นักวิจัย หนุนยกเลิกลดหย่อนภาษี LTF ยันทำให้รัฐประหยัดรายจ่ายได้เกือบ 9 พันล้าน
นักวิจัยแนะ ‘ช้อปช่วยชาติ’ ไม่ใช่มาตรการอุ้มรัฐ ยกเลิกยื่นลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน LTF ช่วยรัฐประหยัด 9 พันล้านบาท ย้ำชัดการให้สิทธิหักลดหย่อนภาษี สร้างต้นทุนซ่อนเร้นให้แก่ภาคการคลังของประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัด Policy Forum ประเด็น “แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : ผลงานจากโครงการวิจัย” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกว. และได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลจากกรมสรรพากร ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เวทีดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจและเป็นแนวทางในการ “ปฏิรูปภาษี” ที่สำคัญของไทย โดย ศาสตราจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” (Personal Income Tax หรือ PIT) ไว้ว่า PIT ถือเป็นภาษีที่มีคุณูปการต่อการเงินของรัฐบาล คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 10 ของรายได้รวมของรัฐ PIT ของไทยมีศักยภาพ ที่เพิ่มได้อีกมาก เป็นเป็นภาษีที่ส่งเสริมความยุติธรรม เพราะเป็นภาษีที่ก้าวหน้าเล็กน้อยในกรณีรายได้ จากการทำงาน จะเป็นช่องทางให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เป็นธรรมมากขึ้นในอนาคตได้โดยค่อยๆเพิ่มจำนวนผู้ชำระภาษีในแต่ละขั้นเงินได้ในอัตราก้าวหน้า ซึ่งภาษีนี้แสดงฉันทามติของประชาชนกลุ่มต่างๆที่จะมีส่วนร่วมในการเงินของประเทศแบบมีน้อยจ่ายน้อยมีมากจ่ายมาก
"ที่ผ่านมากรมสรรพากรประสบความสำเร็จสูงในการบริหารการเก็บภาษีจากเงินได้ประเภทเงินเดือนประจำ จำนวนลูกจ้างที่กรอกแบบ ภ.ง.ด.ที่ชำระภาษี เท่ากับจำนวนผู้มีเงินเดือนที่มีรายได้ ถึงเกณฑ์ที่จะต้องกรอกแบบ ภงด.ในสถิติจากการสำรวจแรงงานทั้งประเทศแล้ว ทั้งนี้การขยายฐานภาษี ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นไปได้ยาก เว้นแต่จะมีการจ้างงานเพิ่มในกลุ่มผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น การเก็บภาษีจากการลงทุนและทรัพย์สินนั้น ยังเก็บได้น้อยกว่าที่ควร มูลค่าของรายได้จากทรัพย์สินที่รายงานใน PIT ที่ 420,000 ล้านบาท น้อยกว่ารายได้จากทรัพย์สินภาคครัวเรือน ในประมาณการของบัญชีรายได้ประชาชาติที่ 730,000 ล้านบาท การเก็บภาษีจากรายได้ประเภทอื่น เช่น รายได้จากธุรกิจทรัพย์สิน มีรูปแบบที่หลากหลาย ทำให้ลดทอนหลักการความเป็นธรรมและรายรับภาษีที่จัดเก็บได้ ต่ำกว่าที่ควร"
ศาสตราจารย์ผาสุก กล่าวถึงการบรรเทาภาระภาษีในรูปการลดหย่อน การยกเว้นต่างๆ เปรียบเสมือนการสร้างรายจ่าย ผ่านมาตรการภาษี (Tax Expenditure) ที่มีขนาดใหญ่ ช่วยลดรายรับภาษีที่จัดเก็บได้ ทั้งนี้สาเหตุที่จัดเก็บภาษีที่ PIT ต่ำกว่าที่วางไว้ ไทยควรมองจากกรอบเล็กของผู้เสียภาษีในระบบปัจจุบันในประเด็นดังนี้
1.เก็บจากเงินเดือนได้ดีแล้ว แต่รายได้จากทรัพย์สินและธุรกิจยังเก็บได้ต่ำกว่าที่ควร
2.การเก็บภาษีรายได้ทรัพย์สินและธุรกิจแต่ละประเภท มีหลายรูปแบบ หลายอัตรา ไม่เป็นธรรมและส่งผลลดรายรับภาษี
3.การบรรเทาภาระภาษีในรูป การลดหย่อน การยกเว้นต่างๆเปรียบเสมือนเป็นการสร้างรายจ่ายผ่านมาตราการภาษี ที่มีขนาดใหญ่ ส่งผลร้ายให้กับภาษีลดต่ำลงไป
4.ในภาพใหญ่ของประเทศผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยกว่า 10 % ของประชากรวัยทำงาน
ทั้งนี้มี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือจุดอ่อนอันเกิดจากกฎหมายและระเบียบ เช่น การยกเว้นรายได้สำคัญบางประเภท รวมทั้งรายได้จากต่างประเทศ การเก็บภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราต่ำและการหักใช้จ่ายแบบเหมา คือ การหลีกเลี่ยงภาษีโดยการรายงานรายได้ต่ำกว่าจริงหรือไม่ครบถ้วน หรือการที่ผู้มีรายได้น้อยไม่กรอกแบบภาษีเลย คือ เป็นผู้ที่หลุดออกจากระบบโดยสิ้นเชิง อาจมีทั้งผู้มีฐานะดีและสมาชิกครอบครัวที่ได้รับรายได้จากการขายสินทรัพย์หรือค่าเช่าโดยปัจเจกบุคคล หรือ รายได้ที่ได้รับผ่านนอมินี และยังมีกลุ่มรายได้ระดับกลางๆที่ทำงานส่วนตัวและไม่กรอกแบบภาษีด้วย
ด้าน ผศ.ดวงมณี เลาวกุล นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลประเด็นที่คณะนักวิจัยทีมดังกล่าวที่เห็นควรให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เนื่องมาจากมาตรการลดหย่อน LTF มุ่งเน้นเป้าหมายในการส่งเสริมตลาดทุน มากกว่าการสร้างความเป็นธรรม ดังนั้นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงจึงได้รับประโยชน์จากมาตรการมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ข้อเสนอยกเลิกการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อ LTF นอกจากจะทำให้ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเป็นธรรมมากขึ้นแล้ว ยังไม่ส่งผลกระทบตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
"หากมีการยกเลิกการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน LTF จะทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่าย ได้เกือบ 9,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลสามารถนำรายได้จำนวนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ด้อยโอกาสและยากจนได้อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาถึงรายจ่ายผ่านมาตรการภาษี รวมทั้งวิเคราะห์ผลของมาตรการทางภาษีต่อผู้เสียภาษีในแต่ละขั้นเงินได้เพิ่มเติม"
ผศ.ดวงมณี กล่าวอีกว่า ประเด็นการลดหย่อนภาษี การซื้อกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF แม้ว่ากลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มรายได้สูงมากกว่ารายได้น้อย แต่นับได้ว่าเป็นการออมในระยะยาว เพื่อการสร้างโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมในอนาคต ประกอบกับหากยกเลิกการลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้ รัฐบาลประหยัดรายจ่ายภาษีได้เพียง ประมาณ 4,000 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลยังคงสามารถคงมาตรการลดหย่อนนี้ไว้ได้
สำหรับการลดหย่อยภาษีบริจาค ผศ.ดวงมณี กล่าวว่า มูลค่าเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาและการบริจาคทั่วไปมากกว่ารายจ่ายภาษีที่รัฐสูญเสียไปจากการลดหย่อนการบริจาค ดังนั้นการให้หักลดหย่อนการบริจาคยังคงเป็นประโยชน์ต่อสังคม ในแง่ที่เงินบริจาคเหล่านี้ถูกส่งไปยังหน่วยที่ต้องการงบประมาณได้โดยตรง อย่างไรก็ดีควรมีมาตรการตวรจสอบว่าการบริจาคดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริง เพื่อมิให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น เพราจะทำให้ไม่เกิดประโยช์ที่แท้จริงกับสังคม
สำหรับมาตรการระยะปานกลาง ยังมีผู้มีเงินได้ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นจึงควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้น
"เงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่หลากหลายสำหรับเงินได้แต่ละประเภท ควรมีการทำการศึกษาในเชิงลึกว่า อัตรการหักค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและมีมาตรฐานของเงินได้แต่ละที่ประเภทควรจะเป็นเท่าใด และมุ่งไปสู่แนวทางการหักค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งสนับสนุนให้กำหนดรายการที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนว่า รายการได้บ้างที่สมควรเป็นรายการที่สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจกรรมนั้นๆได้"
ส่วนดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็น การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่นับเป็นรายจ่ายซ่อนเร้นของรัฐว่า โดยปกติเมื่อรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่าง ทางเลือกที่เราคุ้นเคย คือการจัดสรรงบประมาณลงไปในรูปของการใช้จ่าย หรือการให้เงินอุดหนุนต่างๆ แต่อีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลนิยมใช้ แต่เรามักไม่ได้ตั้งคำถามมากนัก คือการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านระบบภาษีตัวอย่างของการให้สิทธิประโยชน์ในกรณีของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น การอนุญาตให้นำเงินลงทุนใน LTF และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ค่าซื้อสินค้าและบริการในช่วงเวลาที่กำหนด มาหักลดหย่อนภาษีได้ การหักลดหย่อนเหล่านี้ส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้ลดลง
"แน่นอนว่าการให้สิทธิหักลดหย่อนแต่ละอย่างมีเหตุผลรองรับ เช่น มาตรการ LTF ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน และส่งเสริมธุรกิจกองทุนฯ หรือมาตรการที่ให้นำค่าที่พักในโรงแรมมาหักลดหย่อนภาษีก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่จุดอ่อนที่สำคัญของมาตรการเหล่านี้คือ การสร้างต้นทุนซ่อนเร้นให้แก่ภาคการคลังของประเทศ สาธารณชนแทบไม่ทราบว่า ต้นทุนของการหักลดหย่อนเหล่านี้มีมากน้อยขนาดไหน และใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ทั้งที่ข้อมูลด้านต้นทุนเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการประเมินความเหมาะสมของมาตรการต่างๆ"