#ถึงเวลาเผือก เมือง (ไม่) ปลอดภัย พบ 50% มีเหตุคุกคามทางเพศเกิดขึ้นบนรถเมล์
ตัวอย่างการจัดการปัญหาคุกคามทางเพศในต่างประเทศ ที่ญี่ปุ่นจัดขบวนรถไฟฟ้าสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ อังกฤษมีสายด่วนเพื่อรับเรื่องร้องเรียนการคุกคามและพร้อมกับให้ตำรวจลงพื้นที่ทันทีเมื่อมีการแจ้งเหตุ ในอีกหลายประเทศจัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับการแจ้งเหตุการณ์ถูกคุกคามหรือลวนลามทางเพศด้วย
ถึงเวลาเผือก เดินทางปลอดภัย ไร้การคุกคามทางเพศ เป็นกิจกรรมรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง Safe Cities for Women จัดโดยองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เนื่องในวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากลปี 2560 ที่จัดขึ้น ณ ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อเร็วๆ นี้
ความน่าสนใจภายในงานได้มีการเปิดเผยผลการวิจัยสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2560 โดยนักวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำการสำรวจผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด 1,654 คน ทั้งหญิง ชาย และเพศอื่น ๆ ในคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์ทั้งที่ตนเองเคยถูกคุกคาม และการเห็นผู้โดยสารอื่นถูกคุกคามทางเพศ
ผลการสำรวจ พบว่า 35% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุ เคยถูกคุกคามทางเพศขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยผู้หญิงตกเป็นเป้าของการคุกคามทางเพศมากที่สุดถึง 45%
ส่วนประเภทของขนส่งสาธารณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจพบเจอการคุกคามทางเพศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 รถเมล์ พบการคุกคามทางเพศ คิดเป็น 50% ของจำนวนเหตุการณ์คุกคามที่พบเจอทั้งหมด
อันดับ 2 มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 11.4%
อันดับ 3 รถแท็กซี่ 10.9%
อันดับ 4 รถตู้ 9.8%
อันดับ 5 รถไฟฟ้า BTS 9.6%
การสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวครั้งแรกในไทย เป็นที่น่าตกใจว่า บนรถเมล์ที่มีผู้คนมากมายและเป็นรถขนส่งสารธารณะที่ผู้คนใช้บริการมากที่สุดนั้นเกิดการคุกคามทางเพศมากที่สุด
ด้านนางยงค์ ฉิมพลี ตัวแทนจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ก็ยอมรับถึงการคุกคามทางเพศบนรถโดยสาร ขสมก. ในปัจจุบันยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะ เธอพบว่า การคุกคามทางเพศบนรถโดยสารนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยตัวเอง การจับของสงวน การยืนเบียดเพื่อสัมผัสอวัยวะ ที่สำคัญเกิดขึ้นมากสุดในชั่วโมงเร่งด่วน ที่มีผู้หนาแน่นและเร่งรีบ อาทิ เวลาก่อนเข้างานและหลังเลิกงาน
เมื่อมาดูลักษณะพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะพบเจอมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 ลวนลามด้วยสายตา เช่น มองช้อนใต้กระโปรง มองหน้าอก คิดเป็น 18.8%ของจำนวนเหตุการณ์คุกคามที่พบเจอทั้งหมด
อันดับ 2 ตั้งใจเบียดชิด แต๊ะอั๋ง ลูบคลำ 15.4%
อันดับ 3 ผิวปากแซว 13.9%
อันดับ 4 พูดจาแทะโลม เกี้ยวพาราสี 13.1%
อันดับ 5 พูดลามก ชวนคุยเรื่องเพศ 11.7%
นอกจากนี้ ยังพบการคุกคามรูปแบบอื่นที่ถือว่าร้ายแรง เช่น ใช้อวัยวะเพศถูไถ โชว์อวัยวะเพศ หรือสำเร็จความใคร่ให้เห็น 4.6% เปิดภาพลามกหรือคลิปโป๊ให้เห็น 3% ตามตื้อ หรือสะกดรอยตาม 2.9%
และที่มาของแคมเปญ “ถึงเวลาเผือก” ที่เรียกร้องให้ประชาชนไม่ให้นิ่งเฉยเมื่อเห็นการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นต่อหน้า ก็เกิดขึ้นมากจากผลสำรวจครั้งนี้เมื่อไปสอบถามผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ พบมีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะถึง 35% หรือ 1 ใน 3 ที่ระบุว่า ตนเองเคยเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดกับผู้โดยสารอื่นร่วมเส้นทาง แต่วิธีการรับมือหรือตอบโต้เมื่อถูกคุกคามทางเพศ มีผู้ที่เคยถูกคุกคามกลับใช้วิธีการนิ่งเฉย หลีกเลี่ยง หรือเดินหนี คิดเป็นความถี่ 25%
มีเพียง 28 % เท่านั้นที่มีการแจ้งพนักงานประจำรถ
ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ระบุว่า เหตุการณ์การลวนลามหรือคุกคามทางเพศเป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจำนวนมากพบเจอซ้ำ ๆ ทั้งที่ถูกคุกคามเอง หรือเห็นผู้โดยสารคนอื่นถูกคุกคาม แต่เหตุการณ์เหล่านี้มักไม่เป็นข่าวในสื่อ อีกทั้งตัวผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่มักระบุตรงกันว่า ขณะเกิดเหตุตนเองรู้สึกช็อก ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ดังนั้น การมีคนรอบข้างเข้าไปช่วย “เผือก” หรือช่วยเหลือ จึงจะช่วยให้ผู้ประสบเหตุหลุดพ้นจากสถานการณ์การถูกคุกคามได้
สำหรับวิธีการเผือกที่คนรอบข้างสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำทีเข้าไปชวนผู้ที่ถูกคุกคามพูดคุย หรือชวนให้ขยับหาที่นั่งหรือที่ยืนในจุดอื่น และการพูดเสียงดังบอกให้ผู้คุกคามหยุดการกระทำ เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าไป “เผือก”ก็ต้องประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของตนเองด้วย หากประเมินว่าเข้าไปคนเดียวอาจไม่ปลอดภัย ก็อาจกระซิบบอกผู้โดยสารอื่นให้รับรู้เหตุการณ์และชวนกันเข้าไปแทรกแซง หรือช่วยกันส่งเสียงดัง หรือแจ้งพนักงานประจำรถ การไม่นิ่งเฉยของพวกเราจะช่วยสร้างความปลอดภัยในการเดินทางในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้
มีตัวอย่างการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศในต่างประเทศ น.ส.รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ชี้ว่า ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการจัดขบวนรถไฟฟ้าสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ในประเทศอังกฤษมีสายด่วนเพื่อรับเรื่องร้องเรียนการคุกคามและพร้อมกันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทันทีเมื่อมีการแจ้งเหตุ นอกจากนี้ในอีกหลายประเทศยังได้มีการจัดทำแอพพลิเคชั่นสำหรับการแจ้งเหตุการณ์ถูกคุกคามหรือลวนลามทางเพศด้วย
แม้ว่า ในบ้านเรายังทำไม่ได้ขนาดนั้น แต่วันนี้ภาคประชาสังคมได้เริ่มต้นออกมาเชิญชวนปลุกพลังเงียบให้ลุกขึ้นมาแสดงพลังเผือก #ถึงเวลาเผือก เพื่อปกป้องผู้หญิงที่ถูกคุกคามบนรถสาธารณะ หลังตัวเลขชี้ชัด มีผู้พบเห็นเหตุการณ์ 28% เท่านั้นที่ตัดสินใจช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามและหยุดพฤติกรรมการคุกคามที่เกิดขึ้น...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาคประชาสังคมชูแคมเปญ 'ถึงเวลาเผือก' หลังพบคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะสูงเกิน 50%
ขอบคุณภาพจาก:https://www.facebook.com/pg/SafeCitiesForWomen/photos/?ref=page_internal