"ประมง-ยาง-โรงไฟฟ้าเทพา" กลุ่มหนุนเชิญมา กลุ่มต้านโดนสกัด
การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อประชุม ครม.สัญจร ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในแง่ของท่าทีที่ไม่ยอมรับฟังประชาชนผู้เห็นต่างทางด้านนโยบาย ทั้งเรื่องปัญหาราคายางพารา ปัญหาประมงผิดกฎหมาย และการคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา
โดยเฉพาะกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดการเดินเท้าไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี จนเกิดการชุลมุนปะทะกัน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเจ้าหน้าที่จับกุมแกนนำจำนวน 16 คน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 27 พ.ย.60 บนถนนก่อนถึงหาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมด้วยอาสารักษาดินแดน (อส.) ประจำอำเภอเมืองสงขลา จำนวน 1 กองร้อย เข้าจับกุมแกนนำ "เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" ขณะกำลังเดินเท้าไปยื่นหนังสือคัดค้านโครงการและขอพบนายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดการจะเป็นประธานการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.สงขลา ในวันอังคารที่ 28 พ.ย.
ช่วงที่มีการสกัดกั้นการเดินเท้าอย่างสงบ มีการปะทะและยื้อยุดฉุดกระชากกันระหว่างชาวบ้านกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้ากับเจ้าหน้าที่ ทำให้ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายได้รับบาดเจ็บ 3 ราย และแกนนำถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป 16 คน ประกอบด้วย
1.นายดิเรก เหมนคร อายุ 41 ปี
2.นายสมบูรณ์ คำแหง อายุ 46 ปี
3.นายปาฏิหารย์ บุญรัตน์ อายุ 59 ปี
4.นายรุ่งเรือง ระหมันยะ อายุ 44 ปี
5.นายอามีน สะมาแอ อายุ 24 ปี
6.นายสมาน บิแหละ อายุ 45 ปี
7.นายวีรพงษ์ หวังหวิน อายุ 40 ปี
8.นายสรวิชญ์ หลีเจริญ อายุ 34 ปี
9.นายเจะอาแซ เพ็ชรแก้ว อายุ 48 ปี
10.นายฮานาฟี เหมนคร อายุ 16 ปี (เยาวชน)
11.นายเนติพงษ์ ชื่นล้วน อายุ 21 ปี
12.นายยิ่งยศ ดามะลี อายุ 44 ปี
13.นายอานัส อาลีมาส๊ะ อายุ 25 ปี
14.นายอิสดาเรส หะยีเด อายุ 59 ปี
15.นายอัยโยบ มูเซะ อายุ 49 ปี
16.นายเอกชัย อิสระทะ อายุ 49 ปี
ทั้งหมดถูกนำตัวส่ง สภ.เมืองสงขลา
เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวนประมาณ 100 คน ได้ออกเดินเท้าจากชายหาดบางหลิง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 24 พ.ย. เพื่อไปยื่นหนังสือและขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่โรงแรมบีพี สมิหลา บีช แอนด์ รีสอร์ท หนึ่งในสถานที่ประชุม ครม.สัญจร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายหาดสมิหลา อ.เมืองสงขลา
หลังการปะทะและจับกุมแกนนำ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเดินทางไป สภ.เมืองสงขลา เพื่อขอโทษประชาชน พร้อมกับฟังความเห็นชาวบ้าน รวมทั้งรับหนังสือร้องเรียน และสั่งการให้ตำรวจปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดกลับบ้าน
"นี่คือทางออกที่ดีที่จะสวยงามที่สุดในตอนนี้ พวกเขาแค่เดินเท้า ลงทุนตากแดดตากฝนมา 3 วัน 3 คืนแล้ว เพื่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีและยื่นหนังสื่อเพื่อที่จะบอกเรื่องราวที่เดือดร้อน แต่ถ้าท่านคิดว่าเสียงของประชาชนน่ารำคาญก็แล้วแต่ท่าน พวกเขาไม่ได้มาชุมนุมก่อม็อบอะไรเลย เขาแค่ต้องการเดินทางไปพบนายกรัฐมนตรี แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บ 3 คน และถูกตำรวจจับทั้งหมด 16 คน อีกส่วนหนึ่งประมาณ 50 คนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ต้องพักอยู่ในมัดยิดเก้าเส้ง มีตำรวจล้อมอยู่" นายบรรจง ระบุ
สำหรับการจับกุมแกนนำเครือข่ายไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้ เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยก่อนจะจัดการชุมนุมเดินเท้า ทางแกนนำได้ทำหนังสือขออนุญาตชุมนุมตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต เมื่อมีการเดินเท้าไปพบนายกรัฐมนตรี จึงถูกเจ้าหน้าที่สกัด และอ้างว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันเดียวกับที่ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาปะทะกับเจ้าหน้าที่และถูกจับกุม ปรากฏว่ากลุ่มสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา กลับสามารถไปรวมตัวกันได้ และไปยื่นหนังสือถึงนายกฯเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ ที่กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 46 ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ท่ามกลางการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด และมีตัวแทนนายกฯออกมารับหนังสือด้วย โดยกลุ่มสนับสนุนอ้างว่าโครงการนี้จะช่วยนำพาความเจริญและสร้างงานสร้างรายได้ให้กับพื้นที่
นอกจากนั้นยังมีการเผยแพร่หนังสือของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งประชาสัมพันธ์ให้สื่อมวลชนไปรายงานข่าวการรวมตัวของกลุ่มผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาด้วย
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านกินเทพา ถูกคัดค้านจากนักอนุรักษ์และชาวบ้านในพื้นที่มานานนับปี เพราะชาวบ้านหวาดกลัวผลกระทบจากถ่านหินที่อาจก่อมลพิษ และทำลายสภาพแวดล้อม ตลอดจนอาชีพประมงชายฝั่ง ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยลงไปรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน และส่งถึงรัฐบาลด้วย แต่อีกด้านหนึ่งก็มีประชาชนบางส่วนสนับสนุนโครงการนี้เช่นกัน และเคยจัดชุมนุมแสดงพลังมาแล้วหลายครั้ง จนเกือบปะทะกันก็เคยมี
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. ที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีช แอนด์ รีสอร์ท ถึงกรณีที่กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ปะทะกับเจ้าหน้าที่จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะพิจารณา มีการเตือนกันแล้ว จะมาทำร้ายตำรวจไม่ได้
ตลอดทั้งวันของวันจันทร์ที่ 27 พ.ย. มีประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนหลายกลุ่มพยายามขอพบนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน แต่ได้รับการสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่ โดยนอกจากกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาแล้ว ยังมีตัวแทนชาวสวนยางจังหวัดสงขลา 4 อำเภอ ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา จ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี ขอเข้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ เกี่ยวกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ที่โรงแรมบีพี สมิหลาบีช แอนด์ รีสอร์ท พร้อมตั้งคำถาม 6 ข้อให้นากยฯตอบ แต่เจ้าหน้าที่ทหารได้ขอความร่วมมือไม่ให้ตัวแทนชาวสวนยางฯเข้าพบนายกฯโดยตรง โดยได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.สงขลา มารับเรื่องแทน
นอกจากนั้น ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อไปเปิดป้ายตลาดกลางปศุสัตว์จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกฯได้พูดปราศรัยกับประชาชนผ่านเครื่องขยายเสียง ตอนหนึ่งได้ปรามเกษตรกรชาวสวนยางพาราว่าอย่าออกมาเดินขบวนประท้วง หรือออกมาวิ่งเพื่อเรียกร้องอะไรเลย เพราะรัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำอยู่ ถ้าไปวิ่งหรือประท้วงก็จะผิดกฎหมายอีก
ระหว่างนั้น มีชาวบ้านที่เป็นชาวประมงเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งบางมาตรการส่งผลกระทบต่อชาวประมงรายย่อย ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตวาดใส่ชาวบ้านรายนี้ทั้งๆ ที่ยังถือไมโครโฟน จนหลายคนตกใจ โดยนายกฯบอกว่า "ให้พูดจาดีๆ อย่ากดดัน รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ และให้คำนึงถึงภาคประมงทั่วประเทศและโลกด้วย ไม่ใช่แก้ปัญหาของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น" จากนั้น พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้พาตัวชาวบ้านคนนี้ไปพูดคุย และแนะนำให้ไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดแทน
ล่าสุด วันอังคารที่ 28 พ.ย. เพจเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า Gen.Prayut Chan-o-cha ซึ่งเป็นของนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "นายกฯเสียใจที่ได้กล่าวกับชาวประมงไปเมื่อวานนี้ที่ปัตตานี แต่ขอให้เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงของไทยสามารถอยู่รอด ส่งออกได้ สอดคล้องกับพันธสัญญาที่เราต้องดำเนินการ รวมทั้งเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติให้การประมงของเราเกิดความยั่งยืนในอนาคต สำหรับปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ที่ร้องเรียนมา ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบไปดูอย่างละเอียดแล้ว"
------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 (ซ้าย) ชาวบ้านกลุ่มสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไปรวมตัวกันได้ที่ค่ายอิงยุทธบริหาร (ขวา) กลุ่มต่อต้านถูกเจ้าหน้าที่สกัดและรวบตัว
2 หนังสือไม่อนุญาตให้กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชุมนุมเดินเท้าไปพบนายกรัฐมนตรี
3 กลุ่มผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้รับความสะดวกในการเข้ายื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่ทหาร ส่งถึงนายกรัฐมนตรี
4 เอกสารสั่งการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เชิญชวนให้สื่อมวลชนไปทำข่าวกลุ่มผู้สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา