ถอดโมเดล ‘สุรินทร์’ จัดการศึกษาเชิงพื้นที่ พัฒนาทักษะอาชีพเยาวชน
ถอดโมเดลความสำเร็จ ‘สุรินทร์’ จัดการศึกษาเชิงพื้นที่ พัฒนาทักษะอาชีพเยาวชน ชูผลสัมฤทธิ์ เด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาเกือบ 1 พันคน ‘พล.อ.อ.ประจิน’ เผยแนวขับเคลื่อนเริ่มระดับพื้นที่สู่จังหวัด เน้นเทคโนโลยี ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0
‘จ.สุรินทร์’ เป็น 1 ใน 10 จังหวัดนำร่องการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ภายใต้โครงการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพแก่เยาวชนระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษามีทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัด
ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุ จ.สุรินทร์ มีอาชีพหลักคือภาคเกษตรกรรม มากที่สุดร้อยละ 23.64 ในปี 2557 แต่กลับพบว่า มีการเจริญเติบโตด้านมูลค่าที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภาคการผลิตอื่นของจังหวัด
ขณะที่ภาคแรงงานส่วนใหญ่มีทักษะต่ำ โดยมีระดับการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า ร้อยละ 76.23 ซึ่งสวนทางกับทิศทางการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการแรงงานระดับวิชาชีพ ร้อยละ 45.27 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร้อยละ 43.42 และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือต่ำกว่า เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ สสค. จึงร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ และกิจการเพื่อสังคม a-chieve จัดงาน “เปิดโลกการเรียนรู้เพื่ออาชีพจังหวัดสุรินทร์” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการฯ ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.สุรินทร์ เพื่อสังเคราะห์ปัญหา แลกเปลี่ยนมุมมอง ต่อการจัดการศึกษาในพื้นที่ และแนะแนวอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดอบจ.สุรินทร์
นำร่อง 5 รร. ขับเคลื่อนหลักสูตรอาชีพ
“ไกรศักดิ์ วรทัต” ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)สุรินทร์ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ให้ข้อมูลว่า เด็กและเยาวชนจ.สุรินทร์ มีสถิติการเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และหนึ่งในนั้น มีจำนวนสูงถึง 1.5 หมื่นคน ที่ไม่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เนื่องจากฐานะยากจน ทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะต้องเข้าไปเป็นแรงงานภาคเกษตรกรรม
“ลองคิดดูว่า เด็กและเยาวชนที่ไม่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่มีพื้นฐานทักษะอาชีพอะไรเลย จะไปทำงานในภาคแรงงานอย่างไร เพราะหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ไม่ได้บรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับทักษะอาชีพเข้าไปด้วย ทำให้กลายเป็นแรงงานไร้ทักษะ”
‘การจัดทำหลักสูตรอาชีพ’ บรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของ จ.สุรินทร์ จึงเกิดขึ้น โดย ปลัด อบจ.สุรินทร์ เชื่อมั่นว่าเป็นทางออกที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนมีทักษะอาชีพติดตัวได้ ปัจจุบันนำร่องใน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านอาเลา โรงเรียนบ้านหนองแวง โรงเรียนบ้านกุดไผทประชาสรรค์ โรงเรียนบ้านโคกเมือง และโรงเรียนกาบเชิงวิทยา ซึ่งหลักสูตรนำร่องนี้แต่ละสถาบันจะเป็นผู้ออกแบบเอง แต่จะต้องมีการเรียนการสอนทันสมัย โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพื่อสุดท้าย จะพัฒนาต่อยอดให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve
อาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ
‘วิน’ นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม a-chieve เป็นอีกหนึ่งกำลังพลที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเล่าว่า พวกเขาเข้ามาเพื่อต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ว่า “โตแล้วไปไหน” โดยวิธีการแนะแนวและพยายามสร้างวิธีคิด ให้รู้จักตัวตน มองเห็นถึงอาชีพในอนาคต มากกว่าการแนะแนวปกติที่ให้ข้อมูลเฉพาะสถานที่เรียนเท่านั้น
“เวลาเรียนแนะแนว ส่วนใหญ่จะไม่คิดถึงว่าอนาคตจะไปประกอบอาชีพอะไร จะคิดแค่ว่าจะเรียนคณะอะไร” เขากล่าว และเห็นว่า นั่นเป็นคำถามที่สั้นเกินไป ซึ่งถือว่ายังไม่เห็นเป้าหมายในการเรียน ดังนั้น a-chieve จะทำให้เห็นเป้าหมาย สัมผัสข้อมูล และประสบการณ์อาชีพ
มิฉะนั้น เราจะไม่มีคำตอบว่า “เรียนไปทำไม” ซึ่งประเด็นนี้ ‘วิน’ บอกว่า กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย และเรากำลังพยายามแก้ไขอยู่
‘ตุ๊กตาขนมปัง’ คือหนึ่งในการเวิร์กช้อป เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้จักอาชีพที่เหมาะสมและอยากทำ กิจกรรมนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชม. โดยการวาดรูปตุ๊กตาขนมปังขึ้นมา ภายในเขียนเป้าหมายความฝันในชีวิต, สิ่งที่ชอบ (ทำแล้ว มีความสุขให้คุณค่า), จุดแข็ง (ความสามารถ ทำได้ดี ถนัด), จุดอ่อน (ความสามารถ ทำได้ไม่ดี ไม่ถนัด), ความคาดหวัง และโอกาส อุปสรรคภายนอก ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ และนำไปสู่การมี “อาชีพที่ใช่ ชีวิตที่ชอบ”
ตุ๊กตาขนมปัง
‘เกมส์’ วีรพล หมื่นราม คือหนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพ จากเคยเป็นเด็กนอกระบบการศึกษาที่เกเร ทะเลาะวิวาท ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ วันนี้ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อตัดสินใจเข้าอยู่ในระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยเข้าร่วมการอบรมเรียนรู้การฝึกทักษะอาชีพ ช่างตัดผม
“ตอนนี้ผมฝึกอบรมตัดผมหลักสูตรพื้นฐาน 75 ชม. ครบแล้ว ยังเหลือหลักสูตรสมัยนิยมอีก 75 ชม.” เกมส์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
(เกมส์) วีรพล หมื่นราม (เสื้อเขียว)
เกมส์เล่าว่า ปัจจุบันเปิดร้านตัดผม ชื่อว่า เกมส์ บาร์เบอร์ช้อป และรู้สึกมีความสุขมาก เพราะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ และตัวเองชื่นชอบ เนื่องจากสมัยก่อนจะหัดตัดผมกับเพื่อนแถวบ้าน โดยใช้กรรไกรกับหวี ก่อนจะได้รับการอบรมฝึกวิชาชีพในปัจจุบัน และแม้จะไม่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาในหลักสูตร แต่ยังเชื่อว่า จะประสบความเสร็จในด้านอาชีพอย่างแน่นอน
จังหวัดจัดการ (ศึกษา) ตนเอง
ขณะที่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การศึกษาจะเกิดประโยชน์ต่อเมื่อจบการศึกษาแล้วมีงานทำ และงานที่ทำนั้นจะต้องเกิดจากความถนัดและมีความสุข มิฉะนั้นการศึกษาที่ได้รับจะไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นความต้องการของตลาดในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาคนอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของการพัฒนาชาติ จึงมีนโยบายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องบูรณาการการศึกษาและพัฒนาคน โดยมุ่งให้เกิดการเตรียมความพร้อมของเยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และความต้องการท้องถิ่น เน้นการสร้างคนให้มีความสามารถ มีทักษะ และเจตคติที่ดีในการทำงาน ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ
“การขับเคลื่อนจะประสบความสำเร็จ ควรเริ่มจากท้องถิ่นไปสู่จังหวัด เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างหลากหลาย มีต้นทุนทรัพยากรแตกต่างกันส่งผลให้ความต้องการแรงงานแตกต่างกันด้วย ดังนั้นการพัฒนาด้านอาชีพของคนในแต่ละจังหวัดต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย โดยจังหวัดสามารถกำหนดทิศทางการศึกษาในจังหวัดของตนเอง”
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า จ.สุรินทร์ คือหนึ่งในจังหวัดตัวอย่างที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กและเยาวชนให้มีทักษะด้านอาชีพ อย่างไรก็ดี ต้องนำเทคโนโลยี และความรู้อื่น ๆ ด้านดิจิทัล มาผสมผสานกับอาชีพอย่างกลมกลืนด้วย รวมถึงต้องมีความรู้ด้านบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างกิจการกับทรัพยากรในพื้นที่ตรงตามวัตถุประสงค์ ไทยแลนด์ 4.0
ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ‘การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่’ ทำให้จ.สุรินทร์สามารถช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 734 คน ในจำนวนนี้ 447 คน เข้าสู่ระบบการศึกษาได้ อีก 287 คน ได้รับการส่งต่อฝึกอาชีพที่ตนเองถนัดและสนใจในสาขาต่าง ๆ
จึงนับได้ว่า จ.สุรินทร์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จการพัฒนาคนที่สอดคล้องพื้นที่ สอดร้ับกับการพัฒนาไทยเเลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล .