ทีวีดิจิทัลที่ประมูลกันมาสูงถึง 5 หมื่นล้าน...รอดหรือร่วง ?
ภาวะที่โลกเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างเต็มตัว อันหมายถึงไม่ใช่แค่ระบบการแพร่ภาพ แต่เทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตก็มีบทบาทสูงมาก เรียกว่า วันนี้ทุกบ้านมีสมาร์ทโฟนเเล้ว แบบนี้ที่คนทีวีต่างเอามือก่ายหน้าผาก ลำพังการแข่งขันใน 24 ช่องที่ประมูลมาได้ก็ว่า ยากแล้ว ยังต้องเผชิญกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของผู้คนอีก แบบนี้ทีวีดิจิทัลที่ประมูลกันมาในราคาสูงถึง 5 หมื่นล้านบาทจะรอดหรือร่วง
วันแรกที่ทีวีดิจิทัลหรือ DTT:Digital Terrestrial Television ในประเทศเริ่มแพร่ภาพอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ช่วงเวลาทดลอง คือ 1 เมษยน 2557 กระทั่งใช้งานจริง ถึงวันนี้เป็นเวลา 4 ปีเเล้วที่ระบบการแพร่ภาพโทรทัศน์ในประเทศไทยเดินทางมาสู่ยุคดิจิทัล แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่า ทุกอย่างจะราบรื่น เพราะผ่านไปเพียงขวบปีแรก “ไทยทีวี โลก้า” ของ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ก็ประสบปัญหาขาดทุนมากกว่า 320 ล้านบาท จนประกาศไม่จ่ายค่าใบอนุญาต กระทั่งนำสู่การฟ้องร้อง ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ในชั้นศาล
"เขมทัตต์ พลเดช" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นวิเคราะห์ในเวทีเสวนานิติมิติ-มิตินิเทศ เรื่อง “ทีวีดิจิทัลไทย : รอดหรือร่วง” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้มองเห็นว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ โดนสิ่งที่เรียกว่า Disruptive Technology คือการพัฒนาของเทคโนโลยีมีส่วนอย่างมากที่กระทบต่อธุรกิจ
เขาย้อนกลับไปช่วงที่มีระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาใหม่ๆ กระทั่งมีทีวีดาวเทียมตอนั้นก็เริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไป กระทั่งอนาล็อกเริ่มเสื่อมคลายความนิยมลง จะสังเกตได้ว่าในช่วงปี 2547-57 รายได้อสมท มาจากผู้ผลิตรายการใหญ่ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนจากผู้ค้า เป็นคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น เวิร์กพ้อย, ทรู, Exact เป็นต้น
รายการของอสมท ตอนนั้นดังทะลุฟ้าหมด เช่น พวกซิทคอม รายการเอเอฟ รายการเดอะสตาร์ แต่พอมีกฎหมายใหม่ ทุกอย่างล่มสลายไปหลายช่องมาก ใน 24 ช่องมีสองช่องที่กำไร ที่เหลือตายหมด สองช่องที่ว่าเพราะต้นทุนเขาเท่าเดิม คือออกจากสถานีแม่ไป จากเดิมมีต้นทุนแบ่งสรรเรื่องเวลา (time sharing) 50/50 พอออกไปขายเอง ขายได้ 100 % แต่สถานีที่เคยให้บริการ ต้องวิ่งหาคอนเทนต์ ซึ่งต้นทุนสูงมาก
ผู้บริหารอสมท. ชี้ชัดว่า 6 ข้อที่จะทำให้ทีวีดิจิทัลเกิดหรือตาย นั่นคือ
(1 ) การร่างกฎหมาย
ประเด็นแรก มีกฎหมายสำคัญมากออกมา2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (ปัจจุบันมีฉบับใหม่ เป็นฉบับที่ 2 ประกาศใช้ 22 มิ.ย. 2560 ) ทั้งหมดร่างโดยไม่มีผู้ประกอบการเข้าไปอยู่เลย ร่างโดยไม่มีการมองถึงอนาคต ร่างโดยเอา 3 รูปแบบไปรวมกัน คือ ทีวีสาธารณะ ทีวีธุรกิจ ทีวีชุมชน ทั้งๆ ที่วิธีคิดต้องแยกกัน ไปรวมกันไม่ได้
ประเด็นที่สอง การร่างกฎหมายดึงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) ซึ่งกำหนดว่า สื่อสารมวลชน ครอบคลุมทั้งหมด ทั้ง telecom กิจการสื่อสารมวลชน ซึ่ง อสมท ได้รับการโอนทั้งหมดตั้งแต่ 2495 เพราะฉะนั้นเเล้ว กิจการสื่อมวลชนจะกระทบว่า แล้วทำไม OTT ตัวเทเลคอมไป บรอดแคสต์ไม่ได้ จริงๆ ทำได้ แต่พอในเมืองไทย บิดออกเป็นสองส่วน ฝั่งหนึ่งเทเลคอม ฝั่งหนึ่งเป็นบรอดแคสต์ เพราะฉะนั้นการออกอากาศจะมีปัญหา
“เรื่องกฎหมาย มีคำถามว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง 2551 กับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มีหลายมาตราที่ดูเเล้วไม่เหมาะและตายตั้งแต่วันแรก อีกส่วนหนึ่งคือ ในเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เขียนไว้ บอกว่า กำกับดูเเล และส่งเสริม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีการส่งเสริม”
(2) เรื่อง Regulator คนที่ติดตามตรวจสอบ คนที่ทำงานแบ่งออก 3-4 ส่วน เดิมมี 1.กรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ตอนนี้ยกเลิกไปแล้ว 2. คณะกรรมการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ยกเลิกไปแล้ว 3. มีกรรมการ กสทช. และอนุกรรมการเฉพาะด้าน 85 คณะ ครึ่งหนึ่งเป็นคุ้มครองผุ้บริโภค และ มีประกาศกสทช. 29 ฉบับ ออกมาหลังจากทำสนธิสัญญาการประมูลเรียบร้อยแล้วเลยเกิดปัญหาขึ้นมา ส่วนสุดท้ายคือสำงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานทำตาปริบๆ ฟังว่า มติกรรมการฯ ถือเป็นที่สุด แค่สองข้อนี้ไม่ต้องถึงคอนเทนต์ ธุรกิจไหนก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ในกฎหมายอันหนึ่งที่เขียนไว้ว่า รายได้ 2%ก่อนหักค่าใช้จ่าย ต้องส่งเข้ารัฐ อีก 2% เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) ถามว่า ในโลกนี้ มีประเทศไทย ที่รัฐขอ 2% ก่อนหักค่าใข้จ่าย
“มันแฟร์ไหม แสดงว่ารัฐถือหุ้นส่วนหนึ่งของทีวีดิจิทัลด้วยหรือเปล่า”
(3) เรื่องเทคโนโลยี ตามแผนแม่บท ITU กิจการสื่อสารมวลชน สามารถทำ Telecom ได้ อสมท เราสามารถนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมได้ แต่ปรากฏว่า กฎหมายในปี 2551 ออกมา กำกับเฉพาะ ทีวี กับวิทยุ และ telecom แล้วกิจการสื่อสารมวลชนหายไปไหน ถ้าเกิดจะทำอะไรก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นบริษัทมหาชน กฎหมายมหาชนสำคัญ
(4) บุคลากร เดิมมี 4 ช่องก็ไหลไป พอมีดาวเทียม และมี 24 ช่อง เริ่มดึงคนจะหาคนที่ไหน เพิ่มเงินเดือน 3-4 เท่าทุกคนเเย่งกัน
(5) เรื่องการเงิน ทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เพราะเดิมในปี 2557 ปิดไปสองสถานี แล้วบอกห้ามเปลี่ยนมือ วันนี้ผู้ประกอบการเรากู้ธนาคารเพิ่มไม่ได้ ดังนั้นต้องหาผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา
(6) คอนเทนต์ เมื่อรวมทั้งหมด 1. สาระ คนไม่ชอบดู เรตติ้งตก 2.ถ้าทำคอนเทนต์แพงๆ ค่าโฆษณาจะไหวหรือไม่ เพราะต้นน้ำปลายน้ำตอนนี้ไม่มีเงิน เรทการ์ดไม่ถึงแล้ว วันนี้โฆษณาลงราคาไม่เกิน 6 หมื่นบาท
ทั้งหมดหลอมรวมกันจะแกะออกไม่ได้ ถ้าจะแก้ต้องแกะข้อ 1 ข้อ 2 ให้ได้ก่อน ถึงจะรอด
ด้าน ประวิทย์ มาลีนนท์ อดีตนายใหญ่และผู้คุมนโยบายของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มองทิศทางทีวีดิจิทัลจะรอดหรือร่วงว่า โดยย้อนกลับไปช่วงที่ได้ใบอนุญาตมา เขาบอกว่า "ตอนนั้นคุณภาพรายการดี เพราะความคมชัด ราคาโฆษณาอย่างน้อยต้อง 3 แสนบาท แต่กลายเป็นสูงไป ลดเหลือ 2 แสนบาท แล้วลดอีกเอาแสนเดียว ปราฏกว่า เข้ามาจริงๆ หมื่นยังไม่ถึง วันนี้เริ่มมีคนขายได้ห้าหมื่นบาท ถ้าเราขายได้เท่านี้ ชั่วโมงหนึ่งเราได้ ห้าแสนบาท แต่ค่าโปรดักชั่น หนึ่งล้านบาท พออยู่ไม่ไหว ก็ลดการผลิต กลายเป็นของถูก ขายถูก ขายนาทีห้าหมื่น ถ้าเราขึ้นราคาทุกปี ปีละ 10% จะใช้เวลากี่ปีจะถึง 3 แสนแบบที่ตั้งไว้ทีแรก หรือต่อให้ทุกปีเพิ่มขึ้นเท่าหนึ่ง จะใช้เวลากี่ปี ดูว่า ถ้าเราทำไปครบ 15 ปี ผลกำไรจะแดงหรือเปล่า ถ้าแดงจะทำไปทำไม"
นอกจากเรื่องราคาโฆษณาแล้ว อดีตผู้บริหารช่อง 3 มองถึงเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผู้ชมเปลี่ยนไป เมื่อก่อนมีช่วงพาร์มไทม์ ซึ่งคือหัวใจของช่อง เราหากินได้อยู่ในช่วงนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่มีแล้ว มีแต่ my time คือดูเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ จะหาเรตติ้งอะไรให้ดิจิทัลทีวี โซเชียลมีเดียใครๆ ทำข่าวได้ ออกอากาศจากที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีสตูดิโอ มือถือเครื่องเดียวทำได้หมด จะโฆษณาอะไรก็ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่มีเงื่อนไข
“พวกเราที่เดือดร้อนวันนี้ ไม่กล้าขออะไรเยอะ เราทำเหมือนขอส่วนบุญ กสทช.พยายามจะช่วย แต่ทำเหมือนโปรยทาน ให้จิ๊บให้จ๋อยช่วยจริงๆ ไม่มี ทำไปให้เพื่อดูว่าช่วยแล้ว แต่ถ้าได้แบบที่ว่า ใครอยากออกจากใบอนุญาตออกได้เลย แบบนี้ช่วยจริง วันนี้พวกเราที่ประกอบการต้องหาทางออกด้วยตัวเอง”
อดีตบอสใหญ่ช่อง 3 ยังเห็นว่า พวกเราทั้งหมดเผาเงินที่จะลงทุนในธุรกิจนี้หมดเเล้วตั้งแต่ 2 ปีแรก เพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีคนดู แต่ออกอากาศแล้ว 24 ชั่วโมง ถามว่าใครดู คำตอบคือไม่มี เราเผาเงิน ถ้าจะทำต่อต้องไปกู้ พอจะไม่ทำต่อก็จะถูกยึดแบงค์การันตีอีก บางรายที่แข็งแรงที่อาจมีปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ก็ใช้วิธีการแบ่งหุ้นออกไป และก็หาผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามา ผู้ลงทุนก็เห็นว่า มีอนาคตก็เข้ามา แต่ว่ามาตรฐานไม่เอื้อกับรายย่อยที่ไม่แข็งแรง เพราะจริงๆ คือ ไม่มีอนาคต แล้วใครจะมาถือหุ้น
ฉะนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะได้ประโยชน์ เขาเห็นว่า รายที่แข็งแรงไม่ต้องกู้เพิ่ม เพียงแปลงหุ้นให้เป็นทุน ส่วนรายที่อ่อนแอต้องกู้เงินเพิ่มภาระดอกเบี้ยให้หนักเข้าไปอีก สำหรับคนที่ลงทุนใหม่ถือว่า โชคดีมีโอกาสเข้ามาเก็บตก ประมาณว่า ได้มาทำทีวีด้วย ค่าเข้าที่ถูกมาก และไม่ต้องตกระกำลำบากในสองปีแรก ในขณะที่ตอนนั้นไม่มีคนดู เพราะผู้ถือใบอนุญาตคนเดิมฝ่ามาให้เเล้ว คำพูดที่เราได้ยินมาถึงวันนี้คือ ประมูลหนเดียวใบอนุญาต 15 ปี จะเปลี่ยนมือไม่ได้ ซึ่งทำร้ายสาหัสมาก
ประวิทย์ ตั้งคำถามในเวที คนที่ไม่ได้สนใจมาประมูลแต่ต้น ควรได้สิทธิทำดิจิทัลทีวีหรือไหม เมื่อเขาไม่ได้สนใจเข้ามา ควรมีสิทธิหรือไม่ คำถามที่สองคนที่เข้ามาประมูลแล้ว พลาดการประมูล เพราะราคาไม่ถึง ควรมีสิทธิที่จะทำหรือไม่ อันนี้เป็นคำถามดักไว้ก่อน คนที่ประมูลได้หนึ่งใบ แต่ไม่ได้ประมูลใบที่สอง ใบที่สาม หรือว่า มาประมูลมากกว่าหนึ่งใบ แต่ได้ใบเดียว พลาดอีกสองใบ ควรได้ทำสถานีที่สอง สามหรือไม่
ทั้งหมดนี้ เขาอยากให้เป็นเรื่องที่ กสทช.ต้องนำมาพิจารณา
ก่อนวิงวอน กสทช.ช่วยเหลือผู้รับใบอนุญาตอื่นๆ เขายืนยัน "นาทีนี้หมดเนื้อหมดตัวเเล้ว บางรายยอมแพ้เเล้ว แต่ไม่กล้าหยุดทำ เพราะกลัวถูกยึดแบงค์การันตี ถ้าจะกัดฟันสู้ต่อไปไม่รู้จะไปกู้ที่ไหน แบงค์ไม่ให้กู้เเล้ว บางรายถึงทำไป ก็รู้ว่าตัวเองไม่ไหวแน่นอน ทำไปมีแต่ขาดทุนมากขึ้น ขอวิงวอนว่า ปล่อยพวกนี้ออกไป เขาอยากออกให้ออกไป เพราะอย่างน้อยจ่ายมา สามสี่งวดแล้ว พอเเเล้ว ได้เกินมากกว่าที่ตั้งไว้เยอะมาก”
สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ประเภทธุรกิจ 24 ช่องนั้น กสทช.ได้จ้างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาประเมินมูลค่าคลื่นความเบื้องต้นโดยตีราคาเริ่มต้นประมูลในแต่ละใบอนุญาตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 100-2,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ถึงวันประมูลจริงราคาพุ่งสูงไปจบที่ 5 หมื่นกว่าล้านบาท
ประเด็นนี้ ประวิทย์ บอกว่า "ในตอนแรกเขามาถามว่าจะประมูลไหม ผมบอกไม่ประมูล จะรอให้สัมปทานเดิมจบก่อน เขาบอกว่าไม่ได้ต้องประมูลอย่างนี้ วิธีการนี้ เพื่อนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ตอนแรกก็ไมอยากประมูลเหมือนกัน ระหว่างทางจะไปเก็บตก คำตอบที่ได้มา คือห้ามเปลี่ยนมือ มานาทีนี้ เราเดือดร้อนขอความช่วยเหลือ คนมาบอกว่า ทำไมไม่ศึกษามาให้ดีก่อนที่จะเข้ามา ผมตอบไปว่า ศึกษามาแบบเดียวกับ กสทช. ลักษณะเดียวกับนักวิชาการที่สนใจเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นอย่ามาโทษเราคนเดียว ผิดทุกคน คาดเดาผิดหมด"
“เมื่อก่อน บอกว่า รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา วันนี้สำหรับพวกเรา ที่รับใบอนุญาตรู้อะไรก็ไม่เท่า รู้งี้ รู้งี้พวกเราไม่ประมูลแบบไม่ลืมหูลืมตา ประมูลมาแพงๆ เพียงเพราะคำพูดที่ว่า ประมูลครั้งเดียว 15 ปีเปลี่ยนมือไม่ได้ แล้ววันนี้ อะไรเกิดขึ้น เราหาคำตอบได้ง่ายนิดเดียว ใครอยากอยู่บ้าง ผมร่วงไปเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือมาศึกษาอีกที” อดีตบอสใหญ่ช่อง 3 ระบายให้เห็นถึงปัญหาที่ถาโถม
ด้านดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มองอีกมุม โดยตั้งคำถาม ดิจิทัลดีกับไทยไหม ดีแน่นอน เพราะได้ทั้งการเกิดขึ้นหลายช่องตามเราต้องการ ช่องเด็ก ข่าว บันเทิง วาไรตี้ เป็นต้น มีภาพคมชัดดี มีเทคโนโลยี ใส่ซับไตเติ้ล ใส่สารพัดเข้าไปหมด คนจะได้ประโยชน์มากมาย เพราะฉะนั้นต้องมี ต้องเริ่ม คำถามจะเริ่มยังไง
เริ่มจากการ การออกอากาศต้องทำอย่างไร ต้องผ่าน MUX (มัค) โครงข่ายที่เอาสัญญาณ ที่สถานียิงเข้ามา แล้วผ่านออกไป เป็นสัญญาณไปยังบ้านของผู้รับ สัญญาณอันนี้ส่งไปภาคพื้นดิน วันนี้ทีวีภาคดาวเทียมรอดอยู่เเล้ว เพราะไม่ได้จ่ายตังค์ให้ใคร แต่ดิจิทัลภาคพื้นดินที่จ่ายไป 5 หมื่นล้านบาท คือสิ่งที่เรากำลังพูดถึง ตัว MUX คือสิ่งที่เราต้องออกอากาศภาคพื้นดิน ความฝันคือว่า กสทช. ต้องมี MUX ให้เพียงพอ เริ่มต้นจากการให้แน่ใจว่า มี MUX เกิดขึ้นก่อนจะมีสถานีโทรทัศน์
เมื่อมี MUXแล้ว เอาสถานีและคอนเทนต์ไปจับ เพราะว่า สถานีและคอนเทนต์ถึงจะออกอากาศได้ ไม่ใช่มีพวกนี้เเล้วยังไม่มีMUX แบบนี้จะออกอากาศยังไง ใครจะดู ไม่มีใครดู คุณเสียตังค์ 5 หมื่นล้านบาทมาเเล้วไม่มีคนดู แล้วจะจ่ายทำไม ต้องเริ่มจาก MUX แล้วมาที่ เซ็ตท็อปบ็อกซ์ (กล่องรับสัญญาณ) ต้องมีพร้อมเสียก่อน จึงให้ออกอากาศได้ แต่บ้านเรามีสถานีโทรทัศน์ก่อน วันนี้MUXก็ยังไม่เสร็จ อย่าว่า 5หมื่นล้านบาท 1.8หมื่นล้านบาท ก็เจ็งอยู่ดี เพราะกระบวนการเตรียมความพร้อมผิดด้านตั้งแต่ต้น
“ผมไม่ได้โต้เถียงหรือการประมูล แต่ก่อนทำตรงนั้นต้องสร้างความพร้อมก่อน ต้องทำความเข้าใจกับคนดูทีวีทั้งประเทศก่อนว่า คืออะไร เวลานี้คนเข้าใจคือ มี 24 ช่องและ 2 ช่องเจ๊งไปแล้ว ไม่ใช่เลย ทีวีดิจิทัล DTT การออกอากาศภาคพื้นดินแปลว่า การใช้นำมาให้เกิดประโยชน์สุงสุด โทรทัศน์วันนี้ ท่านใช้กี่ปุ่ม แล้วที่เหลือทำอะไร มันคือ การใช้ประโยชน์จากโทรทัศน์ที่ออกอากาศในระบบดิจิทัล”
ดร.สรจักร ยืนยัน กสทช. ต้องช่วยเรื่องความต้องการของประชาชน ที่จะบริโภคระบบดิจิทัล ต้องกระตุ้น โดยเฉพาะดิจิทัลของอังกฤษส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบดิจิทัล ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจระบบดิจิทัล การเปลี่ยนถ่ายให้คนมีกล่อง มีระบบดิจิทัล ไปช่วยที่บ้าน ลุงป้าตั้งกล่องไม่ได้ ไปช่วยดูให้ มีหน่วยงานไปช่วย ไม่ใช่ปล่อยตามมีตามเกิด สิ่งเหล่านี้ผิดมาหมดเลย
“คนไทยจะรอดจะร่วง ถ้าคนไทยยังเข้าใจว่า ทีวีดิจิทัลเป็นเรื่องของคนรวย นักธุรกิจ เรากำลังพูดเรื่องการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อคนทั้งประเทศ เราไม่ได้พูดเรื่องการช่วยช่อง 3 หรือช่องอื่น เราต้องตระหนักก่อนว่า ระบบดิจิทัลมีประโยชน์อย่างไร ถ้าไม่มีระบบนี้ไทยแลนด์ 4.0 จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เจ๊งหมด ต้องคิดเป็นองค์รวม ทั้งโลกไม่ได้เลิกดูทีวี ในอังกฤษคนเลิกดูทีวีแค่ 25% จากอดีตไม่เกิน 30% ส่วนอีก70% ยังกลับบ้านมาดูทีวี แต่ไม่ดูแบบเดิมแล้ว เป็นทีวีที่หน้าจอ สลับไปสลับมาพร้อมๆ บนหน้าจอ” ดร.สรจักร ระบุ
ด้าน รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม อ.พิเศษคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ชวนเราย้อนกลับมาดูที่ปัญหาของทีวีดิจิทัลในวันนี้ แยกให้เห็นว่า มีสองส่วนใหญ่ๆ ปัญหาแรกคือ over supply คือมีมากเกินไป เป็นผลพวงมาจากการปฏิรูปสื่อ ซึ่งในกระบวนการปฏิรูปสื่อเราไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก เรายิ่งปฏิรูป ยิ่งไม่ค่อยดี สุดท้ายปัญหาที่เราจะแก้ โดยเอาสื่อออกจากมือรัฐ หรือให้เอกชนเข้าถึงได้มากขึ้น ทำไปทำมาเทคโนโลยีแก้ให้เราเอง โดยกระบวนการปฏิรูปสื่อไม่ต้องแก้อะไรเลย
“ถ้าผมเป็นคนปฏิรูปสื่อ ผมไม่ภูมิใจในเรื่องนี้ แต่คิดว่า เราจะมีสื่อที่มีคุณภาพหลังจากที่พูดมาสิบกว่าปี ณ วันนี้ เรายังไม่มีคุณภาพ กระบวนการเดียวกันนี้ คือกระบวนการที่เราไม่เอาการขออนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์เพื่อจะพิมพ์หนังสือ เราใช้การจดแจ้งแล้วพิมพ์ได้ ตรงนี้สำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นกับวิทยุโทรทัศน์ คล้ายๆ กัน เมื่อก่อนนี้ต้องขออนุญาต ขอคลื่นความถี่จากกรมไปรษณีย์โทรเลขแล้วไปขอใบอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ สองกรมก่อนจะทำได้"
รศ.ดร.พนา ชี้ว่ากระบวนการปฏิรูปสื่อต้องการปล่อยเสรี ลองนึกดูครั้งหนึ่งแท็กซี่ไม่เปิดเสรี แต่วันที่เปิดเสรี คนจดทะเบียนเต็มเลย ครั้งหนึ่งการขอจดหัวหนังสือพิมพ์ยากมากซื้อทีหัวละล้านถึงสิบล้านบาท แต่เพอเปิดเสรีคนก็มาจดเยอะแยะราคาที่แพงก็ลดลง ที่สุดแล้วตลาดก็เต็ม
“ธรรมชาติตลาดเมื่อไหร่ที่ไปปิดกั้น พอเปิดใหม่จะมีคนเข้ามาเยอะ ดิจิทัลทีวีก็ไม่แตกต่างกัน ถ้าเราอยากให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เดิมระบบสัมปทาน มีเจ้าสัมปทานดูเเล และมีกรมประชาสัมพันธ์ดูแล เราต้องการแก้ตรงนั้น เราต้องการให้เอกชนเข้ามาต้องการให้มีการแข่งขันมากขึ้น เสร็จเเล้ว พวกเราที่ปฏิรูปสื่อนี้แหละที่บอกว่ามีแต่ละครน้ำเน่า เราต้องการช่องข่าว เราก็เปิดช่องข่าวขึ้นมา เราบอกว่า ช่องเด็กไม่พอ เราก็เปิดช่องขึ้นมา สิ่งที่เหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการสร้างสรรค์ แต่เกิดจากการเรียกร้องของเรา”
รศ.ดร.พนา เสนอแนะว่า สิ่งที่เราคิดว่าสังคมต้องการเป็นเรื่องยากมาก ไม่มีใครรู้ แต่เมื่อทำออกมาแล้ว ตลาดเป็นตัวกำหนด เราจะมารู้ตอนนั้น แต่ถึงตอนนั้นจะเกิดความสูญเสีย นึกย้อนไปตอนที่มีการประมูลคลื่น ถ้าเปิดช่องน้อยๆ กสทช.จะได้รับการชื่นชม จริงๆ ตอนนั้นมีคุยกันว่า จะอยู่ได้ไง ช่องข่าวเจ็ดช่อง ถ้าทุกคนรายงานข่าวก็จะเหมือนกันหมดจะหลากหลายแค่ไหน ช่องเด็กลำบาก ในเวลาที่เด็กดูทีวี ช่องวาไรตี้สามารถทำอย่างอื่นตอนเด็กไม่ดูได้ แต่ช่องเด็กทำได้แต่รายการเด็ก เด็กไม่ได้ดูตลอด
“แม่หมูเมื่อก่อนเลี้ยงลูกได้ 6-7 ตัว ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส วันนี้เหมือนมีลูกหมู 24 ตัว แม่หมูเลี้ยงไม่รอดก็ต้องมีตายบ้าง”
เมื่อเปลี่ยนจากระบบสัมปทาน เป็นระบบอนุญาต ซึ่งถ้าเกิดเป็นสินค้าทั่วไป ใครก็ตามที่มาขออนุญาตมีคุณสมบัติ ย่อมได้ตามนั้น ปรากฎว่า คุณสมบัติตรงนั้น สำหรับวิทยุโทรทัศน์ ต้องใช้คลื่น การใช้คลื่นตรงนี้จำกัด กฎหมายบังคับว่าต้องประมูล ทุกสล็อตที่เปิดประมูลมีคนไม่ได้ มีดีมานต์ที่ไม่ได้รับการตอบสนองอยู่
รศ.ดร.พนา ระบุถึง ปัญหาที่สอง คือ เรื่องการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คนในวงการรู้แต่ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ แล้ววันนี้ทีวีปกติต้องมาแข่งกับพวก OTT ถ้าจะตำหนิ กสทช. คือปล่อยให้ OTT เข้ามาแย่งชิงตลาดของฟรีทีวี เพราะ OTT ไม่ต้องเสียค่ากำกับ แล้วไม่ต้องจ่ายเงินกองทุน ที่แย่กว่านั้นคือมี OTT ที่เป็นสีเทาซื้อกล่องมาสามสี่พันบาท จ่ายรายเดือน สองร้อยแล้วได้ดูหนังเต็มเลย และสามารถดูช่องอื่นได้โดยไม่ต้องสมัครสมชิกอะไรใดๆ นี้เป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องไปทำ
“ถ้าพูดปัญหาตลาด อันแรก ต้องรู้ว่า ทีวีในอนาคตคืออะไร อยากจะเรียนว่า ทีวีในอนาคตจะไม่ใช่การแพร่ภาพแบบที่เราเห็นอยู่ เพราะมันจะไปทางอินเทอร์เน็ตทั้งหมด และจอจะอยู่ในทุกที่ ทุกอย่างที่สามารถติดจอเข้าไปได้ ลองนึกถึงรถยนต์เมื่อก่อนไม่มีจอ เดี๋ยวนี้มีจอหมดเเล้ว นั่นแหละ เราสามารถดูอะไรได้เยอะ”
ส่วนคีย์ในการอยู่รอด รศ.ดร.พนา บอกว่า คอนเทนต์ หรือเนื้อหา สำคัญ วันนี้ทีวีกระจายไปหมดเเล้ว เมื่อก่อนทำทีวีเหมือนตกปลาในบ่อ ตอนนี้ไม่ใช่ มันคือการตกปลาในทะเล ปลากระจายตัวกันอยู่ เพราะฉะนั้นเป้าหมายโฆษณาเข้าไป ก็เข้าไม่ถึง ตรงนี้ เราเข้าใจความต้องการ คีย์ในการอยู่รอดตรงนี้
ฉะนั้น รอดหรือไม่รอดอยู่ที่คอนเทนต์ "คุณต้องทำคอนเทนต์ให้เข้ากับช่องทางใหม่ ความต้องการของคนสมัยใหม่" นักวิชาการ ให้มุมคิด และเห็นว่า “วันนี้ทีวีไม่ได้เป็นรูปแบบเดิมแล้ว เพราะอยากดูเมื่อไหร่ก็ได้ อยากดูที่ไหนก็ได้ เลือกได้ด้วยซ้ำ รูปแบบการบริโภคของคนรุ่นใหม่เปลี่ยน ที่เชื่อว่า รอด เพราะความต้องการคนไม่ได้เปลี่ยน แต่รูปแบบมันแตกต่างกัน เราต้องปรับ รีแพ็คแก็จ และส่งต่อในแบบที่คนต้องการ ทำแบบนั้นถึงจะอยู่รอด”