กรมพัฒนาที่ดินแจง “แผนแม่บทลดโลกร้อน” จากภาคเกษตร
กรมพัฒนาที่ดิน เผย 3 โครงการลดภาวะโลกร้อนจากภาคเกษตร มุ่งอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วนำร่อง 2 หมื่นไร่ในพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซาก ลดมลพิษอากาศจากการเผาไร่ใน 8 จังหวัดเหนือ รณรงค์ไถกลบตอซังลดปุ๋ยเคมี
เมื่อเร็วๆนี้ นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ทำแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนในภาคเกษตร โดยมีแผนดำเนินงาน 3 โครงการ คือ 1.โครงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ พร้อมปลูกไม้ยืนต้นโตเร็ว ซึ่งจะคัดเลือกพื้นที่นำร่อง 20,000 ไร่ ในจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดความแห้งแล้งและเสื่อมโทรมซ้ำซาก โดยการเข้าไปสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำควบคู่กับส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร
2.โครงการรณรงค์ไถกลบตอซังเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน โดยจะคัดเลือกพื้นที่ทำจุดสาธิตเรียนรู้การไถกลบตอซังในพื้นที่ปลูกข้าว อ้อย และข้าวโพด โดยทำเป็นแปลง ขนาด 20 ไร่ จำนวน 250 แปลง รวม 5,000 ไร่ เพื่อสาธิตวิธีการไถกลบตอซังที่ถูกต้อง จนสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ ซึ่งการไถกลบตอซังดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีได้อย่างน้อย 800-900 บาทต่อไร่
3.โครงการลดการเผาในพื้นที่โล่งเตียนเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน เน้นการดำเนินงานใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแพร่ โดยมีเป้าหมาย 2,500 ไร่ เนื่องจากฟื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรมบนที่ราบสูง มีการปลูกพืชไร่ ทำให้มีการแผ้วถางและเผาอยู่เป็นประจำ จึงจะดำเนินการจัดระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น การทำขั้นบันไดดิน ขุดคูรับน้ำรอบของเขา จัดหากล้าไม้ยืนต้น เช่น แมคคาเดเมีย ลิ้นจี่ ลำไย ชา เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้ด้วย
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ได้จัดทำหนังสือ “หยุดเผาตอซัง ฟางเข้าว เปลี่ยนมาไถกลบดีกว่าไหม” ในรูปแบบการ์ตูน เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเผาตอซัง ฟางข้าวและเศษวัชพืชในไร่นา ว่านอกจากจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังส่งผลเสียตามมา เช่น ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตไม่เจริญงอกงาม ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถขอรับหนังสือดังกล่าวได้ฟรี ที่กรมพัฒนาที่ดิน สอบถามเพิ่มเติมโทร 02-579-5214 .