สว.จวก รบ.ประกาศ 11 โครงการรุนแรง ละเมิดสิทธิชุมชน เตือนระวังชาวบ้านร่วมต้าน
สว.ชี้ ม.67(2) มุ่งพิทักษ์สิทธิชุมชน แต่ประกาศ 11 โครงการรุนแรง รบ.ไม่ช่วยแต่ซ้ำเติมชาวบ้าน ปปช.ประชาชน ติงไม่ครอบคลุมผลกระทบมรดกโลก นักสิทธิมนุษยชนตั้งคำถามเหมืองโปแตซ 6 จว.อีสานเสี่ยงดินถล่ม-น้ำเค็ม แต่ไม่เข้าข่ายรุนแรง เอ็นจีโอแฉท่าเรือปากบาราหมกเม็ดอีก 5 โครงการแรง
วันที่ 26 พ.ย. 53 ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริตและตรวจสอบภาครัฐ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา จัดเสวนา “11 ประเภทโครงการหรือกิจการรุนแรง ทำลายเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง” โดยนายไพบูลย์ นิติตะวันสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่ามาตรา 67 วรรค 2 กำหนดให้การดำเนินงานโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมิณผลกระทบก่อน แต่หลายโครงการพยายามหลีกเลี่ยง ทั้งนี้โครงการใดจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งรัฐธรรมนูญให้กรอบไว้กว้างมาก ดังนั้นการกำหนด 11 ประเภทโครงการรุนแรงนั้นไม่เพียงพอและยังเป็นการตัดสิทธิชุมชน
“โครงการต่างๆถ้ากระทบประชาชนก็ขัดมาตรา 67 วรรคสองทั้งสิ้น การพยายามเพิ่มข้อกำหนดต่างๆเข้ามาไม่ได้ช่วยให้ชาวบ้านได้รับผลดี ที่สำคัญการต่อสู้จนไปสู่กระบวนการศาล ชาวบ้านมักไม่ได้รับชัยชนะ การต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนเป็นความชอบธรรมและจะกระจายไปเรื่อยๆ จนกลายเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น”
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นักพัฒนารางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตซที่กำลังเป็นปัญหากับชุมชนในขณะนี้ว่าไม่ได้มีเฉพาะใน จ.อุดรธานี เท่านั้น แต่มีโครงการจะพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสานอีกประมาณ 654,145 ไร่ ในชัยภูมิ สกลนคร นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ซึ่งการประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรงส่งผลให้ชาวบ้านหมดหนทางต่อสู้ หากกระบวนการยุติธรรมยึดหลักพิจารณาคดีความตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
“การตัดประเภทโครงการรุนแรงเหลือ 11 ทำให้การทำเหมืองแร่ใต้ดินที่มีเสาค้ำยันไม่เป็นโครงการรุนแรง แต่ถ้าวันหนึ่งแผ่นดินเกิดทรุดตัวจะทำยังไง แล้วยังมีเกลือที่เป็นผลพลอยได้ของเหมืองโปรแตสที่บริษัทขุดขึ้นมากองไว้มหึมา ถ้าฝนตกลงมาหรือโดนความชื้น ไหลลงมาแหล่งน้ำทั้งผิวดินและใต้ดิน จะทำยังไง เพราะทั้ง 6 โครงการที่กำลังดำเนินการตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม บริษัทอ้างว่าจะนำเกลือไปเก็บไว้ในที่ที่ขุดขึ้นมา ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะค่าใช้จ่ายสูงกว่าการขุดขึ้นมาอีก”
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง เล่าประสบการณ์ว่าชาวแม่เมาะได้รับความทุกข์ทรมานจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากการต่อสู้ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในท้องที่ไม่ได้เป็นห่วงชาวบ้านอย่างจริงใจ เพราะไปสนับสนุนกลุ่มนายทุนที่จะมาหาผลประโยชน์ ชาวบ้านจึงใช้กระบวนการยุติธรรมแก้ปัญหาด้วยการฟ้องทุกเรื่อง
“พวกนายทุนชอบทำตัวเป็นศรีธนนชัย ปากพูดอย่างแต่ไปทำอีกอย่าง เพราะสิ่งที่เขาทำไม่ตรงกับที่บอก มีคนถามว่าเป็นโจทย์ไปทั่วไม่กลัวตายเหรอ เราก็ตอบเขาไปว่าจะตายก็ช่างมันขอให้ได้สู้เถอะ”
นายสุรินทร์ สนธิรติ ชาวบ้านปากช่อง กล่าวถึงกรณีโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งชาวบ้านต่อสู้มากว่า 10 ปี ว่าเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์มหาศาลของนายทุนและนักการเมือง ปัจจุบันมีความพยายามเลี่ยงไม่ให้เข้าข่าย 11 ประเภทโครงการรุนแรง และหากโครงการนี้ผ่านได้ ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กระทรวงคมนาคมมีข้ออ้างเพื่อสร้างอีก 5 โครงการหลายแสนล้านบาท
“ปัจจุบันกลุ่มนักการเมืองที่พ้นตำแหน่งไปแล้วแต่ไปชักใยอยู่เบื้องหลัง ต้องตรวจสอบนักการเมืองเหล่านี้ และทำให้เป็นคดีไม่มีอายุความ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีทางไล่ตามทัน”
นายประเทือง ปรัชญพฤทธิ์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบภาคประชาชน(ป.ป.ช.ภาคประชาชน)กล่าวว่า ประกาศ 11 โครงการรุนแรงยังไม่ได้รวมโครงการที่อาจกระทบต่อพื้นที่มรดกโลกที่ขึ้นบัญชีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ อุทยานประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณสถาน โบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
“ถ้าให้โครงการมอเตอร์เวย์ครั้งนี้่ผ่าน โครงการสร้างถนนในอนาคต อาจไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชุมชน และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ”
นายอุดม ศิริภักดี เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่าอยากให้รัฐยกเลิกประกาศ 11 ประเภทโครงการรุนแรงไปใช้ 18 โครงการรุนแรงแทน เพราะขนาด 18 โครงการรุนแรงก็ยังไม่ครอบคลุมผลกระทบชุมชน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และนายทุนจะมีวิธีหลีกเลี่ยงด้วยการทำให้น้อยกว่าที่กฏหมายระบุ
“เช่น การถมทะเลหรือทะเลสาบกำหนดว่าตั้งแต่ 300 ไร่ขึ้นไปจึงเข้าข่ายกิจการประเภทรุนแรง ถ้าเขาถมไป 299 ไร่ก็ไม่เข้าข่าย แต่ถามว่าส่งผลกับธรรมชาติหรือไม่ อย่างน้อยทางน้ำก็เปลี่ยนทิศแน่นอน”
นางสาวอนุสราวดี นฤคศิรมาส ผู้ประสานงานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กล่าวถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ว่าไม่มีความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลกับชาวบ้าน เพราะยังซ่อนอีก 5 โครงการไว้ โดยในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ตั้งแต่ปี 2546 ระบุว่าจะมีทั้งท่าเรือน้ำลึกปากบารา รถไฟรางคู่พาดผ่านระหว่างสตูลกับสงขลา การขยายถนน โครงการวางท่อขนส่งน้ำมันท่อก๊าซระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน คลังน้ำมัน 5,000 ไร่ และการขุดเจาะอุโมงค์เชื่อมเส้นทางหลวงสตูล-เปอร์ลิส(ไทย-มาเลเซีย) ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้โครงการสะพานเศรษฐกิจ สตูล-สงขลา หรือแลนด์บริดจ์ ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หยิบนโยบายเก่าตั้งแต่ พ.ศ.2524-2525 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาปัดฝุ่น และสานต่อด้วยรัฐบาลชุดปัจจุบันของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“ตอนนี้มีการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ว่าเป็นโครงการท่าเรือน้ำลึก แต่ไม่บอกชาวบ้านว่ามีอีก 5 โครงการรุนแรงซ่อน มันไม่ได้ส่งผลดีต่อชาวบ้าน โครงการรถไฟรางคู่เพื่อขนส่งสารเคมีไปสงขลา ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ใช้เพราะไม่มีโบกี๊โดยสาร พอคัดค้านขึ้นมาก็บอกจะทำสถานีในเมืองเพิ่มให้ 1 สถานีแลใส่โบกี๊โดยสารสำหรับคน 1 โบกี้ ซึ่งไม่ใช่ทางออก ใช้เงินมาก และต้องถมกลางทะเล”.