สปสช.แจงทิศทางบริหารกองทุนบัตรทองปี61ปรับจุดอุปสรรค เน้นประชาชนเข้าถึงบริการ
'หมอศักดิ์ชัย' แจงทิศทางบริหาร “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561” เน้นปรับปรุงการบริหารจัดการที่เป็นอุปสรรค เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่าใช้จ่ายเงินกองทุน มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิประโยชน์อย่างครอบคลุมและทั่วถึง พร้อมประเดิมปีแรกจัดงบ 240 ล้านบาท หนุน “คลินิกหมอครอบครัว” จัดบริการเชิงรุกให้กับประชาชน
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561ว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปี 2561 ได้รับจัดสรรจำนวน 171,373.67 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากรผู้มีสิทธิ 48.797 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 5,600 ล้านบาท หรือ 3% แยกเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 156,019.62 ล้านบาท และงบเพิ่มเติมดูแลเฉพาะกลุ่ม จำนวน 15,354.04 ล้านบาท อาทิ บริการผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี บริการไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย บริการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง บริการโรคเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งนี้ภาพรวมการบริหารค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังคงเดิมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา และปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในบางรายการเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการบริหาร ดังกล่าวข้างต้น สำหรับงบเหมาจ่ายรายหัวหลังหักเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐอยู่ที่จำนวน 111,179.08 ล้านบาท
โดยในปีนี้ มีการบริการที่มุ่งเน้น ได้แก่ บริการตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง อายุ 50-70 ปี และกลุ่มเสี่ยง เช่น มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น งบประมาณ 111,306 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ บริการคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซี ใช้งบประมาณ 67.32 ล้านบาท เน้นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีสิทธิประโยชน์ยารักษาไวรัสตับเอกเสบอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการคัดกรองเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยา
นอกจากนี้ในปีนี้ยังได้ยังปรับรูปแบบการจ่ายบริการตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) เพื่อรองรับประชาชนที่เจ็บป่วยวิกฤตและจำเป็นต้องเข้ารับบริการ รพ.เอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบที่อยู่ใกล้ที่สุด จากเดิมเป็นการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups: DRG) เป็นการจ่ายค่าใช้จ่ายตามรายการที่กำหนด Fee schedule โดย รพ.เอกชน ซึ่งในปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณที่ 218.53 ล้านบาท
นพ.ศักดิชัย กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ ในส่วนของงบเพิ่มเติมเพื่อดูแลกลุ่มเฉพาะยังได้จัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ “คลินิกหมอครอบครัว” (Primary Care Cluster: PCC) ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการกำหนดงบประมาณนี้ เนื่องจากเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการระดับปฐมภูมิ จำเป็นต้องมีการจัดสรรงบเพื่อสนับสนุน โดยรูปแบบการบริหารแยกเป็น 2 ส่วน คือ เขต กทม. และนอกเขต กทม. โดยมีการคัดเลือกหน่วยบริการเข้าร่วม PCC ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทีมหมอครอบครัวจัดบริการเชิงรุกเพิ่มขึ้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนหลักเกณฑ์เบิกจ่ายที่ปรับเปลี่ยนไปจากปี 2560 อาทิ การปรับช่วงเวลาข้อมูลการเบิกจ่ายโดยใช้ข้อมูลประชากร ณ เดือนเมษายน 2560 เป็นตัวแทนการจ่ายเพื่อให้สามารถจ่ายเงินไปยังหน่วยบริการได้รวดเร็วขึ้น เพิ่มการเบิกจ่ายตามศักยภาพหน่วยบริการต้นแบบสำหรับบริการการแพทย์แผนไทย การปรับหลักเกณฑ์เบิกจ่ายกรณีผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery : ODS) โดยร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการ กำกับ ติดตาม ประเมินผลและรายงานผล การปรับตามแนวทางประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกคำสั่งโดย คสช.ที่ 37/2559
พร้อมกันนี้ในปี 2561 ยังได้ปรับการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับหน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. ตามแนวทางที่ กระทรวงสาธารณสุขเสนอ กล่าวคือ ให้มีการกันเงิน 300 ล้านบาท สำหรับบริหารจัดการระดับประเทศ/เขต/จังหวัด กันเงินไม่เกิน 700 ล้านบาท เพื่อปรับเกลี่ยตามรายรับของหน่วยบริการ, การปรับเกลี่ยงบให้ความสำคัญหน่วยบริการโดยเฉพาะพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และที่ต้องติดตามสถานะทางการเงินอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้แนวการจ่ายนี้เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องมาจากปี 2560 ซึ่งผลจากการประเมินการจัดสรร พบว่าจำนวนโรงพยาบาลที่มีวิกฤตทางการเงินระดับ 7 ลดลงอย่างชัดเจน เป็นต้น
“นโยบายและแนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2561 นี้ เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แล้ว การบริหารกองทุนต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และบรรลุเป้าหมายในการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545” เลขาธิการ สปสช. กล่าว