เวทีสมัชชาสุขภาพอุดรฯ เตือนระวังเหมืองโปแตชซ้ำรอยมาบตาพุด
เวทีสมัชชาสุขภาพอุดรฯ ชูประเด็นเด่นเหมืองแร่โปแตซ หอการค้าเตือนระวังเดินตามรอยมลพิษมาบตาพุด รัฐทำได้แค่เยียวยา สช.เตรียมผลักประเมินผลกระทบ ให้ชุมชนมีข้อมูลตัดสินใจ ชาวบ้านยอมรับค้านยาก แต่ยังดีที่ได้รู้
เมื่อเร็วๆนี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี จัดเวทีสาธารณะ“ ทิศทางการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี กรณีเหมืองแร่โปแตซ” โดยมี ข้าราชการ ผู้แทนเอกชน นักศึกษา ประชาชนชาวอุดรธานีกว่า 200 คนเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการกรณีเกลือและโปแตชภาคอีสานเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน
นายรังษี จุ้ยมณี กรรมการหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า 30 ปีที่แล้วมีการขุดเจาะพบก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นบอกว่าประเทศไทยจะโชติช่วงชัชวาล ต่อมาจึงเกิดโรงแยกก๊าซและนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นที่มาบตาพุด พร้อมบอกว่าชาวระยองจะสบาย เจริญ และได้ประโยชน์ ในช่วงนั้นเกิดการเข้ามาลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ตัวเลขรายได้มวลรวมประชาชาติหรือ GDP เติบโตอย่างมาก แต่พอมาวันนี้กลับพบว่าที่มาบตาพุดเกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ และสังคม ตามมา จนยากแก่การแก้ไข ดังนั้นชุมชนในพื้นที่ควรเอาสุขภาพเป็นที่ตั้ง โดยใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ
“กรณีเหมืองแร่โปแตซเกี่ยวข้องกับมาบตาพุดร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเหมืองแร่โปแตซที่อุดรฯ เกิดได้ ที่มาบตาพุดก็งานเข้าด้วย เพราะโปแตซต้องขนไปที่ท่าเรือมาบตาพุด เรากำลังเดินเข้าสู่วัฏจักรเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งถ้าเหมืองเกิดขึ้น หางเกลือที่มันเป็นมลภาวะ ปัญหาทางสุขภาพความเจ็บป่วยก็จะตามมา ในชุมชนเกิดความแยกแตก ประชาชนมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ส่วนภาครัฐก็ทำได้แค่เยียวยา เช่น หาน้ำประปา หรือเพิ่มเตียงรักษาคนไข้ตามโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับคนระยอง” นายรังสี กล่าว
นายจักรพันธุ์ สาพุด ชาวบ้านอุดรธานี กล่าวว่า กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี คงคัดค้านยาก เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล แต่อย่างน้อยการจัดเวทีสมัชชาครั้งนี้ก็ทำให้ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันของคนอุดรธานี
น.ส.สมพร เพ็งค่ำ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าเป้าหมายการพัฒนาจะต้องดูเรื่องความอยู่ดีเป็นสุข เรื่องสุขภาวะด้วย เอาสุขภาพเป็นตัวตั้งว่าควรพัฒนาไปแบบไหน ไม่ใช่คิดว่าการพัฒนาจะได้เท่าใด ส่วนกรณีเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี มีการจัดเวทีพูดคุยและศึกษาข้อมูลกันมาเยอะตั้งแต่ปี 2543-2544 มีทั้งนักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม นักกฎหมาย และคณะทำงานสมัชชาสุขก็กำลังจะสนับสนุนให้มีการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การประเมินยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า SEA เพื่อให้คนอุดรธานีรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเอาข้อมูลมาประเมินว่าควรจะเดินไปในทิศทางใดในกรณีของเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี.