท "บิทูบินัส" และ "ซับบิทูบินัส" จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเรือบรรทุกแบบปิดที่เรียกว่า "ระบบปิด" คลุมทุกอย่าง ไม่มีการใช้ถ่านหินจากแหล่งในประเทศ ที่มีการกล่าวอ้างกัน บอกว่ามีถ่านหิน "ลิกไนต์" อยู่ในประเทศ รัฐบาลต้องการขุดถ่านหินลิกไนต์ เอามาใช้เอื้อประโยชน์กับนายทุน คนละเรื่อง นี่ข้อมูลไม่ตรงกันเลย เราใช้เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด เท่าที่ตนศึกษาดูของโรงงาน เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด ซึ่งแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม
5.การใช้น้ำทะเลเป็นน้ำหล่อเย็น มีระบบกำจัดการสะสมของโลหะหนัก ที่ทุกคนเป็นห่วง มีการควบคุมการปรับคุณภาพน้ำ ก่อนที่จะระบายสู่ทะเลธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ประเภท 1 คือ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล โดยเราก็ใช้สัตว์น้ำ อาทิ หอยแครง-หอยแมลงภู่ เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ ณ จุดปล่อยน้ำ ถ้าสร้างได้ก็ไปช่วยดูแล้วกัน มีตาย มีอะไรหรือเปล่า
สร้างหรือล้ม ให้ปชช.ตัดสิน
นายกฯ กล่าวต่อว่า ตนขออนุญาตนำเสนอเฉพาะประเด็นที่สงสัยกัน ให้ทุกคนได้พิจารณาร่วมกัน ส่วนรายละเอียดอื่นๆนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ต้องมีข้อมูลพร้อมตอบ และสร้างความเข้าใจ ฝากประชาชนที่เห็นด้วย ช่วยกรุณาทำความเข้าใจกับผู้ไม่เห็นด้วยด้วย อย่าให้รัฐบาลต้องไปตัดสิน มันจะเป็นปัญหากระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนอีก
"แล้วเราก็จะถูกจับตามองอย่างที่ท่านกล่าวอ้าง มีใครอยากจะทำ รัฐบาลนี้ไม่อยากทำ แต่ถ้าไม่ทำแล้วมันเกิดขึ้นต่อไป ขยายไปหลายกลุ่มหลายฝ่ายแล้วจะหยุดกันได้ไหม มันก็หยุดไม่ได้อีก มันต้องแก้ด้วยเรากันเอง คือ ข้าราชการ ประชาชน ภาคเอกชน ต้องหารือกัน ฝ่ายรัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ส่วนปฏิบัติต้องชัดเจนตอบข้อซักถาม อธิบาย สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถ้าทุกอย่างทำกันได้ก่อนเข้า ชี้แจงต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม มันก็จะเกิดปัญหาน้อยลง แก้ปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆได้มากแล้วมันจะเร็วขึ้น" นายกฯ กล่าว
ครวญปมทุบม็อบเทพาไม่น่าเกิดขึ้น
นายกฯ กล่าวอีกว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย ถ้ามันไม่เกิดขึ้น ไม่มีการประท้วง แล้วมีการรับฟัง ตนก็บอกว่าไปรับได้ตลอดทาง ก็ไม่ยอมก็จะมาให้ได้ แล้วมันต่างกันตรงไหน ในเมื่อส่งทางโน้นกับมาตรงนี้ ผมกำลังทำงานตรงนี้อยู่ แล้วผมก็เอาปัญหาของท่านมาพูด ขอความกรุณาพิจารณาให้เหมาะสมนะครับ ผมไม่ต่อว่าอะไรใครหรอกนะ
"ทุกเรื่องนะ จะยาง จะปาล์ม อะไรต่างๆ ผมขอเถอะ เพราะมีรัฐบาลนี้เท่านั้นที่จะแก้ให้ท่านเป็นรูปธรรมนะ แต่ถ้ามันทำไม่ได้ก็อยู่ที่พวกเรากันเองต้องช่วยกันนะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ยกเพื่อนบ้านมีหมดแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้ก็อยากจะกราบเรียนว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินนี่ห่างจากเราไม่ถึง 10 กม.อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เขาสร้างโรงงานลิกไนต์อยู่ ขนาดใหญ่ด้วย แล้วทำไมเขาเดือดร้อนเหรอ ไม่เหมือนเราหรือ เทคโนโลยีมันใช้ไม่ได้หรือไง ต้องตามไปดู ก็ขอให้ชัดเจน
"เราอย่าไปให้ความสำคัญกับการทำ EIA อย่างเดียว ตรงอื่นท่านไม่สร้างความเข้าใจเลย ประชาชนก็ไม่ทราบที่มาที่ไป พอประท้วงกันไป รัฐบาลก็ถูกมองว่าไม่ไว้วางใจอยู่เสมอ ผมไม่ทราบว่าจะทำไปทำไมนะสื่อต่างๆเหล่านี้ เอาสาระไปเสนอด้วย วันนั้นผมส่งเอกสารไปเรื่องเทคโนโลยี เรื่องที่เค้าสงสัยต่างๆ ผมไม่เห็นเขาออกให้ผมสักสื่อหนึ่งเลย" นายกฯ กล่าว
ย้ำทุกปัญหาหันหน้าคุยกัน-อย่ากดดันจนท.
นายกฯ กล่าวด้วยว่า สุดท้ายนี้ ถ้าเราไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ร่วมกันปฏิรูปในวันนี้ จะไปรอปฏิรูปวันหน้ารับรองไม่ได้เกิดหรอก วันนี้เราต้องเร่งหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน เสนอปัญหาต่างๆ โดยใช้ช่องทาง วิธีการที่ถูกต้อง ให้เป็นไปตามกฎหมาย ต้องคำนึงถึงทั้งหมด อย่าไปกดดันเจ้าหน้าที่ เพราะเขาก็มีหน้าที่ของเขา เจ้าหน้าที่เองก็ต้องระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมาย
ขอร้องเลิกประท้วงกันได้แล้ว
"ไม่อยากให้มองว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม มีผู้ไม่ประสงค์ดีอยู่ด้วยตอนนี้ บ้านเมืองสงบสุขไม่ได้นะครับ เราจะปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดกฎหมายอีกต่อไปไม่ได้แล้ว วันหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก เป็นตัวอย่างมาแล้ว อะไรที่แก้ได้ในพื้นที่ก็แก้ซะ ถ้าแก้ไม่ได้เกินความสามารถก็ส่งมาถึงรัฐบาล ต้องเป็นอย่างนั้นนะทุกเรื่อง ยาง ข้าว พืชเกษตร พลังงาน ไม่เคยละเลยนะ ผมไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือหมักหมมปัญหาไว้ ผมก็เอาที่หมักหมมไว้ขึ้นมาแก้ทุกอัน ก็ยากบ้าง ง่ายบ้าง ฉะนั้นขอร้องอย่าประท้วงกันอีกเลยนะครับ" นายกฯ กล่าว